ไม่พบผลการค้นหา
อ่าน-ฟังจากหลายฟากมุมมองความคิดของประชาชนต่อกรณีการประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาด คดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ ในกระแสออนไลน์ และความเห็นจากผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย ที่ไม่เห็นด้วยกับโทษประหาร แต่ยืนยันไม่ได้เข้าข้างผู้กระทำผิด

จากกรณีที่กรมราชทัณฑ์เผยแพร่ข่าว "ราชทัณฑ์ประหารชีวิตนักโทษเด็ดขาด คดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ" โดย พ.ต.อ. ณรัชต์ เศวตนันทน์ อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยว่า เมื่อเวลา 15.00 - 18.00 น. ของวันที่ 18 มิ.ย. 2561 กรมราชทัณฑ์ดำเนินการบังคับโทษตามคำพิพากษาของศาลด้วยการประหารชีวิต นักโทษเด็ดขาดชานธีรศักดิ์ หลงจิ อายุ 26 ปี เหตุเกิดที่จังหวัดตรัง ในวันที่ 17 ก.ค. 2555 นักโทษเด็ดขาดได้ทำร้ายและบังคับให้เอาทรัพย์สิน รวมทั้งใช้มีดแทงผู้ตายรวม 24 แผล เป็นเหตุให้เหยื่อถึงแก่ความตาย ศาลชั้นต้น พิพากษาประหารชีวิต ศาลอุทธรณ์และศาลฎีกายืนเป็นผลให้คดีถึงที่สุด

อย่างไรก็ตาม อธิบดีกรมราชทัณฑ์ เปิดเผยอีกว่า นับตั้งแต่ปี พ.ศ. 2478 ถึงปัจจุบันมีการบังคับใช้โทษประหารชีวิตมาแล้ว 325 ราย โดยการประหารชีวิตของนักโทษเด็ดขาดชายรายนี้ถือเป็นรายแรกในรอบ 9 ปี ของประเทศไทย ตั้งแต่มีการประหารชีวิตรายล่าสุดเมื่อวันที่ 24 ส.ค. 2552

เตียง-ประหารชีวิต-ฉีดยาตาย-ฟิลิปปินส์-AFP

ภายหลังที่ข่าวดังกล่าวถูกรายงานโดยสำนักข่าวต่างๆ โลกออนไลน์ โดยผู้ใช้เฟซบุ๊ก และทวิตเตอร์ ต่างร่วมกันแสดงความคิดเห็นเกี่ยวกับโทษประหารดังกล่าว เริ่มจากเพจอีเจี๊ยบ เลียบด่วน แสดงความคิดเห็นไว้ว่า ส่วนตัวโอเคกับข่าวที่ว่านี้ และอย่างแรกคือประเทศไทยยังมีโทษประหารชีวิตอยู่ มีการตัดสินประหารอยู่เรื่อยๆ แต่ไม่ได้ลงมือประหารจริง ซึ่งส่วนตัวก็ไม่โอเคกับการประหารที่มาจากความโกรธแค้น ความสะใจ เพียงแค่ไม่อยากอยู่ร่วมกับผู้กระทำผิดร้ายแรงเหล่านี้ และจะแน่ใจได้อย่างไรว่ากลุ่มคนเหล่านี้จะไม่ออกมากระทำผิดอีก 

ด้าน นายเกิดผล แก้วเกิด ทนายความ โพสต์ข้อความในเฟซบุ๊กส่วนตัวว่า ไม่ได้ยินดีกับความตายของนักโทษประหาร แต่ยินดีที่การบังคับใช้กฎหมายตามคำพิพากษา ว่ายังคงศักดิ์สิทธิ์ และบังคับใช้โทษประหารยังคงมีไว้เช่นเดิม

ขณะที่องค์กรด้านสิทธิมนุษยชนอย่าง แอมแนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล และ สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ หรือ UNOHCHR เคลื่อนไหวด้วยการออกแถลงการณ์ต่อต้านการนำโทษประหารชีวิตกลับมาใช้ของทางการไทย พร้อมบอกด้วยว่าเป็นการกระทำที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ 

P6190032.JPG

นายโคทม อารียา ที่ปรึกษาสถาบันสิทธิมนุษยชนและสันติศึกษา มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า การใช้โทษประหารของทางการไทยในรอบ 9 ปี จนแอมเนสตี้ฯ ออกมาประนามนั้น เป็นเรื่องน่าเสียดายของประเทศไทย ที่ในทางปฏิบัติไม่มีการประหารมาแล้ว 9 ปีติดต่อกัน พอเกิดเรื่องนี้ขึ้นไทยจะถูกลดชั้นลงไปอีก ต้องเริ่มนับหนึ่งใหม่ (ที่มา : ข่าวสด) เช่นเดียวกับ นางอังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ แสดงความเห็นไว้ว่า ตัวเองมองว่าโทษประหารไม่ได้ทำให้อาชญากรรมลดลง และยังมีคนเคยบอกว่าถ้าคนผิดถูกจับได้และโดนโทษประหารชีวิต ต่อไปคนทำผิดอาจจะฆ่าเหยื่อเพื่อปิดปากความผิดได้ อย่างไรก็ตามในทางกฎหมายก็ดำเนินต่อไป แต่ทางสิทธิมนุษยชนนั้นคือการเคารพในการมีชีวิตอยู่ การไม่ทำลายชีวิต แต่ข้อกฎหมายและสิทธิบางอย่างยังไม่สอดคล้องกัน จึงมีข้อเสนอเรื่องดังกล่าวต่อไปยังคณะรัฐมนตรีต่อไป (ที่มา : ข่าวสด)

ด้านชาวโซเชียลหรือประชาชนทั่วไป แสดงความคิดเห็นต่อกรณีการประหารชีวิต (ภายใต้แฮชแท็ก #ประหารชีวิต) นี้ไว้ว่า เรื่องโทษประหารนี้เห็นด้วย แต่ก็ไม่เห็นด้วย ถ้าระบบของเรายังมีแพะมากมาย บางคดีพอสรุปได้ว่าไม่ใช่แพะแน่นอน ดังนั้น ควรพิจารณาเป็นกรณีไป บางคนเห็นด้วยกับการลงโทษประหาร แต่ด้วยความเหลื่อมล้ำด้านกระบวนการยุติธรรมไทย สิ่งที่น่ากลัวคือไม่ใช่การประหารคนผิด แต่สิ่งที่น่ากลัวคือการประหารผิดคน 

นางปิยนุช โคตรสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย กล่าวถึงการประหารชีวิตในประเทศไทยว่า ไม่เห็นด้วยกับการมีอยู่ของโทษดังกล่าว แต่เห็นด้วยกับการลงโทษคนผิด และยังมองว่ากฎหมายนั้นใช้เพื่อป้องปราบ ไม่ใช่การบังคับใช้เพื่อความสะใจ นอกจากนี้ยังเสนอทางเลือก นอกจากโทษประหารแล้วอยากให้มีการแก้ปัญหาเป็นระบบ กระบวนการยุติธรรมแบบสมานฉันท์ ทำงานร่วมกับครอบครัวผู้เสียหาย และผู้ต้องหา ว่าจะทำอย่างไรเพื่อไม่ให้ผู้ต้องหาออกมากระทำความผิดอีก และภาครัฐต้องช่วยด้วย เพื่อให้เกิดเป็นรูปธรรม 

แอมเนสตี้.JPG

ปิยนุช โคตรสาร ผอ.แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย

ส่วนกระแสโซเชียลที่มองว่า กลุ่มองค์กรเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนต่างๆ มุ่งเข้าข้างผู้กระทำผิดนั้น นางปิยนุช กล่าวว่า ขอยืนยันไม่ได้เข้าข้างคนผิด แต่อยากให้ปรับเปลี่ยนกระบวนการวิธีการลงโทษมากกว่า เพราะโทษประหารไม่ได้ช่วยลดการก่ออาชญากรรม และที่ผ่านมาช่องว่างของกระบวนการยุติธรรมเป็นอีกปัญหาหนึ่งเช่นกัน เนื่องจากจากการเก็บข้อมูลพบว่า ผู้ต้องหาส่วนใหญ่มีฐานะทางบ้านยากจน หรือระหว่างทางการพิจารณาคดีเกิดข้อมูลเท็จ หรือหลักฐานเท็จ อีกทั้งยังไม่มีกำลังทรัพย์ในการว่าจ้างทนายความเพื่อทำคดีให้ และหวังว่าต่อไปภาครัฐจะไม่มีการประหารเกิดขึ้นอีก แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชันแนล ประเทศไทย ยังยินดีทำงานร่วมกับภาครัฐในการยุติโทษประหารนี้อยู่

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง