ไม่พบผลการค้นหา
คณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาลเห็นชอบแก้รัฐธรรมนูญ ยกเว้นหมวดทั่วไปและพระมหากษัตริย์ พร้อมหนุนตั้ง ส.ส.ร. ด้าน 'จุรินทร์' ค้านโละ ส.ว. แต่ให้ลดบทบาท

'วิรัช รัตนเศรษฐ์' ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) แถลงภายหลังการประชุมวิปรัฐบาลว่า ที่ประชุมมีมติจะแก้รัฐธรรมนูญ ปี 60 โดยไม่แตะหมวด 1 และหมวด 2 และให้มีการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ (ส.ส.ร.)

ส่วนมาตราอื่นๆ จะแก้ไขหรือไม่นั้นอยู่ระหว่างการหารือ นอกจากนี้ วิปรัฐบาลจะได้มีการออกแบบโครงสร้างของ ส.ส.ร.ด้วยว่าจะเป็นอย่างไร โดยจะดำเนินการให้เร็วที่สุด ซึ่งอาจประกอบไปด้วยตัวแทนจากพรรคการเมืองต่างๆ และอาจเชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาเป็นพี่เลี้ยงให้ด้วย เช่น สถาบันพระปกเกล้า หรือทางสำนักงานกฤษฏีกา เป็นต้น โดยคาดว่าเรื่องนี้จะได้ข้อสรุปเร็วที่สุด ก่อนที่คณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาศึกษาปัญหา หลักเกณฑ์ และแนวทางการแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ จะเสนอรายงาน ทั้งนี้ เราจะยื่นแบบเอกภาพเป็นหนึ่งเดียว 

เมื่อถามว่าทางฝ่ายค้านได้ยื่นเรื่องนี้ไปแล้ว ฝ่ายรัฐบาลก็ควรจะยื่นตามเลยหรือไม่ นายวิรัช กล่าวว่า ไม่จำเป็นต้องยื่นตามฝ่ายค้าน และหากถามว่าฝ่ายรัฐบาลยื่นช้าไปหรือไม่ ก็ต้องขอถามกลับว่าฝ่ายค้านยื่นเร็วไปหรือไม่ เพราะยื่นโดยที่ไม่รอผลการศึกษาจากคณะกมธ.วิสามัญศึกษารัฐธรรมนูญเลย 

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์.jpg

ด้าน 'จุรินทร์ ลักษณวิศิษฎ์' รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ในฐานะหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการยื่นญัตติการแก้ไขรัฐธรรมนูญว่า ที่ประชุม ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ มอบหมายให้ผู้แทนวิปของพรรคฯ ไปหารือกับพรรคร่วมรัฐบาล เพราะพรรคประชาธิปัตย์ ไม่สามารถยื่นญัตติลำพังพรรคเดียวได้ เพราะเสียง ส.ส. ไม่พอ เนื่องจากมีเพียง 50 เสียง แต่การยื่นญัตติต้องใช้เสียงถึง 98 เสียง จึงต้องหารือพรรคร่วม เพื่อจัดทำร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญร่วมกับพรรคร่วมรัฐบาล

ทั้งนี้ ทางพรรคฯ มีจุดยืนชัดเจนตั้งแต่ต้น ในการแก้ไขอย่างน้อยในมามาตรา 256 ส่วนประเด็นเพิ่มเติม ได้แก่ เรื่องการตั้งสภาร่างรัฐธรรมนูญ หรือ ส.ส.ร., การปรับรูปแบบเลือกตั้งไปใช้บัตร 2 ใบ, การเพิ่มสิทธิเสรีภาพประชาชน, การกระจายอำนาจสู่ท้องถิ่น, รวมถึงการแก้ปัญหาการตรวจสอบ ป.ป.ช. และการแก้ไขในบทเฉพาะกาล

ส่วนข้อกังวลที่บางพรรคการเมืองจะแก้ไขในหมวด 1 และหมวด 2 นั้น จุรินทร์ ยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์ มีจุดยืนชัดเจนที่จะไม่ก้าวล่วงสถาบัน ฉะนั้น พรรคประชาธิปัตย์ จึงไม่สนับสนุน 

นอกจากนี้ยังกล่าวถึงข้อเรียกร้องให้มีการยกเลิก ส.ว. และใช้รูปแบบสภาแบบสภาเดี่ยวว่า พรรคประชาธิปัตย์ ยังเห็นว่า ส.ว. ยังมีความจำเป็น เพื่อช่วยกลั่นกรองกฎหมาย และควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน แต่จะต้องจำกัดของเขตบทบาทภารกิจ