ไม่พบผลการค้นหา
นักเศรษฐศาสตร์ ไทยพาณิชย์ ปรับลดการขยายตัวการส่งออกปีนี้ ติดลบร้อยละ 1.6 ชี้ตามสถิติภายใน 1 ปีหลังส่งออกชะลอตัวต่อเนื่อง ฉุดอัตราการจ้างงานภาคเกษตร การผลิต และบริการ ทรุด

ตั้งแต่ช่วงครึ่งหลังของปี 2561 ที่สงครามการค้าเริ่มปะทุขึ้น การส่งออกของประเทศไทยเป็นภาคส่วนที่ได้รับผลกระทบอย่างต่อเนื่องและหนักขึ้นเรื่อยๆ องค์กรวิเคราะห์เศรษฐกิจต่างออกมาปรับค่าประมาณการทั้งตัวเลขอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ (จีดีพี) และตัวเลขการส่งออกลงอย่างถ้วนหน้า

ล่าสุด ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (อีไอซี) ปรับประมาณการจีดีพีไทยปี 2562 ลงมาเหลือร้อยละ 3.1 จากเดิมที่ร้อยละ 3.3 พร้อมปรับลดตัวเลขส่งออกปีนี้เป็นติดลบร้อยละ 1.6 จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัวร้อยละ 0.6

ส่งออกทรุด สะเทือนจ้างงาน

ในเชิงมหภาค เศรษฐกิจของประเทศไทยมีการพึ่งพาการส่งออกในสัดส่วนที่สูงถึงร้อยละ 60-70 ของจีดีพี ดังนั้นตัวเลขที่ตกลงจะกระทบกับจีดีพีของประเทศโดยตรง

อย่างไรก็ตาม ในเชิงลึกแล้วผลกระทบจากการส่งออกที่ลดลง ยังมีผลไปถึงการจ้างงานในอุตสาหกรรมหลัก ได้แก่ ภาคการเกษตร ภาคการผลิต และภาคบริการ

SCB ไตรมาส3

'ยรรยง ไทยเจริญ' รองผู้จัดการใหญ่ ผู้บริการสูงสุด อีไอซี เผยให้เห็นถึงความสัมพันธ์ของทั้ง 2 ภาคส่วน โดยอธิบายว่า ข้อมูลในอดีตชี้ว่า การเติบโตของการส่งออกมีความสัมพันธ์กับการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรม โดยใช้เวลาในการส่งผลกระทบประมาณ 1 ปี

ดังนั้น สถานการณ์การส่งออกในปัจจุบันที่มีแนวโน้มปรับตัวลดลงอย่างต่อเนื่องจะนำไปสู่การลดการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า

สำหรับตัวเลขการจ้างงานในปัจจุบันเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้ามีสัดส่วนลดลงในภาคเกษตรกรรมและภาคการผลิต ขณะที่ภาคบริการมีสัดส่วนโดยรวมเพิ่มขึ้น แต่มีการปรับตัวลดลงในปัจจัยย่อยภายใน ดังนี้

  • ภาคเกษตรกรรม สัดส่วนการจ้างงานในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 3.2 ขณะที่สัดส่วนการจ้างงานในไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ติดลบร้อยละ 4
  • ภาคการผลิต สัดส่วนการจ้างงานในปี 2561 อยู่ที่ร้อยละ 2.2 ขณะที่สัดส่วนการจ้างงานในไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ร้อยละ 1.7 โดยหมวดวัสดุก่อสร้างและอาหารและเครื่องดื่มลดลงอย่างมากถึงติดลบร้อยละ 13.7 และ 6.9 ตามลำดับ
  • ภาคการบริการ สัดส่วนการจ้างงานในปี 2561 อยู่ที่ติดลบร้อยละ 0.5 ขณะที่สัดส่วนการจ้างงานในไตรมาส 1/2562 อยู่ที่ร้อยละ 4.1 โดยมีหมวดก่อสร้างที่มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 10.4 จากที่ปีที่แล้วติดลบที่ร้อยละ 1.4 อย่างไรก็ตาม หมวดโรงแรมและร้านอาหารกลับปรับตัวติดลบที่ร้อยละ 0.2 จากเดิมที่ขยายตัวร้อยละ 1.5 ในปีก่อนหน้า

3 สถานการณ์กระทบ 'ส่งออกไทย'

ปัจจัยสำคัญที่สุดที่จะกระทบการส่งออกไทยคือสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯและจีน แม้หลังการประชุมผู้นำ จี20 ที่ผ่านมา โดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะประกาศว่าไม่มีการขึ้นภาษีเพิ่มเติมกับสินค้าของจีน แต่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง ทางไออีซีจึงออกมาวิเคราะห์ความเป็นไปได้สำหรับสถานการณ์ที่จะเกิดขึ้นในช่วงครึ่งหลังของปี 2562 ไว้ 3 กรณี ได้แก่

ทรัมป์-สีจิ้นผิง.jpg

กรณีแรก คือทรัมป์ทำตามที่พูดไว้และไม่มีการขึ้นภาษีเพิ่มเติมกับมูลค่าการนำเข้าสินค้าจากจีนจำนวน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากเป็นเช่นนี้ ตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้ทั้งปีจะอยู่ที่ติดลบร้อยละ 1.6 ขณะที่จีดีพีจะอยู่ที่ร้อยละ 3.1

กรณีที่สอง คือทรัมป์ตัดสินใจเก็บภาษีเพิ่มเติมกับมูลค่าสินค้าการนำเข้าจากจีนจำนวน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ร้อยละ 10 หากเป็นเช่นนั้น ตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้ทั้งปีจะอยู่ที่ติดลบร้อยละ 2.3 ขณะที่จีดีพีจะอยู่ที่ร้อยละ 2.9

กรณีสุดท้าย คือทรัมป์ตัดสินใจเก็บภาษีเพิ่มเติมกับมูลค่าสินค้าการนำเข้าจากจีนจำนวน 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ที่ร้อยละ 25 หากเป็นเช่นนั้น ตัวเลขการส่งออกของไทยในปีนี้ทั้งปีจะอยู่ที่ติดลบร้อยละ 3.1 ขณะที่จีดีพีจะอยู่ที่ร้อยละ 2.7

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :