ไม่พบผลการค้นหา
ผู้สื่อข่าวและประชาชนชาวฮ่องกงกว่าพันคนรวมตัวกันชุมนุมโดยไม่ใช้เสียง เพื่อประท้วงกรณีที่ตำรวจใช้ความรุนแรงกันผู้สื่อข่าว พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลฮ่องกงเคารพเสรีภาพสื่อให้มากกว่านี้

ผู้สื่อข่าวในฮ่องกง อาจารย์มหาวิทยาลัย รวมถึงประชาชนทั่วไปกว่าพันคนในฮ่องกงนัดกันสวมเสื้อดำ เพื่อเดินขบวนประท้วงจากย่านแอดไมรัลตีไปยังสำนักงานตำรวจที่วานไจ๋ และเดินต่อไปยังทำเนียบผู้ว่าเขตบริการพิเศษฮ่องกง การชุมนุมครั้งนี้เป็นไปโดยไม่ใช้เสียง มีเพียงการชูป้าย “ยุติความรุนแรงของตำรวจ ปกป้องเสรีภาพสื่อ” 

ผู้ชุมนุมยังได้เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจเคารพกฎที่ผู้บังคับบัญชาได้สั่งไว้ และเตือนไม่ให้ตำรวจขัดขวางการทำงานของผู้สื่อข่าว พร้อมเรียกร้องให้แคร์รี หล่ำ ผู้ว่าฯ ฮ่องกงปกป้องเสรีภาพสื่ออย่างที่เธอเคยสัญญาไว้ระหว่างการหาเสียงเลือกตั้ง


ผู้สื่อข่าวได้นัดกันประท้วง หลังกล่าวหาว่า ตำรวจฮ่องกงใช้ความรุนแรงกับผู้สื่อข่าว และกีดกันการปฏิบัติหน้าที่ของผู้สื่อข่าวระหว่างการรายงานข่าวการประท้วงต่อต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่ โดยสมาคมผู้สื่อข่าวฮ่องกง (HKJA)ระบุว่า ระหว่างการรายงานข่าวการปะทะกันครั้งล่าสุดระหว่างตำรวจกับผู้ชุมนุมต้านกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนเมื่อวันที่ 13 ก.ค.ที่ผ่านมา มีผู้สื่อข่าวอย่างน้อย 4 คน ถูกตำรวจตีหรือผลักด้วยกระบองและโล่ แม้ผู้สื่อข่าวจะแสดงตัวอย่างชัดเจนแล้ว

ขณะที่ผู้สื่อข่าวเดินขบวนไปอยู่ที่หน้าสำนักงานตำรวจ ผู้สื่อข่าวไปอ่านรายละเอียดเหตุการณ์ที่ผู้สื่อข่าวถูกตำรวจระหว่างการรายงานข่าวประท้วง จากนั้น ผู้สื่อข่าวได้ชูบัตรผู้สื่อข่าวของตัวเองขึ้น เพื่อตอบโต้ว่าผู้สื่อข่าวได้แสดงตัวอย่างชัดเจนแล้วว่าชื่อนามสกุลอะไร แต่ตำรวจไม่เคยแสดงบัตรแสดงตัวตนระหว่างการปราบปรามการประท้วง ซึ่งทำให้ผู้ประท้วงและผู้สื่อข่าวไม่สามารถแจ้งความได้ว่าเจ้าหน้าที่คนไหนทำร้ายร่างกายพวกเขา


คริส เหยิ่ง ประธาน HKJA หนึ่งใน 6 องค์กรที่จัดการประท้วงกล่าวว่า ผู้สื่อข่าวต้องคอยรักษาตัวให้ปลอดภัยในสถานการณ์ แต่การคุกคามหลักกลับมาจากเจ้าหน้าที่ตำรวจผู้บังคับใช้กฎหมายอยู่ในพื้นที่เสียเอง แล้วสื่อจะทำหน้าที่เป็นฐานันดรที่ 4 ได้อย่างไร โดยเฉพาะหน้าที่ในการคอยสอดส่องการใช้อำนาจ

เหยิ่งยังวิจารณ์ว่า ในช่วงหลังมานี้ หล่ำมักไปงานต่างๆ โดยไม่แจ้งผู้สื่อข่าว ขณะที่ตำรวจก็มักออกแถลงการณ์หรือปล่อยวิดีโอการประท้วงแทนการแถลงข่าวกับสื่อ ราวกับพยายามจะควบคุมการสื่อสารของรัฐบาล “พวกเขาสร้างความกังวลว่ารัฐบาลกำลังพยายามหลบผู้สื่อข่าวด้วยการหันไปให้ข้อมูลทางเดียว ต้องการเปลี่ยนให้ผู้สื่อข่าวเป็นกระบอกเสียงให้”

การประท้วงใกล้ชายแดนจีนแผ่นดินใหญ่

การประท้วงของผู้สื่อข่าวเป็นเพียงหนึ่งในการประท้วงหลายแห่งในฮ่องกง โดยบริเวณซาถิ่น เขตชายเมืองใกล้กับชายแดนจีนแผ่นดินใหญ่ก็มีการชุมนุมใหญ่ ที่มีการประเมินว่ามีผู้เข้าร่วมการชุมนุมหลายหมื่นคน โดยผู้ชุมนุมประกาศว่าจะเลิกชุมนุม หากรัฐบาลทำตามเงื่อนไขได้ทั้ง 5 ข้อ ได้แก่

1. ถอนกฎหมายส่งผู้ร้ายข้ามแดนให้จีนแผ่นดินใหญ่โดยสิ้นเชิง

2. ถอนคำว่า "จลาจล" ออกจากบันทึกการประท้วงเมื่อวันที่ 12 มิ.ย.ที่ผ่านมา

3. ปล่อยตัวผู้ชุมนุมที่ถูกจับกุมทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไข

4. ตั้งคณะกรรมการอิสระเพื่อสอบสวนพฤติกรรมของตำรวจ

5. ให้สิทธิการเลือกตั้งเสรีโดยไม่ถูกแทรกแซงโดยจีนแผ่นดินใหญ่

ทั้งนี้ การชุมนุมที่ซาถิ่นเกิดการปะทะกันระหว่างตำรวจและผู้ชุมนุมอีกเช่นเดิม ตำรวจได้ใช้สเปรย์พริกไทยและกระบองปราบปรามผู้ประท้วงที่เดินขบวนประท้วงบนถนนคู่ขนานกับถนนที่ขบวนประท้วงหลักเดินกัน

ที่มา : South China Morning Post, Channel News AsiaHong Kong Free Press


ข่าวที่เกี่ยวข้อง: