ไม่พบผลการค้นหา
หญิงสูงวัยในออสเตรเลียมักประสบปัญหาทางการเงินหลังจากการหย่าร้าง จนทำให้ไม่สามารถซื้อบ้านเป็นของตัวเองได้ เสี่ยงต่อการกลายเป็นคนไร้บ้านเมื่อชราภาพ และขาดรายได้สำหรับจ่ายค่าเช่าที่พัก ส่งผลให้เกิดกระแสการสร้างบ้านขนาดกะทัดรัดราคาย่อมเยาว์ ซึ่งตอบสนองความรู้สึกเป็นเจ้าของ ความมั่นคง และความปลอดภัยในชีวิตอีกครั้ง

จากการทำสำมะโนประชากรของออสเตรเลียในปี 2016 มีการประมาณการณ์ว่า ผู้หญิงอายุมากกว่า 50 ปีราว 6,866 คน เป็นคนไร้บ้าน ซึ่งตัวเลขเพิ่มสูงขึ้นจากปี 2011 ถึง 31 เปอร์เซ็นต์

คิม คอนนอลลี (Kim Connolly) พูดคุยกับผู้หญิงวัยเดียวกับเธอในชุมชนย่านคอฟส์ฮาร์เบอร์ (Coffs Harbour) ที่เธออาศัยอยู่ และพบหญิงสูงวัยหลายคนมีปัญหาทางการเงิน รู้สึกไม่มั่นคง กังวลว่าตนเองจะกลายเป็นคนไร้บ้านในอนาคต เธอจึงเกิดไอเดียในการสร้างชุมชนบ้านจิ๋ว หมู่บ้านของบ้านขนาดกะทัดรัดสำหรับหญิงสูงวัยขึ้นในชื่อ ไทนีฮาบิแทตโฮมส์ (Tiny Habitat Homes)

"ครั้งแล้วครั้งเล่า มีผู้หญิงหลายคนพากันมาหาฉันแล้วบอกว่า 'ฉันจะต้องกลายเป็นคนไร้บ้านแน่เลย ภายในอีกไม่กี่เดือน ไม่ก็อีกไม่กี่ปีนี่แหละ'" คอนนอลลี กล่าว


ต้นเหตุที่หญิงสูงวัยเสี่ยงไร้บ้าน

ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ จำนวนหญิงสูงวัยที่เช่าบ้านจากภาคเอกชนก็สูงขึ้นเพราะราคาบ้านที่เกินจะซื้อไหว ในปี 2006 มีหญิงสูงวัยเพียง 91,549 คนเท่านั้นที่เช่าบ้านจากเอกชน แต่ข้อมูลสำมะโนประชากรในปี 2011 ชี้ว่าตัวเลขดังกล่าวสูงถึง 180,617 สูงขึ้นเกือบเท่าตัวจากปี 2006

ต้นเหตุของปัญหาและความกังวลของหญิงสูงวัยเหล่านี้ มีคำตอบในผลการศึกษาของ ดร. อีวอน ฮาร์ตแมน (Yvonne Hartman) และ ดร. แซนดี ดารับ (Sandy Darab) จากมหาวิทยาลัยเซาเธิร์นครอส (Southern Cross University) ที่ศึกษาเกี่ยวกับความรุนแรงของสถานการณ์ของหญิงสูงวัยไร้บ้านและครอบครัวในชนบทของออสเตรเลีย

งานวิจัยของพวกเธอซึ่งตีพิมพ์ในปี 2017 ศึกษาโดยการสัมภาษณ์อาสาสมัครหญิง 47 รายซึ่งอาศัยอยู่ในแถบนอร์เธิร์นริเวอร์ส (Northern Rivers) รัฐนิวเซาท์เวลส์ (New South Wales) พบว่าอาสาสมัครส่วนใหญ่ผ่านการแต่งงานและมีลูก ทว่าลงเอยด้วยการอยู่คนเดียวเพราะการหย่าร้าง ซึ่งทำให้พวกเธอสูญเสียบ้านของครอบครัวไปด้วย

“พวกเขาหลายคนมีลูก และรับหน้าที่ดูแลลูก ซึ่งเป็นการจำกัดโอกาสในการทำงานของพวกเธอ” ดร.ฮาร์ตแมน กล่าว

อาสาสมัครในการศึกษาครั้งนี้หลายคนจึงอยู่ด้วยการพึ่งเงินช่วยเหลือพ่อแม่เลี้ยงเดี่ยวของรัฐบาลเป็นหลัก ซึ่ง ดร. ฮาร์ตแมน มองว่าเป็นสาเหตุทำให้พวกเขายากจน และเป็นการจำกัดทางเลือกในการเช่าที่พักอาศัย

การศึกษานี้พบว่าหญิงสูงวัยทุกคนให้คำตอบเดียวกันว่าสิ่งสำคัญที่พวกเธอต้องการจากที่พักอาศัยในวัยเท่านี้ คือความมั่นคง ความปลอดภัย และความเป็นเจ้าของ


ราคาที่พักเกินเอื้อม ปัญหาใหญ่กับทางออกขนาดจิ๋ว

คอนนอลลี พยายามก่อร่างธุรกิจบ้านจิ๋วเพื่อแก้ปัญหาด้วยไอเดียในการสร้างหมู่บ้านบ้านจิ๋วเป็นที่พักอาศัยและชุมชนสำหรับหญิงสูงวัย พร้อมกล่าวว่ากว่า 80 เปอร์เซ็นต์ของคนที่ติดต่อมาสอบถามเธอนั้น เป็นสตรีอายุ 50 ปีขึ้นไปที่มองหาบ้านในราคาที่เอื้อมถึงได้

“เรื่องนี้ทำให้ฉันโกรธมากจริงๆ ที่ผู้หญิงต่างต้องทำงานตลอดทั้งชีวิต ลางานเพื่อลูกๆ ลางานเพื่อพ่อแม่แก่เฒ่าของพวกเขา แต่แล้วก็มักจะเกิดการหย่าร้างขึ้น หรือแม้จะเป็นหญิงโสดที่ไม่ได้เจอเรื่องพวกนี้ก็ตาม พวกเธอจบลงที่การไม่มีโอกาสที่จะมีที่พักปลอดภัยให้ตัวเองอยู่ในช่วงชีวิตที่เหลือ” คอนนอลลี กล่าว

Untitled-1.jpg

คิม คอนนอลลี ผู้ริเริ่มโครงการไทนีฮาบิแทตโอมส์ (Tiny Habitat Homes) / ภาพจาก Tiny Habitat Homes

ขณะนี้ คอนนอลลีกำลังอยู่ระหว่างการก่อร่างองค์กรไม่แสวงกำไรเพื่อสนับสนุนให้เกิดหมู่บ้านบ้านจิ๋วตามแนวคิดของเธอ และอยู่ในกระบวนการยื่นขออนุญาตพัฒนาที่พักอาศัยกับทางรัฐ “ตามความคิดของฉัน หมู่บ้านนี้จะมีบ้าน 15 หลัง โดยมีบ้าน 3 หลังให้เช่า และอีก 12 หลังที่เหลือ จะมีเจ้าเป็นคู่รัก 2 หลัง และอีก 10 หลังมีหญิงสูงวัยเป็นเจ้าของทั้งหมด”


กระแสบ้านจิ๋ว กับปัญหาบ้านที่ใหญ่ และแพงเกินไปในออสเตรเลีย

ปัญหาการขาดที่พักอาศัยถาวรเพราะราคาบ้านเกินกำลังนั้น ไม่ได้เป็นปัญหาต่อหญิงสูงวัยเท่านั้น ในปี 2016 ค่าเฉลี่ยมัธยฐานของราคาบ้านในซิดนีย์ สูงถึง 1,123,991 ดอลลาร์ออสเตรเลีย (ประมาณ 25 ล้านบาท) ขณะที่เมืองซึ่งราคาบ้านแพงลงมาเป็นอันดับสองคือเมลเบิร์นอยู่ที่ 795,447 ดอลลาร์ฯ (ราว 17.9 ล้านบาท) โดยส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะขนาดบ้านสร้างใหม่ของออสเตรเลีย ซึ่งมีพื้นที่ค่อนข้างกว้าง เฉลี่ยอยู่ที่ 175 ตารางเมตรต่อหลัง บีบให้ชาวออสเตรเลียหลายคนต้องเลือกเช่าที่พักอาศัยแทน และเสี่ยงต่อการกลายเป็นคนไร้บ้านในบั้นปลายชีวิตเมื่อรายได้ไม่เพียงพอจ่ายค่าเช่า

ขณะที่บ้านจิ๋วขนาดตั้งแต่ 14 ถึง 46 ตารางเมตร สามารถมีราคาอยู่ที่ 30,000 ถึง 100,000 ดอลลาร์ฯ ขึ้นไป (ประมาณเกือบ 7 แสนถึง 2 ล้านบาท) ลักษณะโดยส่วนใหญ่มักมีแผงพลังงานแสงอาทิตย์ และมีล้อเพื่อให้เคลื่อนที่ได้ง่าย บ้านจิ๋วจึงเป็นประเด็นที่ได้รับความสนใจในออสเตรเลียในช่วงหลายปีมานี้ ในฐานะทางออกของปัญหาการกลายเป็นคนไร้บ้านในประเทศออสเตรเลีย ซึ่งได้รับความสนใจเป็นพิเศษโดยผู้สูงวัย ทั้งในผู้ที่มีปัญหาด้านการเงินที่เสี่ยงต่อการกลายเป็นคนไร้บ้าน และผู้ที่อยากชราอย่างมีศักดิ์ศรี อาศัยอยู่ใกล้กับบ้านของลูกหลานโดยมีพื้นที่ส่วนตัวและพึ่งพาตัวเองได้

Untitled-2.jpg

ตัวอย่างภายในบ้านจิ๋วของคิม คอนนอลลี / ภาพจาก Tiny Habitat Homes

โมเดลโครงการชุมชนบ้านจิ๋วเริ่มแพร่หลายและทั้งโดยองค์กรไม่แสวงกำไรและธุรกิจที่พักอาศัยทั่วไปในออสเตรเลียในช่วง 3-4 ปีมานี้ โดยในปี 2016 มูลนิธิบ้านจิ๋ว ไทนีโฮมส์ฟาวเดชัน (Tiny Homes Foundatoin: THF) นับเป็นโครงการบ้านจิ๋วแห่งแรกที่ได้รับการรับรองการพัฒนาที่พักอาศัย ในโครงการทดลองของมูลนิธินั้นประกอบด้วยบ้านจิ๋วขนาด 14.4 ตารางเมตร 4 หลัง มีไฟฟ้า ระบบน้ำและการระบายน้ำ พร้อมครัวและห้องน้ำในตัว โดยมีพื้นที่ส่วนกลางของชุมชน 2 ห้อง เป็นที่ซักผ้ารวมและห้องนั่งเล่น ตั้งอยู่ในย่านกอสฟอร์ด (Gosford) รัฐนิวเซาท์เวลส์ มีราคาอยู่ที่ประมาณ 30,000 ดอลลาร์ฯ ได้ (เกือบเจ็ดแสนบาท)

ในอีกด้านหนึ่ง ข้อมูลจากคอร์โลจิก (CoreLogic) บริษัทข้อมูลด้านอสังหาริมทรัพย์จากออสเตรเลีย และนิวซีแลนด์ ชี้ว่า ราคาบ้านเฉลี่ยในซิดนีย์ตกลงมาอยู่ที่ 808,494 ดอลลาร์ หรือราว 18 ล้านบาท ในปี 2018 เนื่องจากเหลือบ้านไร้เจ้าของมากมายในตลาด ตกลงมา 8.9 เปอร์เซ็นต์จากปีก่อน เป็นสัดส่วนราคาที่ตกลงต่ำสุดนับตั้งแต่มกราคมปี 1983 คาเมรอน คุชเชอร์ (Cameron Kusher) นักวิเคราะห์อาวุโส ของคอร์โลจิกมองว่า ราคาอสังหาริมทรัพย์ในออสเตรเลียมีโอกาสตกลงไปอีก เนื่องจากความเชื่อของผู้ซื้อว่าราคาบ้านกำลังลง และจะรอจนกว่าราคาจะต่ำกว่านี้

อ้างอิงจาก:

On Being
198Article
0Video
0Blog