การประหารชีวิตผู้ต้องหารายแรกในรอบ 9 ปีของกรมราชทัณฑ์ ทำให้ไทยพ้นสถานะประเทศที่รอการยกเลิกโทษประหาร และองค์กรด้านสิทธิมนุษยชน แอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล ออกมาเคลื่อนไหวต่อต้านกรณีดังกล่าว แต่ก็ต้องเจอกระแสตอบโต้กลับอย่างรุนแรงจากกลุ่มผู้สนับสนุนโทษประหาร ซึ่งไม่เห็นด้วยกับการคุ้มครองสิทธิฯ ของผู้ก่อคดีอุกฉกรรจ์ เพราะมองว่าการประหารชีวิตจะช่วยให้คนในสังคมเกิดความเกรงกลัว ไม่เอาเป็นเยี่ยงอย่าง และจะช่วยลดจำนวนอาชญากรได้
อย่างไรก็ดี สำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNOHCHR) ประจำภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ซึ่งไทยเป็นประเทศภาคี เป็นอีกหนึ่งองค์การระหว่างประเทศที่ไม่เห็นด้วยกับการประหารชีวิตในครั้งนี้ โดยที่ผ่านมา OHCHR สนับสนุนการป้องกัน 'สาเหตุแรกเริ่ม' ที่ผลักดันให้คนก่ออาชญากรรม และระบุว่าบทลงโทษที่รุนแรงไม่ช่วยป้องกันอาชญากรรมในระยะยาวได้เท่ากับการฟื้นฟูผู้ต้องหาไม่ให้กระทำผิดซ้ำ และจะต้องเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอาชญากรรมต่างๆ ไปพร้อมกันด้วย
สังคมรู้อะไรเกี่ยวกับ 'นักโทษประหาร' รายล่าสุด
ผู้ใช้สื่อโซเชียลบางรายเข้าใจว่า 'ธีรศักดิ์ หลงจิ' วัย 26 ปี นักโทษเด็ดขาดในคดีฆ่าชิงทรัพย์ ซึ่งถูกประหารชีวิตรายล่าสุด และถือเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปีของไทย เป็นรายเดียวกับผู้ก่อเหตุฆ่า 'วศิน เหลืองแจ่ม' บัณฑิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ (มศว) เพื่อชิงไอโฟนเมื่อปี 2560 แต่ที่จริงแล้วทั้งสองคดี 'ไม่เกี่ยวข้องกัน' เพราะคดีชิงไอโฟนนั้น ศาลพิพากษาลงโทษ 'จำคุกตลอดชีวิต' แก่ผู้ก่อเหตุ
คดีของธีรศักดิ์ หรือ 'มิก' หลงจิ ซึ่งถูกกรมราชทัณฑ์ลงโทษประหารชีวิตด้วยการฉีดยาพิษเมื่อวันที่ 18 มิ.ย. ที่ผ่านมา เกิดจากการฆาตกรรม 'ดนุเดช สุขมาก' นักเรียนชั้น ม.5 เมื่อปี 2555 ขณะที่ธีรศักดิ์มีอายุ 19 ปี โดยเหตุเกิดขึ้นที่สวนสาธารณะแห่งหนึ่งใน จ.ตรัง ผู้ตายถูกแทงด้วยมีด รวม 24 แผล และผู้ก่อเหตุได้ลักโทรศัพท์กับกระเป๋าเงินไปด้วย แต่ตำรวจติดตามไปจับกุมและดำเนินคดีธีรศักดิ์ในข้อหาฆ่าชิงทรัพย์ได้ในเวลาต่อมาไม่นาน ทั้งยังผ่านการพิจารณาจาก 3 ศาลจนคดีถึงที่สุด
ผู้ใช้สื่อโซเชียลที่ทราบข้อมูลชัดเจนเกี่ยวกับคดีธีรศักดิ์ ยังคง 'สนับสนุน' โทษประหารชีวิต โดยส่วนใหญ่มองว่าเป็นบทลงโทษที่สมควรกับการก่อเหตุ เช่นเดียวกับแถลงการณ์ของกรมราชทัณฑ์ที่ยืนยันว่า การประหารชีวิตธีรศักดิ์คือการปกป้องสังคมและพลเมืองส่วนใหญ่ให้พ้นจากการตกเป็นเหยื่ออาชญากรรม แทนที่จะมุ่งเน้น 'สิทธิเสรีภาพของปัจเจกบุคคลที่กระทำผิดกฎหมาย' พร้อมอ้างอิงสหรัฐอเมริกาและจีนที่ยังมีบทลงโทษประหารชีวิตอยู่เช่นกัน
"กรมราชทัณฑ์หวังว่า การประหารชีวิตในครั้งนี้จะเป็นอุทาหรณ์ให้ผู้ที่คิดจะก่ออาชญากรรมร้ายแรงหรือกระทำผิดกฎหมายได้ยั้งคิดถึงบทลงโทษนี้"
สื่อกระแสหลักหลายสำนักรายงานว่า ธีรศักดิ์ได้ร่วมกันก่อเหตุฆ่าชิงทรัพย์กับเพื่อนอีกรายหนึ่ง ซึ่งทั้งคู่มีประวัติในคดีอาญาอื่นๆ มาก่อน รวมถึงคดียาเสพติด และครอบครองอาวุธปืน แต่ผู้ที่ร่วมก่อเหตุกับธีรศักดิ์ยังไม่ถูกจับกุมหรือควบคุมตัวแต่อย่างใด
ประหารชีวิตไปแล้ว แต่คดีจริงๆ 'ยังไม่จบ'
'ข่าวสด' เผยแพร่บทสัมภาษณ์ทั้งครอบครัวของธีรศักดิ์ หลงจิ ผู้ถูกประหารชีวิต และครอบครัวของ ดนุเดช สุขมาก วัยรุ่นอายุ 17 ปี ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อในคดีฆ่าชิงทรัพย์ดังกล่าว โดยมารดาของธีรศักดิ์ระบุว่าลูกชายยืนยันมาตลอดว่าตัวเอง "ไม่ได้ทำ" ขณะที่มารดาของดนุเดช ระบุว่า การลงโทษผู้กระทำผิดทำให้รู้สึกว่า "ได้รับความเป็นธรรม" หลังจากที่รอมานาน 6 ปี แต่ขณะเดียวกันก็อยากให้เจ้าหน้าที่ติดตามผู้ร่วมก่อเหตุอีก 1 รายมาดำเนินคดีด้วย
ขณะที่ 'วอยซ์ ออนไลน์' ได้สอบถามไปยัง พ.ต.ท. ประเสริฐ สงแสง รอง ผกก. (สอบสวน) สภ. เมืองตรัง ผู้เป็นเจ้าของคดี ได้รับการยืนยันว่า ธีรศักดิ์เคยถูกจับกุมดำเนินคดี 6 ครั้ง รวมถึงข้อหาฆ่าและชิงทรัพย์เมื่อปี 2555 ซึ่งเป็นเหตุให้เขาถูกลงโทษประหารชีวิต ส่วนคดีที่ถูกจับกุมก่อนหน้าเป็นคดียาเสพติดและครอบครองอาวุธปืน แต่เป็นการก่อเหตุในขณะยังเป็นเยาวชน จึงไม่มีบทลงโทษเทียบเท่าผู้ใหญ่
ส่วนการสอบสวนคดีที่ระบุว่ามีผู้ร่วมก่อเหตุพร้อมกับธีรศักดิ์ ยังดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน โดยอาศัยข้อมูลจากพยานที่อยู่ในที่เกิดเหตุ ซึ่งเป็นคนสนิทของผู้ตาย และเป็นผู้เดียวที่เห็นเหตุการณ์ดังกล่าว ประกอบกับที่เกิดเหตุบริเวณสวนสาธารณะใน จ.ตรัง "ไม่มีกล้องวงจรปิด" จึงไม่สามารถตรวจสอบข้อมูลแวดล้อมอื่นๆ ได้
"ต้องเข้าใจว่าในต่างจังหวัด ไม่ได้มีกล้องวงจรปิดเหมือนในเขตเมือง การจะสืบคดีต้องอาศัยปากคำของพยานในเหตุการณ์ เมื่อเจ้าหน้าที่ขอให้มีการชี้ตัว แต่พยานไม่ชี้ ตำรวจก็ไม่สามารถจะเอาผิดดำเนินคดีโดยที่ไม่มีหลักฐานได้"
อย่างไรก็ตาม พ.ต.ท. ประเสริฐ ย้ำว่า เจ้าหน้าที่ตำรวจไม่ได้นิ่งนอนใจ และยังคงติดตามสอบสวนคดีอย่างใกล้ชิด แต่ต้องเข้าใจว่า 'พยานผู้เห็นเหตุการณ์' ก็เป็นคนที่อาศัยอยู่ในชุมชนที่เกิดเหตุ จำเป็นต้องได้รับการคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ และต้องดำเนินคดีอย่างระมัดระวัง จึงทำให้ดูเหมือนคดีดำเนินไปอย่างล่าช้า
เป้าหมาย 'ลดคดีอาชญากรรม' ต้องใช้มากกว่า 'โทษประหารชีวิต'
แม้กรมราชทัณฑ์จะเป็นผู้รับผิดชอบดำเนินการ 'ฉีดยา' ประหารธีรศักดิ์ แต่ขณะเดียวกันก็เป็นหน่วยงานรับผิดชอบเรื่องการฟื้นฟูเยียวยานักโทษกลับคืนสู่สังคมด้วย โดยตลอดหลายปีที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์ได้พยายามผลักดันให้เกิดกระบวนการป้องกัน ฟื้นฟู และเยียวยา เพื่อลดจำนวนคดีและผู้ต้องขังในเรือนจำ รวมถึงลดการกลับไปกระทำผิดซ้ำของผู้ที่พ้นโทษไปแล้ว
ทั้งนี้ ข้อมูลสถิติของกรมราชทัณฑ์บ่งชี้ว่า ผู้ต้องขังส่วนใหญ่ที่อยู่ในเรือนจำทั่วประเทศถูกดำเนินคดีเกี่ยวกับยาเสพติด มีทั้งผู้เสพ ผู้ค้า แต่ในหลายกรณีพบว่า ผู้ถูกดำเนินคดีเป็นหนึ่งในเหยื่อที่ถูกล่อลวงเข้าสู่ขบวนการอาชญากรรม โดยมีต้นตอจากปัญหาความยากจนและขาดโอกาสในการประกอบอาชีพ
ที่ผ่านมา กรมราชทัณฑ์พยายามอบรมฝึกอาชีพผู้ต้องขังอยู่ในเรือนจำ เพื่อเพิ่มโอกาสในการทำมาหาเลี้ยงชีพหลังพ้นโทษ แต่ก็ยังมีอุปสรรคสำคัญ คือ ผู้ที่พ้นโทษส่วนใหญ่ ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในสังคม เพราะผู้ที่ต้องโทษในคดีอาญา แม้จะกลับตัวกลับใจแล้ว ก็มักจะถูกมองด้วยความหวาดระแวง ไม่สามารถหางานทำเป็นหลักแหล่งได้ จนในที่สุดก็ต้องกลับไปสู่วังวนการก่ออาชญากรรมตามเดิม
ส่วนกรณีของ 'ธีรศักดิ์' พบว่าเคยมีทั้งประวัติเกี่ยวกับคดียาเสพติดตั้งแต่ยังเป็นเยาวชน จึงจำเป็นต้องหาทางแก้ไขปัญหาและป้องกันไม่ให้เยาวชนคนอื่นๆ ถูกดึงเข้าสู่ขบวนการค้ายาเสพติดและการก่ออาชญากรรมเช่นเดียวกับธีรศักดิ์ โดยอาจจะทำควบคู่ไปกับการใช้บทลงโทษในคดีอาญาต่างๆ เช่นเดียวกับที่จะต้องคำนึงถึงการวางระบบรักษาความปลอดภัยของชุมชน เช่น ติดตั้งกล้องวงจรปิด หรือเพิ่มกำลังเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ห่างไกลเขตเมือง ดังตัวอย่างที่ พ.ต.ท. ประเสริฐ ระบุเอาไว้
ไม่สนับสนุนโทษประหาร เพราะโลกนี้ยังมี 'แพะ'
การประหารชีวิต 'ธีรศักดิ์' ได้รับการสนับสนุนจากคนจำนวนมากในสังคมไทย ทั้งยังทำให้มีการเรียกร้องบทลงโทษประหารชีวิตกับผู้ก่อเหตุอุกฉกรรจ์อื่นๆ ด้วย แต่รายงาน Moving Away from Death Penalty ของ OHCHR ซึ่งเผยแพร่เมื่อปี 2558 ระบุว่า เหตุผลสำคัญประการหนึ่งที่ทำให้หลายองค์กรและรัฐบาลอีกหลายประเทศต่อต้านการลงโทษประหารชีวิต เพราะไม่อาจแน่ใจได้ว่า กระบวนการดำเนินคดีและลงโทษผู้ถูกตัดสินความผิดจะถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์
