ไม่พบผลการค้นหา
รายได้จากการท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เศรษฐกิจไทยเติบโต แต่มีปัญหานักท่องเที่ยวแออัด-ทรัพยากรเสื่อมโทรม จนต้องปิดที่เที่ยวเพื่อฟื้นฟู เมื่อไทยจะขยายสนามบินแก้ปัญหานักท่องเที่ยว สื่อนอกจึงตั้งคำถามว่าวิธีนี้ได้ผลจริงหรือ

การประกาศปิดอ่าวมาหยา บนเกาะพีพีเล จังหวัดกระบี่ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย.-ก.ย. 2561 ได้รับความสนใจจากสื่อต่างประเทศหลายสำนัก โดยล่าสุด เดอะเทเลกราฟ สื่ออังกฤษ รายงานข่าวดังกล่าวเมื่อวันที่ 7 มิ.ย. ที่ผ่านมา เพื่อเตือนนักท่องเที่ยวอังกฤษให้ศึกษาข้อมูลก่อนเดินทางไปเที่ยวทะเลและหมู่เกาะในจังหวัดภาคใต้ของไทย

เทเลกราฟระบุว่ามาตรการดังกล่าวเป็นแนวทางที่ดีที่จะช่วยฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของอ่าวมาหยาและเกาะพีพีเลให้ฟื้นตัวจากการรองรับนักท่องเที่ยวจำนวนมากอย่างต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา

โดยสื่ออังกฤษรายงานว่ามีนักท่องเที่ยวราว 5,000 คน เดินทางไปอ่าวมาหยาในแต่ละวัน ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างมาก และเป็นปัญหาเดียวกับที่เกิดขึ้นในหลายประเทศทั่วโลก เพราะแหล่งท่องเที่ยวที่ได้รับความนิยมจะทำให้เกิดภาวะนักท่องเที่ยวแออัด หรือการท่องเที่ยวล้นเกินจนกระทบต่อคนและสิ่งแวดล้อมท้องถิ่น (Overtourism)

อย่างไรก็ตาม การปิดอ่าวมาหยาเพื่อฟื้นฟูแหล่งท่องเที่ยวเกิดขึ้นไล่เลี่ยกับที่มีการอนุมัติหลักการเพื่อลงทุนในโครงการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ของสนามบินเชียงใหม่และสนามบินภูเก็ต ซึ่งจะถูกสร้างขึ้นเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มเติมในอนาคต

๊ืUnsplash-เกาะพีพี-กระบี่-เที่ยว-ท่องเที่ยว-ทัวร์จีน

(ภาพยนตร์เรื่อง The Beach เคยถ่ายทำที่เกาะพีพีและอ่าวมาหยา ทำให้พื้นที่ดังกล่าวได้รับความสนใจจากนักท่องเที่ยวต่างชาติเป็นจำนวนมาก)

ทั้งนี้ การรายงานข่าวของสื่ออังกฤษอ้างอิงมติที่ประชุมบอร์ด บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท. เมื่อวันที่ 24 พ.ค. ที่ผ่านมา ซึ่งได้อนุมัติหลักการเพื่อลงทุนดำเนินการสร้างสนามบินแห่งที่ 2 ของสนามบินเชียงใหม่และสนามบินภูเก็ต ในวงเงินงบประมาณลงทุนรวม 120,000 ล้านบาท ระหว่างปี 2561-2566

โดยจากผลการศึกษาของสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย หรือ กพท. มีความเห็นว่า อำเภอบ้านธิ จังหวัดลำพูน และ บ้านโคกกรวด อำเภอปากพลี จังหวัดพังงา เป็นพื้นที่ที่มีความเหมาะสมที่จะสร้างสนามบินเชียงใหม่และสนามบินภูเก็ตแห่งที่ 2 ตามลำดับ โดยจะอยู่ห่างจากสนามบินเดิมประมาณ 20-30 กิโลเมตร คาดว่าการดำเนินการด้านเอกสารจะแล้วเสร็จภายในสิ้นปีนี้ และจะเริ่มโครงการก่อสร้างภายในปี 2562-2568

เมืองท่องเที่ยวอื่นๆ แก้ปัญหา Overtourism อย่างไร

เดอะเทเลกราฟระบุว่า โครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ มีเป้าหมายเพื่อรองรับนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นอีกประมาณ 10 ล้านคน สวนทางกับนโยบายของกระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของไทย ที่ระบุว่าจะกระจายนักท่องเที่ยวไปยัง 'เมืองรอง' หรือพื้นที่อื่นๆ เพื่อลดปัญหานักท่องเที่ยวแออัด แต่เชียงใหม่และภูเก็ตเป็นจุดหมายปลายทางยอดนิยมของนักท่องเที่ยวทั่วโลกอยู่แล้ว รวมถึงนักท่องเที่ยวชาวจีนซึ่งเป็นลูกค้ากลุ่มใหญ่ของไทย

ขณะเดียวกัน เมอร์ซีเดส ฮัตตัน คอลัมนิสต์ด้านการท่องเที่ยวของ เซาท์ไชนามอร์นิงโพสต์ หรือ SCMP สื่อของฮ่องกง ตั้งคำถามกับโครงการก่อสร้างสนามบินแห่งใหม่ของไทยเช่นกัน โดยระบุว่า อาจเข้าข่ายการ 'ดับไฟด้วยไฟ' เพราะจะยิ่งทำให้เกิดผลกระทบและความสูญเสียต่อทรัพยากรและคนในท้องถิ่นของประเทศไทยไม่ต่างจากเดิม

AFP-ทัวร์จีน-อ่าวมาหยา-พีพี-กระบี่-ท่องเที่ยว-เที่ยวไทย

(เรือสปีดโบ๊ตที่รองรับนักท่องเที่ยวเป็นปัจจัยหนึ่งที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสภาพแวดล้อม)

ก่อนหน้านี้ เดอะเทเลกราฟ รายงานว่าหลายเมืองทั่วโลกประสบปัญหานักท่องเที่ยวแออัด และชาวเมืองได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว รวมถึงพฤติกรรมของนักท่องเที่ยว รัฐบาลในหลายประเทศ ทั้งรัฐบาลท้องถิ่นและรัฐบาลกลาง จึงต้องหามาตรการและข้อปฏิบัติต่างๆ เพื่อบรรเทาความเสียหายที่เกิดขึ้นด้วยวิธีแตกต่างกันไป

กรณีของกรุงอัมสเตอร์ดัม เมืองหลวงของเนเธอร์แลนด์ รัฐบาลมีคำสั่งห้ามการก่อสร้างโรงแรมแห่งใหม่ตามแนวแม่น้ำ และออกคำสั่งจำกัดพื้นที่ประกอบกิจการแบ่งปันห้องพัก เช่น Airbnb รวมถึงเพิ่มอัตราการเก็บภาษีการท่องเที่ยว ส่วนที่เมืองดูบรอฟนิก ประเทศโครเอเชีย มีการออกคำสั่งโดยนายกเทศมนตรี ให้จำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่เข้าชมเขตเมืองเก่าในแต่ละวัน ประมาณ 4,000 คน เพื่อไม่ให้อาคารและป้อมปราการเก่าแก่ต้องรองรับนักท่องเที่ยวมากเกินไป

ส่วนที่เมืองฮวาร์ ประเทศโครเอเชีย กลายเป็นหมุดหมายใหม่ของนักท่องเที่ยวที่นิยมสีสันยามราตรี ทำให้มีนักท่องเที่ยวเมา ก่อความเดือดร้อนให้ประชาชนและทรัพย์สินสาธารณะเพิ่มขึ้น หน่วยงานปกครองส่วนท้องถิ่นจึงตัดสินใจขึ้นค่าปรับผู้ที่เมาและก่อความเดือดร้อนในที่สาธารณะสูงถึงครั้งละ 700 ยูโร หรือประมาณ 30,000 กว่าบาท

ขณะเดียวกัน เมืองเวนิซ ประเทศอิตาลี มีคำสั่งห้ามเรือขนาดใหญ่ใช้เส้นทางน้ำในเขตเมือง และมีคำสั่งเพิ่มบทลงโทษในกรณีที่นักท่องเที่ยวประพฤติตนก่อกวนความสงบ เช่น กระโดดลงไปเล่นน้ำในคลอง รวมถึงทิ้งขยะไม่เป็นที่ ตลอดจนออกคำสั่งจำกัดจำนวนนักท่องเที่ยวที่จะเข้าชมสถานที่ท่องเที่ยวต่างๆ ในแต่ละวัน ซึ่งมาตรการเหล่านี้เพิ่งเริ่มต้นได้ไม่นาน ทั้งยังต้องอาศัยการตรวจตราและบังคับใช้กฎต่างๆ อย่างเข้มงวด แต่ส่วนใหญ่เป็นมาตรการที่ได้รับความเห็นชอบจากประชาชนท้องถิ่นซึ่งได้รับผลกระทบจากการท่องเที่ยว 

Photo by paweldotio on Unsplash และ AFP

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: