ไม่พบผลการค้นหา
นักกิจกรรมจาก 'แอมเนสตี้ ประเทศไทย' เรียกร้องรัฐบาลไทยหยุดใช้โทษประหารชีวิต ชี้การใช้ความรุนแรงไม่สามารถแก้ปัญหาอาชญากรรม ขณะที่นายกฯ ย้ำฝ่ายหนุนโทษประหาร เพื่อให้บ้านเมืองสงบสุข แต่ยูเอ็นระบุ การใช้โทษประหารต่อไปจะเข้าข่ายผิดสัญญาที่มีต่อประชาคมโลก

นักกิจกรรมและอาสาสมัครของแอมเนสตี้ ประเทศไทย รวมตัวจัดกิจกรรมเพื่อไว้อาลัยนักโทษที่ถูกประหารชีวิต บริเวณด้านหน้าเรือนจำบางขวาง ด้วยการใส่เสื้อดำ ถือป้ายข้อความแสดงเชิงสัญลักษณ์ พร้อมด้วยการวางดอกไม้และเทียนเพื่อไว้อาลัย

นางปิยะนุช โครตสาร ผู้อำนวยการแอมเนสตี้ ประเทศไทย กล่าวถึงวัตถุประสงค์ในการทำกิจกรรมครั้งนี้ ว่า แอมเนสตี้ไม่เห็นด้วยกับการกระทำรุนแรงของผู้กระทำความผิด อย่างไรก็ตาม เห็นว่าบทลงโทษประหารชีวิตไม่สามารถแก้ปัญหาอาชญากรรมรุนแรงได้ เพราะสองในสามทั่วโลกได้ยุติบทลงโทษประหารชีวิตแล้ว แต่ประเทศไทยยังมีบทลงโทษดังกล่าว ที่ถือว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิมนุษยชน

โดยที่ผ่านมาการใช้โทษประหารชีวิตไม่มีหลักฐานยืนยันว่าจะยับยั้งอาชญากรรมที่เกิดขึ้นได้ จึงต้องตั้งคำถามว่าสิ่งที่รัฐได้กระทำถูกต้องแล้วหรือไม่ ยืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับความรุนแรง แต่การทำใช้บทลงโทษประหารชีวิต ไม่ใช่สิ่งเดียวที่จะเป็นทางเลือกเดียวในการลงโทษ ที่จะยุติอาชญากรรมที่รุนแรง 

P6190025.JPG

ขณะที่เหตุการณ์ความรุนแรงที่เกิดขึ้นต้องขอแสดงความเสียใจต่อครอบครัวของเหยื่อ แต่ในมุมมองของเรายืนยันว่าไม่เห็นด้วยกับโทษประหารชีวิต เพราะเป็นการละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นรุนแรง 

"การประหารชีวิตเป็นการใช้ความรุนแรงเพื่อแก้ปัญหารุนแรง เรามองว่ามันไม่ใช่คำตอบ"

นอกจากนี้กลไกกระบวนการยุติธรรมต้องมีความโปร่งใสตรวจสอบได้ และในกระบวนการสอบสวนต้องให้ความเป็นธรรมและมีแผนเยียวยาเท่าเทียมกับทุกฝ่าย

ขณะเดียวกัน แคทเธอรีน เกอร์สัน เจ้าหน้าที่ฝ่ายรณรงค์ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ของแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ได้ให้ความเห็นต่อกรณีประหารชีวิตชายอายุ 26 ปีในคดีฆ่าผู้อื่นอย่างทารุณ ซึ่งนับเป็นการประหารชีวิตครั้งแรกในประเทศนับแต่เดือน ส.ค. 2552 ว่า เรื่องนี้นับเป็นการละเมิดสิทธิที่จะมีชีวิตรอดอย่างน่าละอาย เป็นเรื่องน่าตกใจที่ประเทศไทยละเมิดต่อพันธกิจที่เคยประกาศไว้ว่า จะเดินหน้าไปสู่การยกเลิกโทษประหาร และการปกป้องสิทธิที่จะมีชีวิตรอด ทั้งยังเป็นการทำตัวไม่สอดคล้องกับกระแสโลก ซึ่งกำลังมุ่งหน้าออกจากโทษประหาร

ไม่มีหลักฐานใดๆ ว่าโทษประหารจะส่งผลให้บุคคลยั้งคิดก่อนกระทำความผิดอย่างชัดเจน การที่ทางการไทยคาดหวังว่ามาตรการเช่นนี้จะช่วยลดการก่ออาชญากรรม จึงเป็นความเข้าใจผิดอย่างยิ่ง โทษประหารนับเป็นการลงโทษที่โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และย่ำยีศักดิ์ศรีมากสุด ทั้งไม่ได้เป็น “คำตอบสำเร็จรูป” ที่ช่วยแก้ปัญหาที่ทางการต้องการแก้ไขอย่างรวดเร็ว

ยูเอ็นร่วมต้านโทษประหารชีวิตในไทย

ด้าน สำนักงานข้าหลวงใหญ่เพื่อสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (UNOHCHR) เป็นอีกหนึ่งองค์กรที่คัดค้านการประหารชีวิตนายธีรศักดิ์ หลงจิ

บัญชีทวิตเตอร์ @OHCHRAsia ระบุว่า การนำบทลงโทษประหารชีวิตกลับมาใช้อีกครั้ง ขัดแย้งกับคำมั่นสัญญาและพันธกิจที่รัฐบาลไทยเคยให้ไว้กับประชาคมโลก จึงอยากขอให้ไทยดำเนินมาตรการต่างๆ เพื่อนำไปสู่การยกเลิกโทษประหารชีวิตในที่สุด

นายกฯ ยกฝ่ายหนุนโทษประหารใช้เพื่อบ้านเมืองสงบสุข

ขณะที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงองค์กรระหว่างประเทศออกมาเรียกร้องให้ไทยยกเลิกโทษประหารชีวิต ว่า เรื่องนี้โทษการประหารชีวิตไทยยังมีอยู่ ซึ่งความคิดเห็นของประชาชนส่วนใหญ่ ในช่วงที่มีแนวคิดว่าจะยกเลิกหรือไม่ยกเลิกโทษประหารชีวิต ก็ยังมีเห็นว่าควรให้มีอยู่ ในกฏหมายและในขั้นตอนของกระบวนการยุติธรรม บังคับใช้ในคดีร้ายแรง เพื่อให้บ้านเมืองมีความสงบสุข และเป็นบทเรียนสอนใจด้วย

อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง