ไม่พบผลการค้นหา
'ชวลิต' ทวงสัญญา 'ประยุทธ์' รับปากกลางสภาฯ แก้ รธน. เสร็จในเดือน ธ.ค. 2563 แนะตัดสินใจทางการเมืองอย่างอารยะ เพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่แนวทางสงบเรียบร้อย จะอ้างสั่ง ส.ส. ฝั่งรัฐบาล และส.ว. ไม่ได้ ด้าน 'จุรินทร์' บี้นโยบายด่วนเร่งแก้ รธน. ยันแก้ได้ ยังไม่ตอบจะโหวตคว่ำขอมติรัฐสภาชงศาล รธน.ตีความ

ชวลิต วิชยสุทธิ์ ส.ส. นครพนม พรรคเพื่อไทย ให้ความเห็นกรณี ส.ส.และ ส.ว. บางส่วนยื่นญัตติต่อประธานรัฐสภาเพื่อขอมติรัฐสภาให้ส่ง ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาตีความญัตติแก้ไขรัฐธรรมนูญว่าขัดรัฐธรรมนูญ หรือไม่นั้น หลังจากถูกสังคมถล่มว่าถ่วงเวลาแก้รัฐธรรมนูญ ก็มี ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาลออกมาให้ข่าวแก้ตัวว่า สนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญ แต่เกรงจะไปแตะ หมวด 1 หมวด 2

สำหรับประเด็นนี้ ตนเห็นว่าแก้ตัวอย่างไร ก็แก้ไม่ขึ้น ด้วยเหตุผลดังนี้

1. ญัตติแก้รัฐธรรมนูญของพรรคร่วมรัฐบาลเอง มีหลักการแก้ มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.และมีเงื่อนไขไม่แตะหมวด 1 หมวด 2

2. ญัตติแก้รัฐธรรมนูญของพรรคเพื่อไทยร่วมกับพรรคร่วมฝ่ายค้าน มีหลักการแก้มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร.ไม่แตะหมวด 1 หมวด 2 เช่นกันซึ่งได้เสนอญัตติต่อประธานรัฐสภาก่อนญัตติของพรรคร่วมรัฐบาล

3. คณะกรรมาธิการศึกษาแนวทางการแก้ไข รธน.ซึ่งมีที่ปรึกษานายกรัฐมนตรีเป็นประธาน ก็มีหลักการแก้ รธน.เช่นเดียวกันกับข้อ 1 และ 2 ข้างต้น คือ แก้มาตรา 256 ตั้ง ส.ส.ร. และไม่แตะหมวด 1 หมวด 2

ในการพิจารณาในรัฐสภา เสียงของ ส.ส.ฝ่ายรัฐบาล บวกกับ ส.ว.มากกว่าฝ่ายค้านอยู่แล้ว โดยทั่วไปเมื่อรับหลักการในวาระที่ 1 สมาชิกเสียงข้างมาก ก็จะเอาร่างของรัฐบาลเป็นหลักอยู่แล้ว ดังนั้น การที่ ส.ส. พรรคแกนนำรัฐบาลอ้างว่า เกรงจะแตะ หมวด 1 หมวด 2 จึงเป็นข้ออ้างที่เลื่อนลอยไม่มีเหตุผลรองรับ

นอกจากนี้ กรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ให้ความเห็นว่า "ไม่สามารถสั่ง ส.ส.ฝั่งรัฐบาลและ ส.ว. ในการยื่นญัตติหรือถอนญัตติได้" นั้นพูดไป ก็ไม่มีใครเชื่อ เพราะท่านเป็นหัวหน้ารัฐบาล และลงนามตั้ง ส.ว.เองกับมือ ในฐานะหัวหน้า คสช.

ประการสำคัญ การที่ พล.อ.ประยุทธ์ รับปากกลางสภาฯ ในคราวประชุมรัฐสภาตามญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตาม รธน.มาตรา 165 เมื่อวันที่ 26 ต.ค. 2563 ที่ผ่านมาว่า จะสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญให้แล้วเสร็จใน ธ.ค. 2563 โดยท่านกล่าวในฐานะนายกรัฐมนตรี ซึ่งเป็นหัวหน้ารัฐบาล แล้วจะมาปฏิเสธว่าสั่ง ส.ส. ฝั่งรัฐบาล และส.ว. ไม่ได้นั้น อมพระมาพูดก็ไม่มีใครเชื่อ

และถ้าตรวจสอบเหตุการณ์ย้อนหลัง จะพบว่ามีความพยายามถ่วงเวลาจาก ส.ส.พรรคแกนนำรัฐบาลกลุ่มนี้ ได้เสนอญัตติตั้งคณะกรรมาธิการวิสามัญพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญซึ่งก็มีญัตติของพรรคร่วมรัฐบาลเพื่อให้มีมติตั้งคณะกรรมาธิการพิจารณาญัตติแก้รัฐธรรมนูญก่อนรับวาระที่ 1 ซึ่งสังคมวิพากษ์ว่าเป็นการถ่วงเวลาแก้ รัฐธรรมนูญอย่างชัดเจน

"ปัจจุบันปัญหาการเมืองทุกประเด็นมารวมศูนย์อยู่ที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะหัวหน้ารัฐบาล ท่านจึงควรตัดสินใจทางการเมืองอย่างอารยะ และสนับสนุนการแก้รัฐธรรมนูญตามที่สัญญากับประชาชนกลางสภาฯ ดังกล่าว ทั้งนี้ เพื่อให้บ้านเมืองเข้าสู่แนวทางสงบเรียบร้อย ประเทศได้รับความเชื่อมั่น ซึ่งเป็นที่ปรารถนาของประชาชนโดยส่วนรวม" ชวลิต ระบุ


'ชวน' เคาะร่าง ก.ม.ประชามติเข้าที่ประชุมสภาหรือไม่

ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ระบุว่าในการเสนอร่าง พ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ ของรัฐบาลมีฝ่ายกฎหมายพิจารณาและดำเนินการ หลังมีการตั้งข้อสังเกตว่ากฎหมายฉบับนี้ไม่ใช่กฎหมายการปฏิรูปประเทศที่จะต้องประชุมร่วมรัฐสภา และได้ตรวจสอบตามคำคัดค้านว่าไม่ได้ทำประชาพิจารณ์นั้น พบว่าตามรายงานมีการทำเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายเมื่อรัฐบาลเสนอให้พิจารณาร่วมกันของสมาชิกรัฐสภา ซึ่งในฐานะประธานรัฐสภาก็จะวินิจฉัยว่าเข้าตามเงื่อนไขของกฎหมายหรือไม่ด้วย ซึ่งตามข้อห่วงกังวลของฝ่ายค้านจะมีการหารือในที่ประชุมวิป 3 ฝ่ายนี้วันนี้ 

ส่วนกรณีที่พรรคฝ่ายค้านจะไปยื่นศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ากฎหมายประชามติเป็นกฎหมายปฏิรูปหรือไม่ ประธานสภาผู้แทนราษฎรอธิบายว่าการยื่นศาลมีหลายช่องทาง โดยสมาชิกอาจเข้าชื่อกันและยื่นต่อศาลเองได้เลย และบางเรื่องต้องยื่นผ่านประธานรัฐสภา ทั้งนี้ย้ำว่าแต่ละเรื่องต้องพิจารณาตามข้อกฎหมาย 

สำหรับรายชื่อการเสนอร่างกฎหมายแก้ไขรัฐธรรมนูญฉบับของประชาชนหรือว่าร่างของไอลอว์ พรุ่งนี้ ( 12 พ.ย. 2563) จะเป็นวันสุดท้ายของการคัดค้านการเสนอร่างกฎหมาย โดยจะมีการสรุปรายชื่อว่าจากรายชื่อกว่า 100,000 คน มีกว่า 400 คนแจ้งว่าไม่ได้ลงชื่อ ทั้งนี้รายชื่อยังครบตามจำนวนของกฎหมายที่กำหนดการเข้าชื่อเสนอกฎหมาย จึงไม่ส่งผลกระทบต่อการพิจารณากฎหมายดังกล่าว

ขณะที่ความคืบหน้าของการตั้งคณะกรรมการสมานฉันท์ฯ ชวนระบุว่า ไม่สามารถที่จะรอให้ครบได้ และเมื่อวานนี้ (10 พ.ย. 2563) สถาบันพระปกเกล้าได้เสนอโครงสร้างมา 2 แบบ ของสร้างแรกให้ฝ่ายการเมือง 7 กลุ่มแต่คงเป็นไปไม่ได้ที่จะหาให้ครบทั้ง 7 คนในเวลานี้ เดิมคาดว่าจะรอเพื่อหาทางเจรจา แต่จะเสียเวลาและไม่แน่นอน เลยเห็นว่าหากตกลงได้กี่กลุ่มก็ดำเนินการไปพลางก่อน ซึ่งหลังจากนี้เลขาธิการสภาผู้แทนราษฎรจะเป็นผู้รับผิดชอบเพื่อเชิญแต่ละฝ่ายเข้ามาหาเลย และสอบถามเลขาสภาฯได้

ซึ่งอีกกลุ่มที่ นพ.ประเวศ วะสี ราษฎรอาวุโสได้เสนอชื่อบุคคลเข้ามาและเป็นประโยชน์ เพราะเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการประนีประนอม ซึ่งเป็นชื่อเดียวกับที่สถาบันพระปกเกล้าได้เสนอมาเช่นกัน แต่ยังมีเวลาที่จะหารือพูดคุยกับผู้ที่มีประสบการณ์และเคยดำเนินการมาแล้ว เช่น ชวนได้หารือกับมานิต สุขสมจิตรไปแล้ว ในประเด็นที่ว่าเหตุใดสิ่งที่ได้ดำเนินการไปแต่ไม่เกิดผล ซึ่งอาจจะหาผู้ที่มีความรอบรู้ทางทฤษฎี และนำผู้ที่มีความรู้ในทางปฎิบัติ มาร่วมกัน


'จุรินทร์' ลั่นร่างแก้ไขฉบับรัฐบาลชอบด้วยก.ม.

จุรินทร์ ลักษณวิศิษฏ์​ รอง​นายก​รัฐมนตรี​ ใน​ฐานะ​หัวหน้า​พรรคประชาธิปัตย์​ ยืนยันจุดยืนว่าการแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ เป็นนโยบายเร่งด่วน ที่ทำให้ตัดสินใจเข้าร่วมรัฐบาล โดยเฉพาะการแก้ไขมาตรา 256 เพื่อเปิดทางให้มี สภาร่างรัฐธรรมนูญ​ (ส.ส.ร.) มายกร่างรัฐธรรมนูญ​ฉบับใหม่ โดยไม่แตะต้องหมวด 1 และหมวด 2

ส่วนการที่มี ส.ส. และส.ว. บางส่วน เข้าชื่อยื่นญัตติ เพื่อขอมติรัฐสภา ส่งศาลรัฐธรรมนูญ​ตีความ ร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ​ มาตรา 256 ทั้ง 3 ร่าง แม้จะเป็นสิทธิที่ทำได้ แต่ยังต้องผ่านการพิจารณาของ ประธานรัฐสภาว่าจะบรรจุเข้าวาระหรือไม่ ถ้าบรรจุญัตติ ที่ประชุมร่วมรัฐสภา จะโหวตเห็นชอบหรือไม่ และสุดท้ายศาลรัฐธรรมนูญ​จะรับคำร้องหรือไม่ พร้อมยืนยันว่า พรรคประชาธิปัตย์​ มีความเห็นตรงกันว่าร่างแก้ไขเพิ่มเติมรัฐธรรมนูญ​ มาตรา 256 ที่เสนอโดยพรรคร่วมรัฐบาล ชอบด้วยรัฐธรรมนูญ​แต่ต้น จึงต้องยืนยันในสิ่งที่เสนอ 

เมื่อถามว่า หากญัตติขอความเห็นส่งศาลรัฐธรรมนูญ​เข้าที่ประชุมรัฐสภา พรรคประชาธิปัตย์ จะลงมติโหวตคว่ำใช่หรือไม่ จุ​รินทร์​ บอกยังต้องผ่านการพิจารณา​ของประธาน​รัฐสภา​ก่อน และเร็วไปที่จะตอบได้ แต่ยืนยันว่า ร่างของพรรคร่วมรัฐบาลมีความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ​ตั้งแต่ต้น 

จุรินทร์ ยังปฏิเสธแสดงความคิดเห็นว่าการที่นายกรัฐมนตรี​สั่งเดินหน้า แต่มี ส.ส.และส.ว.บางส่วนยื้อเวลา เป็นการเล่นเกมสองหน้า โดยระบุเพียงว่า พรรคประชาธิปัตย์​ยืนยันว่าจะต้องเดินหน้าเรื่องรัฐธรรมนูญ​ตามจุดยืน


'องอาจ' ชี้ ยื่นตีความแก้รธน. สร้างความไม่ไว้วางใจเพิ่ม

องอาจ คล้ามไพบูลย์ รองหัวหน้าพรรค และประธาน ส.ส. พรรคประชาธิปัตย์ กล่าวถึงการที่ ส.ว. 48 คน และ ส.ส. 25 คน ร่วมลงชื่อส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยตีความร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ 3 ฉบับว่า เป็นสิทธิของสมาชิกรัฐสภาที่จะดำเนินการเมื่อเห็นว่าอาจมีเรื่องที่ขัดหรือแย้งกับรัฐธรรมนูญ แต่การดำเนินการเรื่องนี้ในช่วงเวลาที่บ้านเมืองกำลังมีปัญหาความขัดแย้งของคนที่เห็นต่างกันในสังคม จนกำลังมีความพยายามที่จะหากลไกต่างๆ ที่เหมาะสมมาช่วยกันหาทางออกให้ประเทศ ด้วยการให้มีคณะกรรมการสมานฉันท์ หรือจะมีชื่ออะไรก็ตาม เป็นเวทีให้ฝ่ายต่างๆ ที่เกี่ยวข้องได้พูดคุยปรึกษาหารือสานเสวนาเพื่อหาทางออกร่วมกันอาจมีอุปสรรคมากขึ้น เพราะเป็นการเพิ่มบรรยากาศของความไม่ไว้วางใจกันมากขึ้น ทั้งๆ ที่ขณะนี้เราควรช่วยกันหาทางสร้างความไว้วางใจซึ่งกันและกัน เพื่อผลักดันให้ปัญหาต่างๆ ทุเลาเบาบางลง

ในเรื่องการแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็เคยมีประเด็นให้วิพากษ์วิจารณ์มาแล้วครั้งหนึ่งที่อยู่ดีๆ กำลังจะลงมติเรื่องแก้ไขรัฐธรรมนูญ ก็มีการเสนอให้ตั้งกรรมาธิการพิจารณาก่อนรับหลักการ ทำให้การลงมติต้องเลื่อนออกมาอีกเกือบ 2 เดือน การยื่นเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญครั้งนี้ก็อาจทำให้เวลาการแก้ไขรัฐธรรมนูญถูกลากยาวออกไปอีก ซึ่งเป็นประเด็นที่ก่อให้เกิดความไม่ไว้วางใจ ทำลายบรรยากาศของการหาทางออกให้ประเทศ

ในส่วนของพรรคประชาธิปัตย์ มั่นใจในร่างแก้ไขรัฐธรรมนูญ ที่ ส.ส. ของพรรคร่วมลงชื่อกับ ส.ส. ร่วมรัฐบาลทุกพรรคว่า เป็นไปตามขั้นตอน กระบวนการทางกฎหมาย ไม่มีอะไรขัด หรือแย้งกับรัฐธรรมนูญแต่อย่างใด

"พรรคประชาธิปัตย์ตั้งใจอยากเห็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญเกิดขึ้นได้จริง โดยไม่ควรมีอุปสรรคใดๆ มาขัดขวางหรือถ่วงเวลา เพื่อจะได้มีรัฐธรรมนูญที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นก่อให้เกิดประโยชน์ต่อประชาชนและส่วนรวม และเป็นอีกหนึ่งกลไกของรัฐสภาที่จะช่วยนำพาหาทางออกให้ประเทศได้ จึงอยากเรียกร้องให้ทุกฝ่ายสร้างบรรยากาศของความไว้วางใจใช้การแก้ไขรัฐธรรมนูญตามวิถีทางรัฐสภาเป็นอีกหนึ่งกลไกในการหาทางออกให้ประเทศร่วมกันน่าจะเกิดประโยชน์ต่อส่วนรวมในที่สุด" องอาจ ระบุ


ข่าวที่เกี่ยวข้อง :