โรคระบาดคร่าชีวิตมนุษย์จำนวนมากมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน และเมื่อมนุษย์เริ่มค้าขายกันมากขึ้น โอกาสที่มนุษย์และสัตว์จะมีปฏิสัมพันธ์กันมากขึ้น โรคระบาดก็ขยายวงกว้างขึ้นเช่นกัน โดยโรคระบาดยุคแรกๆ ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายล้านคน ก่อนที่การแพทย์จะค่อยๆ ดีขึ้น จนอัตราการเสียชีวิตลดลง แม้โลกาภิวัฒน์ก็ทำให้โรคระบาดสามารถแพร่ไปทั่วโลกได้ง่ายขึ้นก็ตาม
ลองย้อนประวัติศาสตร์ไปดูโรคระบาด 5 ครั้งที่เลวร้ายที่สุดของโลก ว่าจบอย่างไร และมนุษยชาติได้เรียนรู้อะไรบ้าง
1.กาฬโรคแห่งฆุสติเนียน (The Plague of Justinian) - ตายเกือบหมด คนที่รอดมีภูมิคุ้มกัน
กาฬโรคที่เกิดขึ้นมาจากแบคทีเรียที่ชื่อว่า เยอร์ซีเนีย เพสติส เป็นสาเหตุของการแพร่ระบาดที่มีคนตายมากที่สุดในประวัติศาสตร์โลกถึง 3 ครั้ง โดยยุคไบแซนไทน์เกิดกาฬโรคระบาดจนประชาชนตายกันหลายสิบล้านคน
ในช่วงปีค.ศ. 541-542 (พ.ศ. 1084-1085) มีกาฬโรคหรือโรคห่าเกิดขึ้นในจักรวรรดิไบแซนไทน์ โดยเฉพาะในเมืองหลวงอย่างคอนสแตนติโนเปิล โดยกาฬโรครอบนั้นมาจากจีนและตะวันออกเฉียงเหนือของอินเดีย ผ่านเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางทะเลไปยังอียิปต์ ก่อนเชื้อโรคที่มาพร้อมเห็บหนูในธัญพืชที่เป็นเครื่องบรรณาการของจักรพรรดิฆุสติเนียน จะเข้าไปที่จักรวรรดิไบแซนไทน์ผ่านทางท่าเรือเมดิเตอร์เรเนียน
กาฬโรครอบนั้นได้คร่าชีวิตคนในกรุงคอนสแตนติโนเปิล เมืองหลวงของจักรวรรดิไบแซนไทน์อย่างรวดเร็ว และแพร่ระบาดไปทั่วยุโรป เอเชีย แอฟริกาเหนือและตะวันออกกลาง มีการประเมินว่ายอดผู้เสียชีวิตน่าจะอยู่ที่ 30-50 ล้านราย หรืออาจจะครึ่งหนึ่งของประชากรโลกในขณะนั้น นักประวัติศาสตร์บางคนมองว่า กาฬโรคระบาดครั้งนั้นอาจทำให้จักรพรรดิฆุสติเนียนล้มเลิกความตั้งใจที่จะรวมจักรวรรดิตะวันออกและตะวันตกของจักรวรรดิโรมัน และนับเป็นจุดเริ่มต้นของยุคมืด
สาเหตุที่คนเสียชีวิตมากขนาดนี้ ก็เป็นเพราะคนยังไม่มีความรู้ทางการแพทย์ แต่เชื่อว่าพระเจ้าหรือภูติผีปีศาลเป็นคนสร้างโรคระบาดขึ้นมาทำลายคนที่สมควรตาย การเชื่อเรื่องที่ไม่สามารถพิสูจน์ได้เช่นนี้ ทำให้มีคนเสียชีวิตในช่วงโรคระบาดจำนวนมาก แม้แต่“โปรโกเปียสแห่งเคซาเรีย” นักประวัติศาสตร์ชื่อดังยุคไบแซนไทน์จะสามารถหาเส้นทางของโรคระบาดนี้ได้ว่ามาจากไหน แต่โปรโกเปียสก็ยังโทษว่ากาฬโรคระบาดครั้งนี้เป็นเพราะจักรพรรดิฆุสติเนียนเป็นปีศาจหรือไปยั่วโมโหพระเจ้า
โธมัส มอกไคทิส อาจารย์ด้านประวัติศาสตร์จากมหาวิทยาลัยเดอปอลกล่าวว่า คนสมัยนั้นไม่มีความเข้าใจว่าจะต่อสู้กับโรคระบาดนี้อย่างไร นอกจากการพยายามหลีกเลี่ยงไม่ยุ่งกับคนป่วย และโรคระบาดครั้งนั้นน่าจะจบตรงที่อยู่ๆ ก็ไม่มีประชากรตายเพิ่มแล้ว และคนที่รอดก็น่าจะมีภูมิคุ้มกันแล้ว
(ฮาเกียโซเฟีย สร้างขึ้นสมัยจักรพรรดิฆุุสโตเนียนที่ 1 ในกรุงคอนสแคนติโนเปิลแห่งจักรวรรดิไบแซนไทน์ ก่อนกาฬโรคระบาด 4 ปี)
2.กาฬมรณะ (Black Death) - คิดค้นมาตรการกักตัวดูอาการ (quarantine)
กาฬโรคไม่เคยหายไปไหนหลังจากยุคไบแซนไทน์ และกลับมาคร่าชีวิตจำนวนมากอีกครั้งในอีก 800 ปีต่อมา กาฬโรคต่อมน้ำเหลือง (Bubonic Plague) แพร่ระบาดไปทั่วยุโรปในปีค.ศ. 1347 (พ.ศ. 1890) ประเมินว่ามีผู้เสียชีวิตรอบนั้นถึง 200 ล้านคนภายในเวลา 4 ปี
มอกไคทิสอธิบายว่า คนสมัยนั้นก็ยังไม่มีความเข้าใจทางวิทยาศาสตร์ว่าจะหยุดยั้งโรคระบาดอย่างไร รู้แต่ว่าน่าจะเกี่ยวข้องกับความใกล้ชิด จึงทำให้เกิดการคิดค้นมาตรการกักตัว หรือ quarantine ขึ้นมาโดยเจ้าหน้าที่ท่าเรือเมืองรากูซาที่อยู่ภายใต้การควบคุมของเวนิซตัดสินใจขอให้เรือที่มาจากท่าเรือที่มีการติดเชื้อ จอดเรือกักตัวกลางทะเล 30 วัน เพื่อพิสูจน์ว่าไม่ติดเชื้อ ก่อนจะเข้ามาเทียบท่า ต่อมารัฐบาลเวนิซก็เพิ่มมาตรการกักตัวเป็น 40 วัน และคำว่า quarantine ที่แปลว่ากักตัวก็มาจากกฎหมาย quarantino หรือ quaranta giorni ที่แปลว่า 40 วันในภาษาอิตาเลียนนี่เอง
(หลายร้อยปีหลังจากกาฬมรณะ มาตรการกักตัวก็ถูกใช้ในการเฝ้าดูอาการว่าติดโควิด-19 หรือไม่)
3.กาฬโรคครั้งใหญ่ของลอนดอน The Great Plague of London - กักตัวผู้ป่วย
กรุงลอนดอนของอังกฤษเจอกาฬโรคระบาดอยู่ทุกๆ 20 ปีนับตั้งแต่กาฬมรณะจนถึงค.ศ. 1665 (พ.ศ. 2208) มีการระบาดของกาฬโรคถึง 40 ครั้งในช่วงเวลา 300 ปี และทุกครั้งที่เกิดโรคระบาดก็จะมีประชากรเสียชีวิตไปประมาณร้อยละ 20 จนช่วงต้นศตวรรษที่ 14 อังกฤษได้ออกกฎหมายฉบับแรกให้มีการแยกกักตัวผู้ป่วย โดยบ้านที่มีคนติดเชื้อก็จะมีฟางห้อยไว้ที่เสาหน้าบ้านเพื่อแจ้งให้คนอื่นรู้ หากคนในครอบครัวติดเชื้อ คุณจะต้องแบกเสาสีขาวไปด้วยเวลาออกจากบ้าน และในช่วงนั้นเชื่อกันว่า แมวและสุนัขเป็นพาหะของโรค จึงมีการฆ่าสัตว์ไปหลายแสนตัว
จนกระทั่งปี 1665 (พ.ศ. 2208) กาฬโรคครั้งใหญ่ระบาด ถือเป็นครั้งสุดท้ายและหนึ่งในครั้งที่รุนแรงที่สุดในรอบศตวรรษ ในช่วงเวลาเพียง 7 เดือน ชาวลอนดอนเสียชีวิตไปกว่า 100,000 คน สถานบันเทิงสาธารณะทั้งหมดถูกแบน และคนที่ติดเชื้อก็ถูกสั่งให้ปิดบ้านเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด มีการทาสีแดงเป็นรูปไม้กางเขนบนประตูพร้อมคำร้องขอให้พระผู้เป็นเจ้าเมตตา
กาฬโรครั้งใหญ่นี้จบลงด้วยการบังคับให้คนป่วยอยู่แต่ในบ้าน แล้วฝังผู้เสียชีวิตรวมกันในสุสานหมู่
4.ไข้ทรพิษหรือฝีดาษ (Smallpox) - โรคระบาดจากยุโรปสู่โลกใหม่
ไข้ทรพิษหรือฝีดาษเป็นโรคระบาดที่มีอยู่ในยุโรป เอเชีย และโลกอาหรับมากนานหลายศตวรรษแล้ว และมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 30 ของคนที่ติดเชื้อทั้งหมด และคนที่หายจากไข้ทรพิษก็จะมีแผลเป็นติดตัวไปอีกนาน แต่เมื่อไข้ทรพิษจากโลกเก่าเดินทางไปยังโลกใหม่พร้อมกับนักเดินทางชาวยุโรปในช่วงศตวรรษที่ 15 คนพื้นเมืองในทวีปอเมริกาติดเชื้อและเสียชีวิตกันไปหลายสิบล้านรายในพื้นที่ที่เป็นเม็กซิโกและสหรัฐฯ ในปัจจุบัน หรือคิดเป็นร้อยละ 90-95 ของประชากรคนพื้นเมืองในช่วงประมาณ 100 ปี โดยเม็กซิโกประชากรลดลงจาก 11 ล้านคนเหลือเพียง 1 ล้านคน ถือเป็นโรคระบาดที่ฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ครั้งรุนแรงที่สุด
หลายร้อยปีต่อมา ไข้ทรพิษได้เป็นโรคระบาดชนิดแรกที่สิ้นสุดลงจากการคิดค้นวัคซีน โดยช่วงปลายศตวรรษที่ 18 เอ็กเวิร์ด เจนเนอร์ แพทย์ชาวอังกฤษค้นพบว่า สาวรีดนมวัวติดฝีดาษวัว (cowpox) ในระดับที่ไม่รุนแรงดูเหมือนจะมีภูมิคุ้มกันจากไข้ทรพิษ (smallpox) ต่อมาเจนเนอร์ได้ปลูกฝีลูกชายของเขาด้วยฝีดาษวัว แล้วลูกชายของเขาก็ไม่แสดงอาการใดๆ จากไข้ทรพิษเลย
เจนเนอร์ได้เขียนบันทึกไว้ในปี 1881 (พ.ศ. 2444) ว่า การทำลายล้างของไข้ทรพิษ ตัวหายนะที่สุดสำหรับมนุษยชาติ จะต้องสิ้นสุดลงด้วยวิธีนี้ แต่กว่าที่องค์การอนามัยโลกหรือ WHO จะประกาศว่า ไข้ทรพิษได้หายไปจากโลกอย่างสมบูรณ์แล้วก็คือปี 1989 (พ.ศ. 2532)
(การปลูกฝีในยุคปัจจุบัน)
5.อหิวาตกโรค (Cholera) - ชัยชนะของการวิจัยด้านสาธารณสุข
ในช่วงต้นถึงกลางศตวรรษที่ 19 อหิวาตกโรคแพร่ระบาดอย่างหนักในอังกฤษ คนติดเชื้อไม่กี่วันก็เสียชีวิต ทำให้มีผู้เสียชีวิตหลายหมื่นราย ในช่วงแรกมีทฤษฎีว่า อหิวาตกโรคแพร่ะระบาดไปจากอากาศที่เป็นพิษ แต่จอห์น สโนว์ แพทย์ชาวอังกฤษสงสัยว่าโรคระบาดปริศนานี้น่าจะเกิดจากน้ำดื่มที่ปนเปื้อน
สโนว์ใช้วิธีการทางวิทยาศาสตร์ในการตรวจสอบข้อมูลจากโรงพยาบาลและสถานที่เก็บศพ แล้วติดตามดูตำแหน่งของการแพร่ระบาด จากนั้นก็นำข้อมูลการเสียชีวิตในช่วง 10 วันมาแสดงไว้ในแผนที่ ซึ่งจะพบว่ามีผู้เสียชีวิตอยู่รอบปั๊มน้ำบรอดสตรีม ถือเป็นครั้งแรกที่มีการนำหลักภูมิศาสตร์และสถิติมาวิเคราะห์ร่วมกัน
หลังจากแสดงข้อมูลดังกล่าวแล้ว สโนว์ได้โน้มน้าวให้เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นถอนปั๊มนำที่บ่อบ้ำดื่มบรอดสตรีม ประกาศว่าไม่สามารถสามารถใช้ปั๊มนี้ได้ จากนั้นโรคระบาดก็หายไป แม้จะไม่สามารถรักษาอหิวาตกโรคได้ทันที แต่งานวิจัยของเขาก็ทำให้มีการปรับปรุงสุขอนามัยในเมืองทั่วโลก และป้องกันไม่ให้มีการปนเปื้อนในน้ำดื่ม
แม้ส่วนใหญ่อหิวาตกโรคจะหายไปจากประเทศพัฒนาแล้ว แต่อหิวาตกโรคยังเป็นโรคระบาดที่คร่าชีวิตคนในประเทศด้อยพัฒนาจำนวนมากที่ขาดแคลนระบบบำบัดน้ำเสียและการเข้าถึงน้ำดื่มสะอาด
(ปัจจุบันยังมีประชากรโลกอีกจำนวนมากที่ไม่มีสุขอนามัยที่ดี และต้องเสียชีวิตด้วยอหิวาตกโรค)
ที่มา : History, Visual Capitalist
ภาพปก : conor rabbett on Unsplash