ไม่พบผลการค้นหา
6 เดือนแรกของปี ภาคการท่องเที่ยวไทยที่เคยเป็นตัวประคองเศรษฐกิจไทยมาหลายปี ตอนนี้กลับอ่อนแรงอย่างยิ่ง ทั้งจากปมเรื่องความปลอดภัยนักท่องเที่ยวหลังเรือล่มภูเก็ตปีก่อน เศรษฐกิจโลกชะลอตัว ถึงวันนี้ภาคการท่องเที่ยวไทยไม่ได้หากินง่ายสบายๆ อย่างที่ผ่านมาอีกแล้ว

ต้นเดือนที่ผ่านมา เป็นเวลาครบรอบหนึ่งปีของโศกนาฏกรรมเรือฟีนิกซ์อับปางที่น่านน้ำภูเก็ตเมื่อวันที่ 5 ก.ค. 2561 แม้ร่างของนักท่องเที่ยวและซากเรือจะได้รับการกู้ขึ้นมาแล้ว แต่ความมั่นใจเรื่องความปลอดภัยด้านท่องเที่ยวของไทย กลับกู้คืนตามมาได้อย่างล่าช้า สะท้อนผ่านตัวเลขในช่วง 6 เดือนแรก (ม.ค.-มิ.ย. 2562) ที่มีนักท่องเที่ยวเดินทางเข้า 19.76 ล้านคน เติบโตร้อยละ 1.48 สร้างรายได้ 1.02 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้นร้อยละ 0.94 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อน 

แม้ว่าจะไม่ถึงกับติดลบ แต่น่าผิดหวังสำหรับฤดูกาลที่ยังอยู่ในช่วงไฮซีซัน เพราะการเติบโตเพียงร้อยละ 1.48

หากเจาะลึกถึงเบื้องหลังตัวเลขการประคองสถานการณ์ปริ่มน้ำไว้ได้ เป็นเพราะรัฐอัดฉีดยาสารพัดนึกที่มักจะนำมาใช้เมื่อมีวิกฤต อย่างมาตรการยกเว้นค่าธรรมเนียมการตรวจลงตราหน้าด่านตรวจคนเข้าเมือง (Visa on arrival) ซึ่งไปถูกใจอย่างยิ่งกับตลาดอินเดียที่เข้ามาช่วยต่อลมหายใจในหลายพื้นที่ อาทิ ภูเก็ต ที่มีอัตราเติบโตร้อยละ 80-100 ขณะที่ตัวเลขรวมของตลาดอินเดียขาเข้ามายังไทยตลอดเดือน มิ.ย.เพิ่มขึ้นกว่า 1.8 แสนคน เพิ่มขึ้นร้อยละ 22.2

ดังนั้น เมื่อมีการปรับลดประมาณการเติบโตลงจากร้อยละ 10 เหลือร้อยละ 9.5 เหลือ 3.38 ล้านล้านบาท จึงไม่ใช่เรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะปัจจัยลบต่างๆ ทั้งภายในและภายนอกยังกระหน่ำซัด

ไม่เพียงแต่เรื่องความปลอดภัยที่ทำให้ชาวต่างชาติเข็ดขยาด จนกระทั่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการท่องเที่ยวหน้าใหม่อย่าง 'พิพัฒน์ รัชกิจประการ' ประกาศเป็นนโยบายเร่งด่วนอันดับแรกที่ต้องเข้ามาสะสาง แต่ต้องยอมรับว่ามีปัจจัยภายนอกอย่างเรื่องสงครามการค้าระหว่างจีนและสหรัฐฯ ที่ขย่มความเชื่อมั่นด้านการใช้จ่าย

หมอชิต-รถตู้-รถโดยสาร

ผู้ประกอบการเอาเปรียบนักท่องเที่ยวต้องเร่งสะสาง

เป็นคลื่นใหญ่ถาโถมรอพิสูจน์ฝีมือรัฐบาลจากการเลือกตั้งครั้งแรกในรอบ 5 ปี ซึ่งอาจเรียกว่าไม่ง่าย เพราะแม้ว่าที่ผ่านมารัฐบาลภายใต้การยึดกุมอำนาจของทหาร จะอวดจุดแข็งเรื่องการใช้อำนาจกฎหมายเบ็ดเสร็จจัดการกับปัญหาต่างๆ แต่ดูเหมือนเรื่องการกวาดล้างมาเฟียในท้องถิ่น และการดูแลประสิทธิภาพการคมนาคมก็ยังเสมือนพายเรือในอ่าง และยังมีคดีปูดท้าทายวันแรกๆ ของการเข้ารับตำแหน่งของนายกรัฐมนตรีประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อนักท่องเที่ยวชาวออสเตรเลียฟ้องดำเนินคดีกับรถตู้ขูดรีดค่าบริการรับส่งจากสนามบินในภูเก็ตถึง 3,000 บาท เรียกว่าแพงเสียยิ่งกว่าค่าตั๋วเครื่องบินในประเทศ

สบช่องให้พรรคภูมิใจไทยที่ถ่างขาคุมสองเก้าอี้ในกระทรวงเพื่อนบ้านย่านราชดำเนินอย่างกระทรวงท่องเที่ยวและกีฬา รวมกระทรวงคมนาคม เร่งผลักดันนโยบายเร่งด่วนอย่างการทำให้ธุรกิจแบ่งปันการขนส่งอย่าง เช่น แกร็บ ให้เป็นบริการถูกต้องตามกฎหมาย โดยไม่ต้องมานั่งเกรงอกเกรงใจว่าจะเป็นสายล่อฟ้าเหมือนรัฐบาลชุดก่อน

อย่างไรก็ตาม นั่นถือเป็นการแก้ไขที่ต้องหวังผลในระยะยาว แต่สิ่งที่ผู้ประกอบการยังต้องปาดเหงื่อจับตามอง คือสถานการณ์ช่วงโลว์ซีซัน ที่ปีนี้มีโอกาสจะเห็นจุดต่ำสุดกว่าทุกปี เพราะตลาดจีนที่ใหญ่ขนาด 1 ใน 4 เมื่อเทียบกับนักท่องเที่ยวทั้งหมด ยังไม่เห็นวี่แววจะฟื้นกลับมาในระยะอันใกล้ ขณะที่อินเดียที่เริ่มมาแรงนั้น โดยจำนวนแล้วยังไม่อาจเทียบกับนักท่องเที่ยวแดนมังกร ที่เป็นลมหายใจหล่อเลี้ยงท่องเที่ยวมายาวนาน

สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) รายงานตัวเลขภูเก็ตไว้อย่างน่าสนใจว่า อัตราเข้าพักเฉลี่ยยังลดลงกว่าร้อยละ 12 และหากดูตัวเลขสะสมตั้งแต่ต้นปีลดลงกว่าร้อยละ 9 เหลือร้อยละ 74 และหากเจาะลึกเฉพาะไตรมาส 2 พบว่าอัตราเข้าพักลดลงกว่าร้อยละ 15 เหลือราวร้อยละ 65 ซึ่งถือเป็นตัวเลขลดลงกว่าทุกปี 

ภูเก็ต-ท่องเที่ยว

แม้ว่าจะเข้าสู่ช่วงโลว์ซีซันแล้ว แต่ที่ผ่านมายังพอได้แรงบวกสนับสนุนในเดือนเมษายน ทว่าปีนี้สัญญาณความเงียบเหงามาเร็วเกินคาด แม้ว่าจะแง้มดูยอดจองล่วงหน้าสำหรับไตรมาส 3 ยังเห็นตัวเลขในแนวดิ่ง ไม่ต่ำกว่าร้อยละ 15 เพราะตลาดจีนในพื้นที่ลดลงไปกว่าร้อยละ 70

ตัวเลขดังกล่าวสอดคล้องกับสถิติ 5 เดือนแรกที่พบว่าชาวจีนเข้ามากว่า 4.8 ล้านคน แต่ลดลงไปร้อยละ 4.31 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน และการชะลอตัวนั้น ไม่ได้เห็นเฉพาะที่หน้าด่านด้านการท่องเที่ยวภาคใต้อย่างภูเก็ตเท่านั้น แต่กระบี่ และสมุยก็รับผลกระทบไปเช่นเดียวกัน ทว่าสถานการณ์ดังกล่าวยังสวนทางกับจำนวนห้องพักที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจากโรงแรมที่อยู่ระหว่างก่อสร้างและเปิดให้บริการในปีนี้เป็นต้นไปอีกกว่า 7,000 ห้อง

แหล่งท่องเที่ยวระดับแม่เหล็กยังกระทบในระดับนี้ ไม่ต้องพูดถึงแหล่งท่องเที่ยวรองอื่นๆ ที่ยังต้องปั้นจุดขาย จะต้องเหนื่อยกันระดับไหน

TK-ชุดเวียดนาม-อ๋าวหย่าย-สาวเวียดนาม-เซลฟี่-พิพิธภัณฑ์บ้านดงโฮจิมินห์

บาทแข็งทุบซ้ำเที่ยวไทยหดตัว-โลว์คอสต์เวียดนามแย่งลูกค้าดันยอดท่องเที่ยวโตพรวด

น่าเสียดายที่แม้การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) จะรู้ถึงความเสี่ยงในการพึ่งพาตลาดบางแห่งมากเกินไป และพยายามปรับตัวหันไปให้น้ำหนักกับตลาดอื่นๆ เช่น อินเดีย และอาเซียน จนเริ่มเห็นผลการเติบโตในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา แต่ด้วยปมค่าเงินบาทของไทยที่แข็งค่าที่สุด มากระหน่ำซ้ำในเวลานี้พอดิบพอดี ทำให้นักท่องเที่ยวจากทุกสถานต้องจ่ายหนักขึ้นเมื่อมาเที่ยวไทย มีผลต่อการตัดสินใจเบนเข็มไปจองตั๋วเที่ยวเพื่อนบ้านแทนที่จัดหนักโปรโมชั่นไม่แพ้กัน จากเครือข่ายสายการบินต้นทุนต่ำที่สยายปีกเข้าถึงแทบจะทุกซอกทุกมุมของเมืองท่องเที่ยวทั่วอาเซียน

อาทิ การท่องเที่ยวเวียดนาม ที่มีเวียตเจ็ทเป็นหัวหอกหลัก ทำตลาดดึงกลุ่มจีนและเอเชียตะวันออกอย่าง ญี่ปุ่น และเกาหลีใต้ เทเข้าทุกเมืองหลักด้านท่องเที่ยวในเวียดนาม เช่น ญี่ปุ่น ที่มีเส้นทางถึง 5 เส้นทางและเชื่อมไปถึงเมืองชายทะลที่หมายมั่นเป็นจุดขายอย่าง ดานัง เสริมทัพร่วมกับโฮจิมินห์ ซิตี้ และฮานอย เพื่อเป็นทางเลือกการท่องเที่ยวด้วย หลังจากปูพรมทั่วเอเชียตะวันออกเฉียงใต้มาแล้ว ส่งผลให้ตัวเลข 6 เดือนแรก เวียดนามมีนักท่องเที่ยวต่างชาติเพิ่มร้อยละ 107.5 เทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน

และเมื่อส่องเฉพาะตลาดจีนไปเยือนเวียดนาม พบว่ามีจำนวน 2.48 ล้านคน เติบโตกว่าร้อยละ 96.7 แม้จำนวนยังตามหลังไทยกว่าช่วงตัว แต่ก็ถือเป็นคู่แข่งที่เข้ามาชิงส่วนแบ่งตลาดที่ต้องจับตามองในระยะยาว

อีกหนึ่งคู่แข่งอย่างมาเลเซียที่วางวิสัยทัศน์กวาดนักท่องเที่ยว 30 ล้านคนภายในปี 2563 ในช่วง 5 เดือนแรกทำสถิติไปแล้ว 10.59 ล้านคน หลังจากตลอดปี 2561 มีนักท่องเที่ยวสะสม 25.8 ล้านคน แม้จะตามหลังไทย แต่ข้อได้เปรียบพื้นฐานที่ประเทศเพื่อนบ้านมีคือ การเป็นฐานตลาดมุสสลิมที่มีสิ่งอำนวยความสะดวกและความเข้าใจในวัฒนธรรมอิสลามที่แข็งแกร่งกว่า, ประชากรมีความเข้าใจภาษาจีน จึงเป็นมิตรต่อตลาดจีนและไต้หวัน โดยเฉพาะกลุ่มเดินทางครั้งแรกที่ต้องการความมั่นใจเรื่องการสื่อสาร รวมถึงการมีพรมแดนใกล้เคียงกับอินโดนีเซีย ฐานตลาดขนาดใหญ่ที่สุดในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีภาษาและวัฒนธรรมใกล้เคียงกันหลายด้าน

ในภาวะที่การแข่งขันรอบด้านเข้มข้น แต่ปมหลักๆ ที่เป็นปัจจัยลบที่ไล่เรียงมายังไม่มีวี่แววแก้ไขได้ระยะสั้น ผู้ประกอบการท่องเที่ยวต้องเร่งปรับตัวเองด้วยการเร่งทำตลาดอื่นมาชดเชยส่วนที่ขาดหาย ก้มหน้ารับผลระยะสั้นและหวังให้รัฐมีมาตรการประคับประคองไม่ให้เลือดไหลมากไปกว่านี้ แต่ในระยะยาวคงหนีไม่พ้นการใช้เวลาช่วงที่ว่างเว้นเหล่านี้ เร่งยกเครื่องตัวเองขึ้นมา ลดการพึ่งพานักท่องเที่ยวเชิงปริมาณ และหันมาทำตลาดคุณภาพที่เน้นการใช้จ่ายต่อหัว 

เมื่อกลับสู่รัฐบาลเลือกตั้ง ต้องเร่่งทวงคืนนักท่องเที่ยวยุโรป

โดยเฉพาะการทวงคืนตลาดยุโรป ที่น่าจะเป็นกลยุทธ์ซึ่งไทยไม่ควรละเลย เมื่อหันมองประเทศในเอเชียด้วยกันที่เริ่มเดินหน้าบุกกลุ่มตะวันตกอย่างจริงจัง ไม่เว้นแต่ประเทศแม่เหล็กในเอเชียอย่างการท่องเที่ยวญี่ปุ่น ที่วางกลยุทธ์ปูพรมเปิดสำนักงานในยุโรปหลายแห่งมาตั้งแต่สองปีที่ผ่านมา ต้อนรับการเป็นเจ้าภาพโอลิมปิกเกมส์ 2020 ในปีหน้าไว้ด้วยจำนวนนักท่องเที่ยวเป้าหมาย 40 ล้านคน และเริ่มเห็นผลในความพยายาม เมื่อดูจากการเติบโตด้านท่องเที่ยว 6 เดือนแรกที่ตลาดตะวันตกไปญี่ปุ่นเติบโตในระดับเลขสองหลักทั้งหมด อาทิ สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นร้อยละ 13.1, แคนาดาร้อยละ 10.8, เยอรมนีร้อยละ 11.7 และรัสเซียร้อยละ 20.4

สุวรรณภูมิ-สนามบิน-ท่องเที่ยว-เดินทาง-ต่างชาติ

ส่องคำแถลงนโยบายรัฐวาง 5 กรอบพัฒนาท่องเที่ยว แต่อาจตกม้าตายซ้ำรอยปัญหาเดิม

ในคำแถลงนโยบายของคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ในเรื่องการพัฒนาเศรษฐกิจและความสามารถในการแข่งขันของไทย ในด้านการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวนั้นมีอยู่ 5 เรื่องหลักที่รัฐวางกรอบแนวทางไว้ คือ พัฒนาคุณภาพและความหลากหลายของแหล่งท่องเที่ยว, ดึงดูดนักท่องเที่ยวที่มีคุณภาพ รายได้สูง, พัฒนาคุณภาพและมาตรฐานธุรกิจบริการที่เกี่ยวเนื่องกับท่องเที่ยว, ดูแลความปลอดภัยอย่างเข้มงวด และส่งเสริมการกระจายรายได้จากธุรกิจท่องเที่ยวสู่ชุมชน

หากจำแนกเป้าหมายทั้งหมดแล้ว ปัญหาหนักหนีไม่พ้นเรื่องโครงสร้างพื้นฐานที่ยังเป็นปัญหา ที่ผ่านมาเมื่อ ททท. วางโครงการกระจายรายได้สู่เมืองต้องห้ามพลาด และรัฐออกมาตรการภาษีหนุนเที่ยวเมืองรอง 55 จังหวัดขึ้นมาสอดรับ ปฏิเสธไม่ได้ว่าแม้มีแรงโหมด้านการตลาดจูงใจ แต่สุดท้ายต้องตกม้าตายเพราะแหล่งท่องเที่ยวไม่พร้อม ระบบคมนาคมขนส่งเข้าไม่ถึง ภาคการท่องเที่ยวที่ยังไม่เข้มแข็งมีภูมิคุ้มกันเพียงพอ และเมื่อโหมให้ติดตลาดได้ ก็จะเป็นเพียงกระแสชั่วคราวที่ยั่งยืนไม่ได้ตามเป้าหมายหลัก บางกรณียังทำให้เสียเอกลักษณ์และอัตลักษณ์เพราะโอนอ่อนเอาใจการท่องเที่ยวกระแสหลัก

รัฐมนตรีพิพัฒน์ กล่าวในวันแรกของการรับหน้าที่ไว้ว่า ต่อไปนี้ตลาดต่างประเทศจะมีความเชื่อมั่นมากขึ้นเมื่อมีรัฐบาลจากการเลือกตั้ง โดยเฉพาะตลาดตะวันตกที่อาจกังวลกับประเด็นเหล่านี้เป็นพิเศษ อาจจะลบข้อกังขาไปได้ ดังนั้นต่อไปก็ควรจะต้องจับตามองว่า รัฐจะนำจุดแข็งด้านความเชื่อมั่นนี้มาฟื้นฟูตลาดฝั่งตะวันตกเพื่อกลับมาถ่วงสมดุล และเป็นกลไกลหลักในการขยายกลุ่มคุณภาพได้จริงตามความตั้งใจหรือไม่

ทว่ากว่าจะไปถึงจุดนั้น ยังมีการบ้านเรื่องการพัฒนาปัจจัยพื้นฐาน และเสริมสร้างความแข็งแกร่งของภาคธุรกิจและท่องเที่ยวชุมชนให้เดินหน้าไปพร้อมๆ กัน ไม่ใช่เพียงถูลู่ถูกังลากกันไป โหมทำตลาดนำอย่างโดดเด่นจนคนพร้อมจะเดินทาง แต่ในพื้นที่ยังไม่มีปัจจัยรองรับ ระยะยาวแทนที่จะได้ประโยชน์ จะนำมาแต่ภาพลักษณ์ที่เสียหาย และเดินทางตามรอยแหล่งท่องเที่ยวหลัก ที่กลายเป็นพื้นที่แห่งการหาผลประโยชน์จากคนเฉพาะกลุ่ม ที่ไม่นำไปสู่การกระจายรายได้ที่มีสุขภาพดีอย่างแท้จริง

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :