ไม่พบผลการค้นหา
ที่ประชุม สนช. หนุนร่างยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี เคาะตั้ง กมธ.วิสามัญนัดเห็นชอบร่างใน 6 ก.ค.นี้ ด้านรองนายกฯ และ รมต.ประจำสำนักนายฯ ย้ำยุทธศาสตร์ชาติผูกมัด 5 ข้อ รัฐบาลต้องไม่แถลงนโยบายขัดต่อยุทธศาสตร์ ชี้จำเป็นต้องมียุทธศาสตร์ เหตุประเทศไทยมีโรคร้ายเปลี่ยนรัฐบาลบ่อย

สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณา ร่างยุทธศาสตร์ชาติ ตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2560 โดยมีนายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี และนายกอบศักดิ์ ภูตระกูล รมต.ประจำสำนักนายกฯ เป็นตัวแทนชี้แจงหลักการ

นายวิษณุ กล่าวว่า เมื่อแผนยุทธศาสตร์ชาติประกาศใช้แล้วจะผูกมัด 5 ประการ

1. รัฐบาลต้องแถลงต่อสภาในการเข้าปฏิบัติหน้าที่ จะต้องคำนึงถึงว่านโยบายที่แถลงต้องไม่ขัดแย้งต่อยุทธศาสตร์ชาติ และไม่ซ้ำซ้อน

2.ผูกพันแผนเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ

3. การจัดทำแผนอื่นใดที่เป็นแผนระดับชาติจะต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 

4 .กฎหมายกำหนดไว้ว่าการจัดทำงบประมาณรายจ่ายประจำปีจากนี้ไปต้องสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ซึ่งจะเห็นว่างบประมาณปี 2562 จัดทำสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติไว้ก่อนแล้ว

5.แผนการปฏิรูปประเทศจะต้องสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ชาติ 

อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการประกาศยุทธศาสตร์ชาติในอนาคต และแผนแม่บท หากแผนปฏิรูปประเทศ 11 ด้าน ขัดแย้งกับแผนยุทธศาสตร์ชาติหรือขัดแย้งกับแผนแม่บท ก็ต้องไปแก้ไขแผนปฏิรูป 11 ด้าน รวมทั้งปฏิรูปตำรวจ และปฏิรูปการศึกษา และจะต้องมีการตั้งคณะกรรมการขึ้นมาจัดทำแผนแม่บทที่สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ ขณะนี้แผนแม่บทยังไม่ได้ยกร่าง ซึ่งจะได้เตรียมการประมาณ 2 เดือน

ขณะที่ นายกอบศักดิ์ กล่าวว่า การที่รัฐบาลจะจัดทำยุทธศาสตร์ชาติเกิดจากปัญหาที่เกิดขึ้นในประเทศไทย ซึ่งอาจจะเป็นโรคร้ายมาเป็นระยะ คือ การเปลี่ยนแปลงรัฐบาลบ่อย ที่มักจะยกเลิกโครงการต่างๆ เมื่อเป็นเช่นนี้ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง โครงการขนาดใหญ่ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ ขณะเดียวกันแผนพัฒนาประเทศในระยะยาวเป็นสิ่งที่จำเป็น และมีอยู่ในหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส สิงคโปร์ หรือจีน เพื่อสร้างความมั่นคง มั่งคั่ง และยั่งยืนให้กับประเทศชาติ ดังนั้นประเทศไทยจึงจำเป็นต้องมีแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ใน 6 ด้าน ได้แก่ 1.ด้านความมั่งคง เช่น การสร้างความสุขให้กับคนในชาติ การสร้างเสถียรภาพในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นพระประมุข รวมทั้งความร่วมมือระหว่างประเทศ 

2.ด้านการสร้างความสามารถในการแข่งขัน เช่น ทางการเกษตร อุตสาหกรรม และการบริการ 

3.การพัฒนาและเสริมสร้างศักยภาพทรัพยากรมนุษย์ โดยการพัฒนาศักยภาพของคนเพื่อสนับสนุนต่อการเจริญเติบโตของประเทศ เสริมสร้างสุขภาวะและความสุขในครัวเรือน การศึกษาและสร้างความเป็นจิตอาสา 

4.การสร้างโอกาส และความเสมอภาคทางสังคม โดยการกระจายอำนาจสู่กลไกการบริหารราชการแผ่นดินระดับท้องถิ่น เสริมสร้างความเข้มแข็งของชุมชน เข้าถึงบริการและสวัสดิการได้อย่างทั่วถึง

5.การสร้างการเติบโตบนคุณภาพชีวิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สร้างความสมดุลระหว่างเศรษฐกิจ สิ่งแวดล้อม และคุณภาพชีวิต

6.การปรับสมดุลและพัฒนาระบบการบริหารจัดการภาครัฐ เพื่อให้เป็นภาครัฐของประชาชนเพื่อประชาชนและประโยชน์ส่วนรวมโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาประยุกต์ใช้

ในช่วงของการอภิปราย สมาชิก สนช. ส่วนใหญ่เห็นด้วยกับร่างยุทธศาสตร์ชาติ แต่ต้องการให้มีการกำหนดแนวทางการดำเนินงานและเป้าหมายให้ชัดเจนมากขึ้น เช่น พล.อ.วรพงษ์ สง่าเนตร ประธานคณะกรรมการศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ ชี้ว่าจุดอ่อนของยุทธศาสตร์ชาติ คือ ระบุวิธีการ และเป้าหมายของยุทธศาตร์ชาติไม่ชัดเจน เนื่องจากกำหนดเป้าหมายใหญ่มาก แต่ตัวชี้วัดไม่ชัดเจน และไม่ลำดับความเร่งด่วนในการดำเนินการ อาจจะทำให้มีปัญหาในทางปฏิบัติ ดังนั้น ตนเห็นว่าควรนำโครงการที่สำคัญของแผนแม่บทในแต่ละด้านมาใส่ไว้ในยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้มีความชัดเจน และเป็นการบังคับให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องดำเนินการตามโครงการดังกล่าว

กอบศักดิ์ รัฐสภา สภา _4907.jpg

ด้านนายสนิท อักษรแก้ว สมาชิก สนช. อภิปรายว่า การกำหนดยุทธศาสตร์จะต้องมีความเชื่อมโยงกันในทุกด้าน เพื่อให้เกิดผลสัมฤทธิ์ตามเป้าหมาย แต่ต้องมีความยืดหยุ่นเพื่อให้เหมาะสมกับสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปตลอดเวลา และแผนยุทธศาสตร์ชาติจะต้องปรับเป้าหมายและวิธีดำเนินการ และรัฐบาลชุดต่อไปจะสามารถดำเนินการได้ตามสถานการณ์บ้านเมืองที่เปลี่ยนแปลงโดยไม่ผิดกฎหมาย

นพ.เฉลิมชัย บุญยะลีพรรณ สมาชิก สนช. เห็นว่า แผนแม่บท 6 ด้านที่จะจัดทำต่อตามยุทธศาสตร์ชาติ ควรจะเขียนแบบหลวมๆไว้สำหรับ 20 ปี แต่ลงรายละเอียดสำหรับ 5 ปีแรก และสามารถแก้ไขได้โดยรัฐสภาทุกๆ 5 ปีต่อไปตาม พ.ร.บ.การจัดทำยุทธศาสตร์ชาติ เพื่อให้การทำงานของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องคล่องตัว แต่มีผลที่เป็นรูปธรรม ขณะที่ พล.ร.อ.ชุมนุม อาจวงษ์ เสนอว่า ควรเพิ่มตัวชี้วัดที่เป็นมาตรฐานสากล เช่น การกำกับดูแลและการใช้งบประมาณที่คุ้มค่า เพื่อให้การทำงานเกิดผลเป็นรูปธรรม ขณะที่นายกล้าณรงค์ จันทิก และนายตวง อันทะไชย เสนอให้รัฐบาลสร้างความรับรู้ให้กับประชาชนในการมีส่วนร่วมกำหนด และเป็นเจ้าของยุทธศาสตร์ชาติร่วมกัน

ยุทธศาสตร์ชาติ สภา รัฐสภา G_5005.jpg

ทั้งนี้ ภายหลังการอภิปรายกว่า 4 ชั่วโมง สนช. มีมติให้ตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาร่างยุทธศาสตร์ชาติ จำนวน 38 คน และเสนอกลับมาให้ที่ประชุมสภานิติบัญญัติเห็นชอบภายใน 22 วัน หรือภายในวันที่ 6 ก.ค.

ซึ่งหลังจากแผนยุทธศาสตร์ชาติมีผลบังคับใช้ จะมีการร่างแผนแม่บทยุทศาสตร์ชาติทั้ง 6 ด้าน โดยคณะกรรมการ และเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน โดยใช้เวลาประมาณ 2 เดือน และทำเป็นแผนปฏิบัติการให้แต่ละกระทรวงดำเนินการ หากไม่ทำตามจะมีความผิดตามรัฐธรรมนูญ ส่วนคณะรัฐมนตรี หากมีมติที่ขัดต่อแผนยุทธศาสตร์ชาติ คณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ (Super Board) และวุฒิสภา จะมีอำนาจในการตรวจสอบและยื่นหนังสือไปยังคณะกรรมการ ป.ป.ช. และศาลรัฐธรรมนูญให้ตรวจสอบการทำงานของคณะรัฐมนตรีด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง