วันที่ 12 ส.ค. 2565 ที่มณฑลพิธีท้องสนามหลวง สาธิต ปิตุเตชะ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข และรองหัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. กล่าวถึงทิศทางในการประชุมร่วมกันของรัฐสภาเพื่อพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวในวาระที่ 3 ว่าจะเสร็จทันกรอบเวลาหรือไม่
โดย สาธิต ระบุว่า ขึ้นอยู่กับองค์ประชุม เพราะการแก้ไขเหลือเพียง 2 มาตรา และมาตราที่เหลืออยู่ยังไม่ได้พิจารณาเพียง 4 -5 มาตรา หากองค์ประชุมครบ เชื่อว่าภายใน 1 วันก็สามารถพิจารณาได้เสร็จ เพียงแต่ว่าเหมือนทุกพรรคมีความต้องการให้กฎหมายนี้ตกไป เพื่อกลับไปใช้ร่างเดิมที่สำนักงานคณะกรรมการเลือกตั้ง (กกต.) เสนอมา ซึ่งเป็นระบบแบบบัตรเลือกตั้ง 2 ใบ และประชาชนจะได้ประโยชน์มากขึ้นจากหลักการนี้ ก่อนหน้านี้อาจจะเห็นต่างกันแต่เวลานี้เห็นตรงกันแล้ว
สาธิต ยังย้ำว่า โดยส่วนตัวไม่ได้เห็นด้วยกับสูตรคำนวณแบบหาร 500 แต่เป็นหน้าที่ของตนในฐานะกรรมาธิการเสียงข้างน้อย ที่ต้องนำไปแก้ไขให้สอดคล้องกับสูตรคำนวณแบบหาร 500 เพราะเสียงส่วนใหญ่ในสภามีมติให้ปรับแก้มาเช่นนั้น แต่โดยส่วนตัวแล้ว ตนก็เห็นด้วยกับสูตรหาร 100 แน่นอน อย่างไรก็ตาม ต้องขึ้นอยู่กับดุลพินิจของ ส.ส. แต่ละท่าน และแต่ละพรรคการเมือง ในการประชุมวันที่ 15 ส.ค.นี้
สำหรับแนวทางของวิปแต่ละฝ่ายในการเข้าร่วมประชุมวันที่ 15 ส.ค. นั้น วิป 3 ฝ่าย ได้มีการประชุมกันเมื่อวานนี้ แต่ทางวิปรัฐบาลยังไม่ได้แจ้งมติมาว่าจะทำอย่างไร สำหรับมติของพรรคประชาธิปัตย์ ได้ยึดเอาตามการประชุม ส.ส.ครั้งล่าสุด ว่าจะต้องเข้าร่วมประชุมทุกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการพิจารณากฎหมายอะไร แต่จำนวนองค์ประชุมก็ขึ้นอยู่กับดุลพินิจของสมาชิกฯ แต่ละท่านในวันนั้น
เมื่อถามว่าทางพรรคร่วมรัฐบาลได้เห็นตรงกันแล้วว่าจะกลับไปสู่สูตรคำนวณแบบหาร 100 หรือไม่ สาธิต กล่าวว่า ก่อนหน้านี้พรรคร่วมรัฐบาลมีความเห็นตรงกัน แต่วิธีการอาจจะแตกต่างกัน ส่วนพรรคประชาธิปัตย์เลือกใช้วิธีเข้าร่วมการประชุม แม้องค์ประชุมจะไม่ครบ แต่หากว่าองค์ประชุมครบและสามารถพิจารณาเสร็จ ก็จะใช้วิธียื่นให้ กกต. มีความเห็นกลับมายังรัฐสภาเพื่อแก้ไข
"ความเห็นอาจจะต่างกันบ้าง แต่เป้าหมายของพรรคร่วมรัฐบาลตรงกันแล้ว คือสูตรคำนวณ ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ 100 และ ส.ส.แบบแบ่งเขต 400 โดยใช้บัตรเลือกตั้ง 2 ใบ ส.ส.แบบแบ่งเขต และแบบบัญชีรายชื่อ แยกกันอย่างชัดเจน"
ทั้งนี้ สาธิต ยอมรับว่า พรรคเพื่อไทยซึ่งเป็นองค์ประชุมสำคัญ ได้มีความเห็นว่าจะไม่เข้าร่วมเป็นองค์ประชุม ก็ถือเป็นเอกสิทธิของพรรคนั้น ส่วนพรรคการเมืองหรือ ส.ว. ท่านอื่นๆ จะไม่เข้าร่วมองค์ประชุมก็เป็นเอกสิทธิของเขา พร้อมยอมรับว่าการทำสภาล่มซ้ำซาก อาจส่งผลให้ประชาชนมีเสียงตำหนิมาได้ และส่งผลต่อภาพลักษณ์ของสภา แต่ก็ขึ้นอยู่กับการชี้แจงต่อประชาชนให้เข้าใจ
ด้าน ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ตอบคำถามเกี่ยวกับข้อกังวลว่าการประชุมร่วมกันของรัฐสภาในวันที่ 15 ส.ค. นี้ จะสามารถพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ได้เสร็จทันกรอบเวลาหรือไม่ โดยระบุว่า ยังไม่ทราบเลยว่าผลการประชุมจะมีแนวโน้มอย่างไร
ทั้งนี้ ประธานรัฐสภา ได้กล่าวขอบคุณ ส.ว. ที่เลื่อนการประชุมวุฒิสภาในวันดังกล่าวให้ พร้อมขอบคุณทุกฝ่ายที่ช่วยกันเต็มที่ เมื่อผู้สื่อข่าวถามว่ารัฐสภาจะพยายามพิจารณาร่าง พ.ร.ป.ดังกล่าวให้เสร็จทันเวลาใช่หรือไม่ ชวน รับปากว่า จะพยายามทำให้ดีที่สุด
ขณะที่ สุชาติ ชมกลิ่น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน กล่าวถึงกรณีการประชุมร่วมรัฐสภา เพื่อพิจารณาร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. ในวันที่ 15 ส.ค.นี้ ว่า เป็นไปตามดำริของ ชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา สมาชิกฝ่ายนิติบัญญัติก็ต้องคุยกัน
เมื่อถามว่าแนวทางของพรรคร่วมรัฐบาลจะสนับสนุนสูตรคำนวณแบบใด สุชาติ ระบุว่า ตนไม่รู้ คงต้องไปถามวิปรัฐบาล เพราะตนไม่ใช่วิปรัฐบาล หากพิจารณาไม่แล้วเสร็จภายในกรอบเวลาวันที่ 15 ส.ค.นี้ ก็ต้องกลับไปใช้สูตรหาร 100 ตามที่สื่อมวลชนก็ทราบแล้ว