ไม่พบผลการค้นหา
สำนักงานเศรษฐกิจการคลังประเมินเศรษฐกิจรายภาค คาดปี 2562 เศรษฐกิจภาคกลาง ภาคเหนือ และ ภาคตะวันออก เติบโตได้ดี ชี้ครึ่งปีแรกราคาสินค้าเกษตรตกต่ำยังเป็นอุปสรรคการขยายตัวเศรษฐกิจไทย

นายลวรณ แสงสนิท ผู้อำนวยการสำนักงานสำนักเศรษฐกิจการคลัง หรือ สศค. พร้อมด้วยนายพิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในฐานะรองโฆษกสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง เปิดเผยรายงานภาวะเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนธันวาคมและไตรมาสที่ 4/2561 รวมถึงดัชนีความเชื่อมั่นอนาคตเศรษฐกิจภูมิภาคประจำเดือนมกราคม 2562


สศค.แถลงภาวะเศรฐกิจภูมิภาค

ภาพรวมเศรษฐกิจรายภาค โมเมนตัมเศรษฐกิจไทย

นายพิสิทธิ์ กล่าวว่า เศรษฐกิจในระดับภูมิภาคยังมีการขยายตัวที่ดีในหลายภูมิภาค โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคเหนือ และภาคตะวันออก โดยได้ปัจจัยสนับสนุนนจากการขยายตัวของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน ส่วนการท่องเที่ยวขยายตัวในหลายภูมิภาค เสถียรภาพเศรษฐกิจในทุกภูมิภาคยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี โดยมีรายละเอียดดังนี้

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เศรษฐกิจขยายตัว สะท้อนจากการบริโภคภาคเอกชน จากภาษีมูลค่าเพิ่ม ณ ราคาคงที่ ในเดือนธันวาคม 2561 ที่ขยายตัวร้อยละ 6.9 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาส 4/2561 อยู่ที่ร้อยละ 7.1 ต่อปี ด้านสินค้าคงทน มียอดการจดทะเบียนรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์ใหม่ในเดือนธันวาคม ขยายตัวที่ร้อยละ 18.7 และ 15.6 ต่อปี ส่งผลให้ไตรมาส4/2561 ขยายตัวที่ร้อยละ 13.0 และ 7.6 ตามลำดับ

สำหรับการลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักรเติบโตได้ดี โดยสะท้อนจากยอดจองรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ขยายตัวที่ร้อยละ 10.8 และ 11.6 ต่อปี ในช่วงไตรมาส 4/2561 สำหรับภาคการท่องเที่ยวยังขยายตัวได้ดี โดยทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้จากการท่องเที่ยวขยายตัวร้อยละ 7.7 และ 18.0 ต่อปี ตามลำดับ


สศค.แถลงภาวะเศรฐกิจภูมิภาค
  • พิสิทธิ์ พัวพันธ์ ผู้อำนวยการสำนักนโยบายเศรษฐกิจมหภาค

ภาคเหนือ เศรษฐกิจเติบโตมาจากปัจจัยหลักด้านการลงทุนภาคเอกชนรวมถึงปัจจัยด้านการท่องเที่ยว การบริโภคสินค้าคงทนสะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรถจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ เติบโตในเดือนธันวาคมที่ร้อยละ 12.5 และ 10.6 ต่อปี โดยมาจากการขยายตัวในจังหวัดนครสวรรค์ เพชรบูรณ์ และพะเยา เป็นต้น

ด้านการลงทุนในหมวดเครื่องจักร สะท้อนจากยอดรถปิคอัพและรถบรรทุกจดทะเบียนใหม่ ในไตรมาส 4/2561 ขยายตัวอยู่ที่ร้อยละ 15.7 และ 9.4 ต่อปี เป็นผลมาจากการขยายตัวในหลายจังหวัด อาทิ อุทัยธานี นครสวรรค์ พิจิตร และเพชรบูรณ์ ส่วนการท่องเที่ยวในไตรมาสที่ 4 ขยายตัวร้อยละ 4.1 และ 10.1 ในด้านจำนวนนักท่องเที่ยวและรายได้ที่มาจากการท่องเที่ยว

ภาคตะวันออก เศรษฐกิจขยายตัวจากการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนและภาคอุตสาหกรรม สำหรับอุปทานโดยเฉพาะการผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง สะท้อนจากดัชนีความเชื่อมั่นภาคอุตสาหกรรมภาคตะวันออกในเดือนธันวาคมที่ปรับเพิ่มขึ้นอยู่เหนือระดับ 100 เป็นเดือนที่ 14 ติดต่อกันมาอยู่ที่ 112.5 ตามการปรับตัวเพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมเครื่องปรับอากาศและทำความเย็น อุตสาหกรรมน้ำมันปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมเครื่องสำอาง สอดคล้องกับภาคการท่องเที่ยวที่ยังขยายตัวได้ดี สะท้อนจากรายได้จากการท่องเที่ยวในเดือนธันวาคม 2561 ที่ขยายตัวที่ร้อยละ 6.9 ต่อปี

การบริโภคภาคเอกชนของภาคกลาง ขยายตัวในเกือบทุกจังหวัด โดยเฉพาะจังหวัดสระบุรี ชัยนาท และสิงหืบุรี สอดคล้องกับการบริโภคภาคเอกชนในหมวดสินค้าคงทน สะท้อนจากยอดรถยนต์นั่งและรภจักรยานยนต์จดทะเบียนใหม่ในไตรมาส 4/2561 ขยายตัวร้อยละ 6.9 และ 1.5 ต่อปี ตามลำดับ ตามการขยายตัวในจังหวัดชัยนาทและพระนครศรีอยุธยา

กรุงเทพมหานครและปริมลฑล เศรษฐกิจทรงตัว โดยมีการลงทุนภาคเอกชนและภาคการท่องเที่ยวเข้ามาหนุนบ้าง โดยอุปทานภาคการท่องเที่ยวขยายตัวที่ร้อยละ 4.6 ต่อปี ในเดือนธันวาคม 2561 ตามการขยายตัวของตลาดนักท่องเที่ยวทั้งชาวไทยและชาวต่างประเทศ ในขณะที่การบริโภคภาคเอกชนชะลอตัว 

ภาคตะวันตก อยู่ในบริบทที่คล้ายกับกรุงเทพมหานครและปริมลฑล คือ เศรษฐกิจยังทรงตัว แต่มีการบริโภคภาคเอกชนและการท่องเที่ยวเข้ามาช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ อย่างไรก็ตาม การลงทุนภาคเอกชนในหมวดเครื่องมือเครื่องจักร ชะลอลงจากเดือนก่อน ส่วนเสถียรภาพยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี สะท้อนจากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเบื้องต้น ในเดือนธันวาคม 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.3 ต่อปี และอัตราการว่างงาน ในเดือนพฤศจิกายน 2561 อยู่ที่ร้อยละ 0.6 ของกำลังแรงงานรวมของภูมิภาค

ภาคใต้ ยังทรงตัวเช่นเดียวกับกรุงเทพมหานครและปริมณฑลและภาคตะวันตก แต่มีภาคการท่องเที่ยวและภาคอุตสาหกรรมเป็นปัจจัยช่วยสนับสนุนเศรษฐกิจ เครื่องชี้เศรษฐกิจด้านอุปทานภาคการท่องเที่ยวในเดือนธันวาคม 2561 ขยายตัวในอัตราเร่งที่ร้อยละ 8.7 ต่อปี โดยเป็นการขยายตัวทั้งจำนวนนักท่องเที่ยวชาวไทยและชาวต่างชาติ ที่ร้อยละ 7.7 และ 9.0 ตามลำดับ 

อนาคตเศรษฐกิจภูมิภาค 'กลาง-เหนือ-ตะวันออก' โตเด่น

เมื่อมองว่าในอนาคตเศรษฐกิจในภูมิภาคของไทยจะเป็นอย่างไร นายพิสิทธิ์กล่าวว่า แนวโน้มของเศรษฐกิจจะยังคงขยายตัวได้ดี โดยเฉพาะในภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก โดยภาคเหนือมาจากปัจจัยด้านอุตสาหกรรมที่เพิ่มขึ้นหลังได้รับความมั่นใจเรื่องการเลือกตั้ง ภาคตะวันออกมาจากอานิสงค์ของโครงการระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก หรือ อีอีซี

ขณะที่ ภาคกลาง ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ภาคตะวันตก และภาคใต้ได้รับแรงสนับสนุนจากแนวโน้มที่ดีของภาคอุตสาหกรรมและภาคบริการ ปิดท้ายที่เศรษฐกิจของกรุงเทพมหานครและปริมณฑลที่มีปัจจัยสนับสนุนจากดัชนีแนวโน้มของภาคเกษตรที่ยังอยู่ในเกณฑ์ที่ดี


"แนวโน้มเศรษฐกิจขยายตัวดีทั่วทุกภูมิภาค นำโดยภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคตะวันออก จากปัจจัยสนับสนุนภาคอุตสาหกรรมและการเกษตร" นายพิสิทธิ์ กล่าว

ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ ปัญหาแก้ไม่ตก

เมื่อเจาะไปที่ประเด็นราคาสินค้าเกษตรตกต่ำ นายพิสิทธิ์ กล่าวว่า หากมองในภาพรวม ปัญหายังคงมีอยู่ แต่เมื่อเจาะเป็นรายสินค้านั้นจะพบว่าสินค้าบางประเภท อาทิ ข้าว และ มันสำปะหลัง มีราคาที่ดีและไม่มีปัญหา อย่าง ยางพารา หรือ ปาล์มน้ำมัน โดยคาดการณ์ว่าปัญหาราคาสินค้าเกษตรตกต่ำจะส่งผลต่อรายได้ของเกษตรกรในช่วงครึ่งปีแรกของปี 2562 และจะทุเลาลงในครึ่งปีหลัง โดยย้ำว่ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์กำลังเร่งแก้ปัญหาอยู่

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :