ไม่พบผลการค้นหา
นักปกป้องสิทธิด้านที่ดินจากสกต. เข้าฟังการแถลงคดีเบื้องต้นของตุลาการศาลปกครองเป็นครั้งแรกหลังฟ้องยาวนานถึง 8 ปี ในการยื่นฟ้อง กรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน กรมป่าไม้ และเจ้าหน้าที่รัฐทีเกี่ยวข้อง รวมถึงบริษัทเอกชน ออกโฉนดและครอบครองที่ดินโดยมิชอบในพื้นที่ป่าสงวน ทนายระบุจับตาคำพิพากษาของศาลวันที่ 19 มี.ค. จะเป็นบรรทัดฐานและแนวทางการต่อสู้ของประชาชนที่ยากจนไร้ที่ดินทำกินเพื่อให้ได้มาซึ่งสิทธิในที่ดินทำกิน หลังตุลาการอ่านแถลงคดีเบื้องต้นให้เพิกถอนโฉนดที่ออกโดยมิชอบของหน่วยงานรัฐและบริษัทเอกชนหลายแปลง

เมื่อวันที่ 23 ก.พ. 2564 นักปกป้องสิทธิในที่ดินจากชุมชนสันติพัฒนา สหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ จำนวน 10 คน พร้อมทีมทนายความจากสภาทนายความฯ และองค์กรที่ทำงานกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน เดินทางเข้ารับฟังนัดแถลงพิจารณาคดีที่นักปกป้องสิทธิในที่ดินรวมตัวกันยื่นฟ้องกรมที่ดิน อธิบดีกรมที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนตามในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน กรมป่าไม้ เจ้าพนักงานที่ดินจังหวัดสุราษฎร์ธานีสาขาพระแสง และบริษัทน้ำมันปาล์มแห่งหนึ่ง ต่อศาลปกครอง

โดยการยื่นฟ้องต่อกรมที่ดินขอให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิในที่ดินที่ออกโดยไม่ชอบ และการยื่นฟ้องกรมป่าไม้ให้เร่งดำเนินคดีต่อบริษัทน้ำมันปาล์มที่บุกรุกเข้ามาใช้พื้นที่ป่าไม้และให้ออกจากที่ดินดังกล่าวเพื่อให้ภาครัฐนำทรัพยากรที่ดินดังกล่าวไปจัดสรรอย่างเป็นธรรมและยั่งยืนในรูปแบบของโฉนดชุมชน เพื่อลดความเหลื่อมล้ำทางด้านที่ดินต่อไป โดยศาลได้สรุปข้อเท็จจริงและประเด็นของคดีและให้คู่กรณีแถลงด้วยวาจาหรือการยื่นเอกสารเพิ่มเติม

สรไกร ศรศรี ทนายความจากสภาทนายความฯ ที่ทำคดีให้นักปกป้องสิทธิฯด้านที่ดิน ชุมชนสันติพัฒนา สกต.กล่าวว่า คดีนี้เราฟ้องเมื่อวันที่ 19 มิ.ย. 2556 ซึ่งตัวแทนชาวบ้านจากชุมชนสันติพัฒนา ต.บางสวรรค์ อ.พระแสง จ.สุราษฎร์ธานีรวม 20 คน ได้ร่วมเป็นผู้ฟ้องคดีต่อหน่วยงานรัฐ 4 หน่วยและบริษัทเอกชนพิพาทอีกหนึ่งราย ซึ่งตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านคำแถลงความเห็นเบื้องต้นขอให้มีการเพิกถอนหนังสือรับรองการทำประโยชน์ (น.ส. 3 ก.) จำนวน 7 แปลง จากทั้งหมด 10 แปลงที่นักปกป้องสิทธิในที่ดินได้มีการฟ้องร้อง ส่วนที่ดินที่มีโฉนดอีก 13 แปลง ตุลาการผู้แถลงคดีได้อ่านคำแถลงให้มีการเพิกถอนทั้งหมด แต่ยกเว้นที่ดินบางส่วนที่อยู่นอกพื้นที่เขตป่า และในส่วนการเอาผิดกับหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้อง ตุลาการได้แถลงชี้ไปที่การละเลยของอธิบดีกรมที่ดินเป็นหลัก ส่วนความเห็นของบุคคลอื่นๆ เป็นแนวทางของการตรวจสอบ เพราะเราฟ้องเพิกถอนเรื่องการตรวจสอบที่ดินซึ่งคนสุดท้ายที่มีอำนาจในการเพิกถอนคืออธิบดีกรมที่ดิน ศาลก็เลยไม่วินิจฉัยว่าเจ้าหน้าที่คนอื่นๆ มีส่วนในการกระทำความผิด และยกฟ้องกรมที่ดิน คณะกรรมการสอบสวนตามในมาตรา 61 แห่งประมวลกฎหมายที่ดิน และกรมป่าไม้

คดีนี้ถือว่าเป็นแนวทางหนึ่งที่นักปกป้องสิทธิในที่ดินชุมชนสันติพัฒนา ดำเนินการฟ้องเพิกถอนเอกสารสิทธิของกลุ่มนายทุนที่มีการบุกรุกออกเอกสารสิทธิโดยไม่ชอบในที่ดินซึ่งเป็นที่ดินของกรมป่าไม้โดยใช้เวลาในการต่อสู้ทางด้านคดีมานานถึง 8 ปี และมีน้อยคดีมากที่ศาลจะมีคำพิพากษาให้มีการเพิกถอนโฉนด

“วันนี้เราถือว่าชาวบ้านและตัวแทนทนาย ตลอดจนถึงกลุ่มองค์กรเอกชนอื่นๆที่เข้าร่วมกันผลักดัน ให้มีการเพิกถอนเอกสารสิทธิจนมาถึงวันนี้ได้รับชัยชนะในยกแรก ทั้งนี้กระบวนการการต่อสู้ของชาวบ้านในครั้งนี้สามารถใช้ไปเป็นแนวทางในการต่อสู้ในการเรียกร้องสิทธิในที่ดินทำกินของรัฐ ตลอดจนปกป้องผืนป่าซึ่งเป็นของชาติไว้ได้ด้วย ซึ่งขั้นตอนต่อไปคณะผู้พิพากษาจะนัดอ่านคำพิพากษาคดีนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 19 มี.ค. ที่จะถึงนี้ และหลังศาลอ่านคำพิพากษาเสร็จแล้วหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะต้องดำเนินการตามคำตัดสินของศาลให้เสร็จสิ้นภายในระยะเวลา 120 วัน” สรไกร กล่าว

ด้านศิริวรรณ ว่องเกียรติไพศาล ทนายความสิทธิมนุษยชน กล่าวเพิ่มเติมว่า สภาทนายความได้สนับสนุนในการต่อสู้ร่วมกับชาวบ้านเพื่อเป็นการทวงผืนป่าคืนแก่รัฐ ไม่ใช่ชุมชนจะได้สิทธิปัจเจกบุคคล แต่เรามองว่าชุมชนจะเป็นส่วนหนึ่งที่จะได้ใช้พื้นที่ที่เป็นสาธารณะประโยชน์ร่วมกันกับบุคคลอื่นๆ ซึ่งไม่ควรจะให้เอกชนที่ดำเนินการไม่ชอบถือครองเพียงผู้เดียว การใช้ประโยชน์ทรัพยากรควรใช้ร่วมกัน เราคิดว่าคดีนี้จะเป็นตัวอย่างของการต่อสู้ของคนในชุมชนที่ดูแลเรื่องทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม 8 ปี ไม่นานจนเกินไป ชาวบ้านทุกคนบอกว่า 8 ปี ที่รอคอยก็เหมาะสมและคิดว่าผลของคำพิพากษาน่าจะออกมาเป็นเชิงบวกเหมือนที่ตุลาการท่านได้แถลงวันนี้

ขณะที่บุญฤทธิ์ ภิรมย์ นักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินจากชุมชนสันติพัฒนา ซึ่งหนึ่งในผู้ฟ้องคดีของคดีนี้กล่าวว่า เราขอยืนยันเจตนาว่าการตรวจสอบของเราในครั้งนี้ไม่ใช่การโต้แย้งสิทธิ สิทธิต้องเป็นของรัฐ พวกเราพร้อมที่จะปฏิบัติตามนโยบายของรัฐ แต่ถ้าถามถึงความรู้สึกของพวกเราในวันนี้ก็ดีใจ เพราะ 8 ปีที่พวกเรารอกันมา การต่อสู้ของชุมชนสันติพัฒนายาวนานมา 15 ปีแล้ว และเราเชื่อในความบริสุทธิ์ใจว่าพวกเราไม่ได้แย่งสิทธิ เราเชื่อว่าที่ดินตรงนั้นเป็นทรัพยากรของชาติ และถ้าที่ดินกลับไปเป็นของรัฐแล้วน่าจะเป็นของเกษตรกรด้วย พวกเราสกต.ต้องการที่ดินเพื่อไปทำมาหากินในรูปแบบของสิทธิร่วมคือโฉนดชุมชน

ด้านณัฐาพันธ์ แสงทับ ผู้หญิงนักปกป้องสิทธิมนุษยชนด้านที่ดินจากชุมชนสันติพัฒนา กล่าวเพิ่มเติมว่า ชุมชนเราตั้งอยู่ในพื้นที่สปก. แต่ นส.3 ทั้งหมด 10 แปลงที่ตุลาการมีความเห็นว่าให้เพิกถอน 7 แปลงอยู่ในพื้นที่ทำกินและที่ตั้งของชุมชนสันติพัฒนาทั้งหมด และเมื่อวันที่ 14 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมา กรมบังคับคดี ก็ยังจะมาบังคับคดีพวกเราอีก วันนี้ศาลปกครองมีความเห็นจะให้เพิกถอนภายใน 120 วันหลังจากที่คำตัดสินแล้ว ดังนั้นหากมองโดยภาพรวมทั้งหมด นส.3ที่ออกโดยไม่ชอบ นส. 3 ทั้ง 10 แปลง ที่เอามาฟ้องทั้งแพ่งและอาญาชาวบ้านจำนวน 12 ทำให้ชาวบ้านไม่ได้รับความเป็นธรรมเลยทั้งๆ ที่ชาวบ้านได้พยายามในการต่อสู้คดีทั้งแพ่งและอาญาในศาลจังหวัดสุราษฎร์ธานี ซึ่งในขณะนี้คดีแพ่งชาวบ้านถูกตัดสินให้แพ้คดีและมีการเรียกร้องค่าเสียหายให้ชดเชยให้กับบริษัทเอกชนพิพาทซึ่งเป็นโจทก์ 10 ล้านกว่าบาท และคดีอาญาถึงแม้จะยกฟ้องไปแต่สุดท้ายเสรีภาพอิสรภาพที่เขาจะต้องเดินขึ้นศาลตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา 10 กว่าปี ไม่ทราบว่าหน่วยงานไหนจะรับผิดชอบเขาที่เขาต้องสูญเสียสิ่งเหล่านี้ไป

ขณะที่ปรานม สมวงศ์ ตัวแทนจากองค์กร Protection International (PI) ที่ทำงานด้านการปกป้องนักปกป้องสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยและเข้าร่วมการพิจาณาคดีของศาลในครั้งนี้กล่าวว่า นักปกป้องสิทธิฯจาก สกต.ต่อสู้มา 13 ปีแล้วที่จะให้มีการจัดสรรที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนที่เป็นกรรมสิทธิ์ในการจัดการร่วม ดังนั้นชาวบ้านที่มาฟ้องให้ที่ดินกลับไปเป็นของรัฐเพื่อที่จะให้มีการจัดสรรและกระจายที่ดินในรูปแบบโฉนดชุมชนจึงเป็นการฟ้องเพื่อประโยชน์สาธารณะสำหรับชาวบ้านไร้ที่ดินทำกิน ซึ่งเป็นความเกี่ยวข้องในเรื่องที่ดินกับรายได้ของประชาชนคนไทยทุกคน สมาชิกของสหพันธ์เกษตรกรภาคใต้ ( สกต.)ยังคงต้องเผชิญกับการคุกคามทั้งการสังหารสมาชิกไปแล้ว 4 คน และล่าสุดมีการลอบสังหาร นายดำ อ่อนเมือง สมาชิกชุมชนสันติพัฒนาแต่รอดชีวิตและเป็นคดีอาญาที่กำลังดำเนินการอยู่ คาดว่าผู้ลงมือยิงอาจจะจมีความเกี่ยวพันกับบริษัทปาล์มน้ำมัน

ตัวแทนจากองค์กร Protection International (PI) กล่าวอีกว่า หากเราพิจารณามีตัวเลขจากนักวิชาการที่ระบุอย่างชัดเจนว่า ในประเทศไทยคนรวยที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ กับคนจนที่สุด 10 เปอร์เซ็นต์ มีความแตกต่างทางด้านรายได้มากถึง 25 เท่า แต่ถ้าเราไปดูคนที่รวยที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ข้างบน กับคนที่จนที่สุด 20 เปอร์เซ็นต์ที่อยู่ข้างล่าง ความแตกต่างความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงที่ดินเราแตกต่างกันถึง 326 เท่า ดังนั้นความพยายามของสหพันธ์เกษตรภาคใต้ ( สกต.)ในการที่จะใช้ช่องทางของศาลปกครองให้มีการตรวจสอบ และเพิกถอนการออกเอกสารสิทธิที่ไม่ชอบด้วยกฎหมายเป็นความพยายามที่จะเป็นประโยชน์กับสาธารณะและกับประชาชนจำนวนมากที่ยังเข้าไม่ถึงที่ดิน ทั้งที่เป็นสิทธิในการเข้าถึงที่ดินที่เป็นปัจจัยในการผลิตที่จะทำให้ประชาชนเกิดรายได้และจะลดความเหลื่อมล้ำด้านรายได้และมีผลต่อการใช้สิทธิและเสรีภาพด้านอื่นๆของประชาชน

โดยแนวทางคำแถลงของตุลาการศาลค่อนข้างที่จะเป็นทางบวก แต่ก่อนหน้านี้ตั้งแต่ปีพ.ศ. 2552 สมาชิกของชุมชนสันติพัฒนา ที่เป็นสมาชิกของ สกต. ต้องกลายเป็นจำเลยในคดีแพ่ง และเริ่มตั้งแต่ ก.ย. ปีที่แล้วจนถึงปัจจุบันได้มีความพยายามของสำนักงานบังคับคดี จังหวัดสุราษฎร์ธานีที่จะใช้ที่ดินบางแปลง ที่วันนี้แนวทางตุลาการของคดีปกครองได้บอกว่าอาจจะได้มาโดยมิชอบเข้ามาบังคับคดีกับชาวบ้าน ดังนั้นมันจึงความย้อนแย้งในแนวทางการปฏิบัติงานของเจ้าหน้าที่อยู่