ไม่พบผลการค้นหา
กรรมาธิการสิทธิมนุษยชนเยอรมนีระบุว่า การกลับมาประหารชีวิตนักโทษอีกครั้งของไทย หลังระงับไปเกือบ 9 ปี ถือเป็นการก้าวถอยหลังและเป็นสัญญาณที่น่ากลัว

นายแบร์เบล คอฟเลอร์ กรรมาธิการด้านนโยบายสิทธิมนุษยชนของเยอรมนี ออกแถลงการณ์เกี่ยวกับกรณีที่ไทยประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ หลงจิ วัย 26 ปี และเผยแพร่บนเว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนี โดยนายคอฟเลอร์กล่าวว่า เขารู้สึกตกใจอย่างมากที่ได้ทราบข่าวเกี่ยวกับการประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ในประเทศไทย

นายคอฟเลอร์ระบุว่า รัฐบาลไทยเพิ่งยืนยันว่าจะยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางพฤตินัยภายใต้กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศให้สำเร็จ หลังจากที่ไม่มีการประหารชีวิตมาเกือบ 9 ปีแล้ว การกลับมาประหารชีวิตจึงเป็นการก้าวถอยหลังที่น่าเสียดาย และเป็นสัญญาณที่น่าสะพรึงกลัว

สหประชาชาติกำหนดว่า ประเทศที่ไม่ประหารชีวิตนักโทษเกิน 10 ปีจะถือว่าเป็นประเทศที่ยกเลิกโทษประหารชีวิตในทางพฤตินัยภายใต้กฎหมายจารีตประเพณีระหว่างประเทศ ซึ่งกรณีของไทย ไม่มีการประหารชีวิตมาตั้งแต่เดือนส.ค. ปี 2552

ในแถลงการณ์ นายคอฟเลอร์ยังระบุว่า ขอให้ระลึกว่ามีคนที่ต้องโทษประหารชีวิต 516 คนในประเทศไทย และขอเรียกร้องไปยังผู้ที่มีส่วนรับผิดชอบให้ระงับไม่ให้มีการประหารชีวิตคนอื่นอีก เนื่องจากโทษประหารเป็นการลงโทษที่ไร้มนุษยธรรมและลดทอนศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ และการศึกษาหลายชิ้นแสดงให้เห็นว่าโทษประหารไม่มีผลให้คนหยุดยั้งการก่ออาชญากรรมได้

ยิ่งไปกว่านั้น การยืนยันว่าจะไม่มีการตัดสินที่ผิดพลาดเกิดขึ้นเลยนั้นเป็นไปไม่ได้ หากจำเลยถูกประหารชีวิตไปแล้ว ผลที่ตามมาก็ไม่อาจแก้ไขได้ พร้อมย้ำว่า โทษประหารชีวิตย้อนแย้งกับหลักการเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์

นอกจากนี้ เว็บไซต์ของกระทรวงต่างประเทศของเยอรมนียังเผยแพร่ข้อมูลว่า คดีที่มีการตัดสินโทษประหารชีวิตมีจำนวนเพิ่มขึ้นในช่วงรัฐบาลทหารชุดปัจจุบัน และโทษประหารก็ถูกนำมาใช้ใน 63 ข้อหา ซึ่งการมีบทลงโทษประหารชีวิตในหลายคดีเช่นนี้ แสดงให้เห็นว่า ไทยกำลังตีตัวออกห่างจากเทรนด์ของโลกที่ยกเลิกโทษประหารกัน โดย 2 ใน 3 ของประเทศทั้งหมดทั่วโลกได้ยกเลิกโทษประหารไปแล้ว แรงผลักดันนี้ต้องถูกนำไปใช้กับประเทศที่ยังไม่ยกเลิกโทษประหาร เช่น ไทย

รัฐบาลเยอรมนีและสหภาพยุโรปจึงจะรณรงค์อย่างแข็งขัน เพื่อให้มีการยกเลิกโทษประหารทั่วโลก

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: