ไม่พบผลการค้นหา
ปลัดกระทรวงดีอี ชี้ ต้องสร้างภูมิคุ้มกัน-การรับภาคประชาชน เผยจากสถิติผู้สูงอายุตกเป็นเหยื่อเฟกนิวส์มากกว่าวัยรุ่น บอกไม่ออกกฎหมายเพิ่ม เดินหน้าศูนย์ข่าวปลอม แจงใช้อำนาจ พ.ร.บ. คอมได้ต่อเมื่อมีผู้เสียหาย

งานเสวนาทางวิชาการ ข่าวเท็จบนโลกอินเทอร์เน็ต 4.0 ในมิติทางกฎหมาย จัดโดยคณะนิติศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย มี นางสาวอัจฉรินทร์ พัฒนพันธ์ชัย ปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอี) กล่าวปาฐกถา พร้อมด้วยเสวนาวิชาการโดย นายพริษฐ์ วัชรสินธุ อดีตผู้สมัคร ส.ส.แบบแบ่งเขตกรุงเทพฯ พรรคประชาธิปัตย์ และคณาจารย์ประจำคณะนิติศาสตร์ ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็น

โดยนางสาวอัจฉรินทร์ กล่าวว่า ผู้สูงอายุเป็นผู้ที่ใช้สื่อโซเชียลมีเดียในการส่งต่อโดยไม่ผ่านกระบวนการคัดกรองมากกว่าในช่วงอายุวัยรุ่น ประเทศไทยเป็นสังคมดิจิทัล ซึ่งกระทรวงมีภารกิจนำดิจิทัลมาพัฒนาเศรษฐกิจ และสังคมของประเทศ และในปัจจุบันพบว่ามีการใช้ระบบอินเทอร์เน็ตบนมือถือกว่า 100 -110 ล้านคน เฟซบุ๊กมากที่สุดกว่า 54 ล้านคน และแอปพลิเคชัน LINE 45-48 ล้านคน เป็นอันดับ 2 ของโลก

ซึ่งการที่ประเทศเป็นสังคมดิจิทัลมีทั้งข้อดีและข้อเสีย การรับข้อมูลโดยไม่ต้องผ่านการคัดกรองผ่านการแชร์ข้อมูลส่งต่อของคนทั่วไป พร้อมกับยืนยันว่าการล่มของระบบชิมช้อปใช้ ที่มีการแถลงการจับกุมที่ผ่านมาไม่เกี่ยวข้องกับปัญหาทางการเมือง เป็นเรื่องของการเข้ามาก่อกวนระบบเพื่อฉ้อโกง สร้างหน้าเฟจปลอม ที่ตำรวจติดตามมาก่อนหน้านี้และนำไปสู่การจับกุม

การแก้ไขปัญหาข่าวปลอมสามารถจัดการได้ 2 รูปแบบ คือ การตรากฎหมายมาควบคุมและจัดการกับข่าวปลอม โดยให้อำนาจรัฐบล็อกข้อความหรือลบข้อความอันเป็นเท็จ เช่น ในประเทศฝรั่งเศส และสิงคโปร์ และกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคมของไทย ไม่ออกกฎหมายเพิ่มจากที่มีอยู่ โดยอาศัยตามบริบทของสังคมไทย และประเทศไต้หวัน ใช้วิธีการเก็บข้อมูล โดยมีคนรวบรวมข่าวของแต่ละกระทรวง หากพบข้อความไม่ชอบมาพากล จะส่งให้ต้นสังกัดชี้แจงภายใน 3 ชั่วโมง ซึ่งไทยอิงการใช้วิธีการของไต้หวันมาปรับใช้ และแอนตี้เฟกนิวส์ ที่รัฐบาลจัดทำขึ้น ก็เพื่อเป็นการคัดกรองข่าวสาร ผ่านการร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน ที่เน้นภาคประชาสังคมเป็นหลัก และเป็นอิสระ ยืนยันไม่ได้มีการมุ่งเน้นการให้ร้ายทางการเมือง และไม่ได้เป็นการลิดรอนสิทธิแต่อย่างไร พร้อมเร่งสร้างภูมิต้านทาน ภูมิคุ้มกันให้ประชาชน และ พ.รบ.คอมฯ จะสามารถดำเนินคดีได้ต่อเมื่อกระทำผิดทางกฎหมายและมีผู้เสียหาย โดยดำเนินการผ่านอำนาจคำสั่งศาล ไม่ใช่อำนาจของเจ้าหน้าที่ 

โดยกลุ่มของข่าวปลอมถูกแบ่งเป็น 4 กลุ่ม เช่น ด้านชีวิตและทรัพย์สินต่อประชาชนโดยตรง ข่าวสร้างความแตกแยกในสังคม สร้างความเข้าใจผิดต่อสังคม เช่น กลุ่มเครื่องสำอางและสุขภาพ ข่าวบ่อนทำลายภาพลักษณ์ของประเทศ พร้อมกับเปิดช่องทางการรับข้อมูลข่าวปลอมทางช่องทางต่างๆ ส่งมายังศูนย์แอนตี้เฟกนิวส์