เมื่อวันที่ 5 เม.ย. 2565 ที่ทำเนียบรัฐบาล นิพนธ์ บุญญามณี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะกำกับดูแลกรมที่ดิน กล่าวหลังการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ถึงการเพิกถอนเอกสิทธิ์ถือครองที่ดิน น.ส.3 ก. ของ สมพร จึงรุ่งเรืองกิจ และบุตรอีก 2 คน คือ ชนาพรรณ และ ธนาธร ว่า สมพรมีสิทธิยื่นอุทธรณ์ต่ออธิบดีกรมที่ดิน ภายใน 15 วัน เมื่ออุทธรณ์แล้วไม่เป็นผล ก็มีสิทธิไปฟ้องศาลปกครองได้ เพราะถือว่าการเพิกถอนเป็นคำสั่งทางปกครอง จึงต้องดูว่าศาลปกครองจะพิจารณาอย่างไร
อย่างไรก็ตาม ตนยังไม่ทราบว่า สมพรยื่นเรื่องมาหรือยัง หากไม่อุทธรณ์ก็ถือว่าจบ เพราะการเพิกถอนมีผลอยู่แล้ว และถือว่าไม่มีเอกสารสิทธินั้น โดยที่ดินดังกล่าวจะคืนสภาพเป็นที่ป่า ดังนั้น ให้ศาลปกครองตรวจสอบถือเป็นเรื่องดี เพื่อให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่าย โดยศาลปกครองจะตรวจดูพยานหลักฐานทั้งหมดว่าเป็นไปโดยชอบหรือไม่
ส่วนกรณีที่ สมพร เผยว่า ถือครองที่ดินดังกล่าวมา 30 ปี ไม่มีปัญหา แต่เมื่อลูกชายมาเล่นการเมืองจึงเป็นคดี นิพนธ์ กล่าวว่า ต้องให้ความเป็นธรรมกับสมพร เพราะไปซื้อที่ดินต่อมาจริง แต่เมื่อมีการร้องเรียนก็ต้องตรวจสอบ และได้ความจริงว่ามีหนังสือจากกรมพัฒนาที่ดิน และกรมป่าไม้ มายืนยันว่าพื้นที่นั้นเป็นพื้นที่ป่าถาวร ตามที่ ครม. ประกาศตั้งแต่ปี 2512 กรมที่ดินจึงไม่มีทางเลือกอื่น นอกจากต้องปฏิบัติตามกฎหมาย
สำหรับการดำเนินการดังกล่าว ถูกมองว่าเป็นการกลั่นแกล้งทางการเมืองหรือไม่นั้น นิพนธ์ กล่าวยืนยันว่า ว่าไม่มีแน่นอน ได้กำชับกรมที่ดินแล้วว่าต้องให้ความเป็นธรรม เมื่อไปดูสารบบการจัดซื้อที่ดิน 60 แปลง พบหลายแปลงอาจอยู่ในเขตป่า ทางนั้นก็รับทราบและยินดีรับโอน จึงมีผลว่าสมพร อาจจะรับรู้ตั้งแต่ก่อนโอนแล้ว จึงเซ็นรับไว้
“ผมพยายามดูเรื่องนี้ เพราะเกรงเรื่องที่จะอ้างว่าใช้อำนาจไม่เป็นธรรม จึงกำชับทุกฝ่ายให้ทำด้วยความเป็นธรรมที่สุด แต่เมื่อผมมาดูแผนระวาง เจ้าหน้าที่เดินสำรวจมารายงาน ก็ไม่มีทางอื่น เพราะหมุดดาวเทียม (RTK) ที่ลงไปตรวจ ความคลาดเคลื่อนน้อยมาก เพราะใช้ระบบดาวเทียม แล้วมาลงแผนที่เป๊ะหมด มีอยู่ 1 แปลง จาก 60 แปลง ที่บางส่วนคาบเกี่ยว ถ้าคาบเกี่ยวนอกเขตก็ต้องคืนให้เขาไป เขตที่บางส่วนอยู่ในที่ดินป่าถาวร อีกบางส่วนไม่ติด ก็ไปแก้รูปโฉนด นส. 3 ก. เสีย”
ส่วนประเด็นนี้จะคาบเกี่ยวกับคดีอาญาหรือไม่ นิพนธ์ กล่าวว่า ไม่ใช่อำนาจของกรมที่ดิน ต้องไปดูว่าใครมีหน้าที่ดูแลเขตป่า เช่น กรมป่าไม้ กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม และใครมีอำนาจตามกฎหมาย ก็ต้องไปดูว่าสามารถดำเนินคดีอาญาได้หรือไม่ เพราะคดีอาญาต้องดูที่เจตนา ถ้าไม่มีเจตนา ก็ว่ากันไป ถ้ามีเจตนาก็เข้าสู่คดีอาญา