หลายประเทศยังมีข้อจำกัดเรื่องการเก็บรวบรวมหลักฐานหรือการสืบพยาน เช่นเดียวกับปัญหาผู้มีอิทธิพลส่งผลต่อการดำเนินคดี อาจทำให้มีการ 'จับผิดตัว' หรือใส่ร้ายป้ายสีผู้บริสุทธิ์ OHCHR และแอมเนสตี้ อินเตอร์เนชั่นแนล จึงมองว่า การป้องกันผู้บริสุทธิ์ไม่ให้ถูกลงโทษผิดตัว มีความจำเป็นเทียบเท่ากับการรักษาความปลอดภัยของสังคม เช่นเดียวกับที่การลงโทษผิดตัวจะทำให้ผู้ก่อเหตุตัวจริงลอยนวลและมีโอกาสทำผิดซ้ำได้
ด้วยเหตุนี้ การเลิกบังคับใช้โทษประหารชีวิตจึงเป็นกลไกหนึ่งที่จะช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการ 'ประหารผิดคน' และอีกสิ่งหนึ่งที่ต้องทำควบคู่กัน คือ การเยียวยาความรู้สึกของผู้ถูกกระทำ รวมถึงครอบครัวของผู้ได้รับผลกระทบในคดีอุกฉกรรจ์ ไม่ให้นำไปสู่การตั้งศาลเตี้ยตอบโต้กันด้วยความรุนแรง
บทลงโทษที่ 'สาสม' ไม่ได้มีแค่การประหารชีวิต
จากการสำรวจข้อมูลในอีกหลายประเทศสมาชิกสหประชาชาติ พบว่าการประหารชีวิตไม่ได้ช่วยให้ผู้เสียหายรู้สึกว่าได้รับความเป็นธรรมเสมอไป โดยรายงานของ OHCHR ได้เผยแพร่บทสัมภาษณ์ครอบครัวผู้เสียชีวิตและผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุลอบวางระเบิดการแข่งขัน 'บอสตันมาราธอน' ของสหรัฐฯ ในปี 2558 ซึ่งทำให้มีผู้เสียชีวิต 3 ราย และบาดเจ็บอีกนับร้อยราย ถือเป็นการก่อการร้ายที่รุนแรงที่สุดในสหรัฐฯ หลังเกิดเหตุวินาศกรรม 9/11 เมื่อเดือนกันยายน 2544 เป็นต้นมา
กระบวนการพิจารณาคดีดังกล่าวในสหรัฐฯ เปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบและครอบครัวผู้เสียชีวิตสะท้อนความรู้สึกของตัวเองผ่านขั้นตอนในชั้นศาลด้วย โดยผู้ได้รับผลกระทบหลายรายสนับสนุนบทลงโทษประหารชีวิต 'โจการ์ ซาร์นาเยฟ' หนึ่งใน 2 ผู้ร่วมก่อเหตุวางระเบิดบอสตันมาราธอน แต่อีกหลายรายสนับสนุนให้ใช้บทลงโทษ 'จำคุกตลอดชีวิต' แทน โดยให้เหตุผลว่า "การตายนั้นสิ้นสุดเร็วเกินไป"
ผู้ได้รับผลกระทบบางรายให้เหตุผลด้วยว่า การลงโทษจำคุกตลอดชีวิตจะทำให้ซาร์นาเยฟใช้เวลาตลอดชีวิตที่เหลือในการไตร่ตรองความผิดของตัวเอง และสังคมอาจจะมีโอกาสได้เรียนรู้เหตุผลเบื้องหลังการลงมือก่อเหตุของซาร์นาเยฟด้วย ซึ่งในความเห็นของพวกเขา "วิธีนี้ดีกว่าการลงโทษประหารชีวิต"
ด้วยเหตุนี้ สิ่งที่จำเป็นในกระบวนการยุติธรรมไทย นอกเหนือไปจากการลงโทษผู้กระทำผิด ยังจะต้องมีการเยียวยาฟื้นฟูความรู้สึกของผู้ได้รับผลกระทบจากแต่ละคดีด้วย ซึ่งในกรณีของ 'ธีรศักดิ์' แม้ครอบครัวผู้ได้รับผลกระทบจะรู้สึกว่า 'ได้รับความยุติธรรมแล้ว' แต่ก็อยากให้ผู้ร่วมก่อเหตุกับธีรศักดิ์ถูกดำเนินคดีเช่นกัน หากผู้ร่วมก่อเหตุถูกปล่อยลอยนวลพ้นผิดต่อไป อาจทำให้เกิดความรู้สึกว่า 'ไม่ได้รับความเป็นธรรม' ขึ้นมาอีกครั้ง
ขณะเดียวกัน การเรียนรู้จากผู้ก่อเหตุ อาจจะนำไปสู่การป้องกันและลดความเสี่ยงในการก่ออาชญากรรมได้ในอนาคต
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: