ไม่พบผลการค้นหา
เมื่อเข้าสู่ทศวรรษใหม่ในปี 2020 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประเมินว่า ประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไปรวมกันแล้วจะ 'มากกว่า' ประชากรวัยหนุ่มสาว รัฐบาลทั่วโลกต้องเตรียมตัวรับมือสิ่งที่จะตามมาจากปรากฏการณ์นี้ด้วย

WHO ประกาศเป้าหมายความร่วมมือระหว่างรัฐบาลทั่วโลก โดยระบุว่าทศวรรษใหม่ที่จะถึง ซึ่งกินระยะเวลาตั้งแต่ ค.ศ 2020 ถึง 2030 เป็นยุคแห่งการส่งเสริมการสูงวัยอย่างมีคุณภาพ หรือ Healthy Ageing เนื่องจากประชากรที่มีอายุตั้งแต่ 60 ปีขึ้นไป เมื่อรวมกันแล้วจะสูงกว่าประชากรวัยแรงงาน ทั่วโลกจะต้องร่วมมือกันส่งเสริมแนวทางสาธารณสุขและออกแบบมาตรการที่เหมาะสม บนฐานคิดว่า ถ้าประชากรสูงวัยได้รับการดูแลที่เหมาะสม พวกเขาก็จะมีคุณภาพชีวิตที่ดีได้โดยลดการพึ่งพิงผู้อื่นลง

ประเทศต่างๆ จะต้องคำนึงถึงการออกแบบสิ่งอำนวยความสะดวก หรือระบบสาธารณูปโภคต่างๆ ที่เอื้อต่อการพึ่งพาตนเองของกลุ่มประชากรสูงวัยด้วย

ทั้งนี้ WHO ประเมินว่า ประชากรสูงอายุที่เคยมีอยู่ประมาณ 703 ล้านคนทั่วโลกจะเพิ่มเป็น 1,500 ล้านคนช่วงปี 2020-2050 แต่หลายประเทศทั่วโลกยังคงประสบปัญหา 'อัตราการเกิดลดลงอย่างต่อเนื่อง' ทำให้ประชากรในวัยเด็กเติบโตเข้าสู่วัยทำงานไม่ได้สัดส่วนที่เหมาะสมกับความต้องการแรงงานของแต่ละประเทศ และสิ่งที่จะเกิดขึ้นตามมาก็คือ 'ปัญหาขาดแคลนแรงงาน' นั่นเอง

โดยทั่วไปแล้ว ประชากรวัยทำงานจะมีอายุระหว่าง 25 ถึง 54 ปีโดยประมาณ คนกลุ่มนี้จะต้องรับภาระที่ 'หนักขึ้น' ในการจ่ายภาษี หรือสร้างรายได้ต่างๆ ให้รัฐนำเงินไปอุดหนุนระบบบำนาญหรือสวัสดิการด้านสุขภาพแก่ประชากรสูงวัยที่เพิ่มจำนวนขึ้น โดยกลไกนี้ถูกคำนวณโดยสิ่งที่เรียกว่า 'อัตราส่วนการเกื้อหนุนผู้สูงอายุ' ซึ่งในแต่ละประเทศจะมีอัตราส่วนที่แตกต่างกันไป

ผู้สูงอายุ-โดดเดี่ยว-เหงา

ตัวอย่างเช่น อินเดีย มีประชากรมากติดอันดับต้นๆ ของโลก จะมีประชากรวัยทำงานประมาณ 10 คนที่ช่วยเหลือดูแลประชากรสูงวัย 1 คน ส่วนกรณีของประเทศไทย สำนักงานสถิติแห่งชาติประเมินไว้ว่าในปี 2020 นี้ ผู้สูงวัย 1 คนจะมีประชากรวัยทำงานช่วยเหลือดูแลประมาณ 3.8 คนเท่านั้น ลดลงจากเมื่อประมาณ 40 ปีที่แล้วซึ่งผู้สูงวัย 1 คน จะมีประชากรวัยทำงานช่วยเหลือดูแลเฉลี่ยประมาณ 10.3 คน

ปัจจุบัน ประเทศที่มีสัดส่วนประชากรสูงวัยมากที่สุด คือ ญี่ปุ่น ซึ่งไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ เพราะปี 2019 ที่ผ่านมา ญี่ปุ่นก็เพิ่งเผชิญกับภาวะอัตราการเกิดต่ำเป็นประวัติการณ์ เพราะเด็กเกิดใหม่ทั่วประเทศมีจำนวนไม่ถึง 1 ล้านคน ทำให้รัฐบาลญี่ปุ่นพยายามสนับสนุนการพัฒนาเทคโนโลยีด้านหุ่นยนต์และอุปกรณ์ดูแลสุขภาพส่วนบุคคลอย่างต่อเนื่อง เพื่อรองรับประชากรสูงวัยที่อาจจะไม่ได้มีบุตรหลานคอยดูแล

สื่อด้านธุรกิจที่รายงานด้านความเปลี่ยนแปลงทางสังคม ระบุว่า การดูแลผู้สูงอายุที่มีประสิทธิภาพในระยะยาวต้องคำนึงถึงระบบขนส่งสาธารณะ การสร้างอาคารที่อยู่อาศัยที่ไม่เป็นอันตรายต่อผู้สูงอายุ เช่น การออกแบบทางลาดสำหรับผู้ใช้วีลแชร์ พื้นกันลื่น หรือฟังก์ชั่นการทำงานของระบบอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้งานง่าย ไม่ซับซ้อน เหมาะกับผู้สูงอายุที่อาจจะมีปัญหาเรื่องสายตาหรือการได้ยิน

EDC บัตรสวัสดิการ บัตรผู้สูงอายุ รถเมล์

ส่วนการเก็บข้อมูลผู้สูงอายุจะต้องเชื่อมโยงถึงกันผ่านระบบออนไลน์ เพื่อให้หน่วยงานที่ดูแลผู้สูงอายุเข้าถึงข้อมูลได้อย่างสะดวก ทันต่อเหตุการณ์ แต่แนวทางปฏิบัติต่อผู้สูงอายุในแต่ละประเทศไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน ไม่มีสูตรเดียวตายตัว เพราะผู้คนในแต่ละประเทศ แต่ละสังคม มีวิถีชีวิตและวิธีคิดที่แตกต่างกันอยู่แล้ว ในบางพื้นที่ ผู้สูงอายุอาจจะพอใจที่ได้รับการดูแลจากคนรุ่นใหม่ แต่ในบางสังคม ผู้สูงอายุอาจรู้สึกว่าพวกเขาอยากได้รับการยอมรับ และยังอยากทำประโยชน์ให้สังคมอยู่ การปฏิบัติต่อผู้สูงอายุจึงต้องคำนึงถึงการเคารพในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ด้วย 

สิ่งสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือการจัดสรรงบประมาณเพื่อการดูแลผู้สูงอายุ จะต้องวางแผนกันระยะยาว แต่ขณะเดียวกันก็ต้องพร้อมปรับเปลี่ยนตามความเหมาะสม เพื่อให้สอดคล้องกับบริบททางสังคมที่เปลี่ยนแปลงไปด้วย ถ้าหากว่านวัตกรรมและเทคโนโลยีสามารถนำมาปรับใช้กับระบบช่วยเหลือดูแลผู้สูงอายุได้ก็ควรนำมาใช้ให้เกิดประโยชน์ 

ขณะเดียวกัน สังคมที่ผู้สูงอายุเป็นใหญ่ ก็อาจจะต้องฟังเสียงประชากรวัยหนุ่มสาวด้วย เพราะคนกลุ่มนี้ก็ต้องมีส่วนร่วมในการทำงานเพื่อสนับสนุนระบบสวัสดิการหรือการดำเนินงานต่างๆ ในภาครัฐเพื่อรองรับผู้สูงวัย และประชากรในวัยหนุ่มสาวก็ต้องกลายเป็นผู้สูงวัยในวันหนึ่งช่นกัน พวกเขาจึงควรมีสิทธิที่จะได้ร่วมออกแบบสังคมที่จะเหมาะสมกับการใช้ชีวิตของพวกเขาในอนาคตข้างหน้าด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: