จากกรณีที่ สมบัติ บุญงามอนงค์ หรือ บก.ลายจุด ผู้ก่อตั้งพรรคเกรียน ได้โพสต์เฟซบุ๊กชวนพรรคเพื่อไทย ร่วมกิจกรรมกินแมคโดนัลด์ ที่แยกราชประสงค์ วันครบรอบ 8 ปี สลายการชุมนุมคนเสื้อแดง
ล่าสุดเมื่อเวลา 12.30 น. ผู้สื่อข่าวรายงานบรรยากาศบริเวณหน้าร้านแมคโดนัลด์สาขาศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า ว่า ทางร้านแมคโดนัลด์ได้นำกระดาษขนาด A4 มาติดไว้ที่ด้านหน้าของร้านพร้อมกับข้อความระบุว่า “แมคโดนัลด์ปิดให้บริการในวันเสาร์ที่ 19 พฤษภาคม 2561 เวลา 15.00 - 20.00 น.ตามคำแนะนำของศูนย์การค้าอัมรินทร์ พลาซ่า ขออภัยในความไม่สะดวก”
ศูนย์การค้าฯ ขอความร่วมมือให้ร้าน 'ปิดบริการ'
ทั้งนี้ ทีมข่าววอยซ์ ออนไลน์ได้สอบถามไปยังฝ่ายสื่อสารองค์กร บริษัทแมคไทย จำกัด โดยเจ้าหน้าที่ระบุว่าจากการสอบถามไปยังร้านแมคโดนัลด์ สาขาอัมรินทร์ พลาซ่า ทางร้านไม่ได้มีความประสงค์ที่จะปิดบริการ แต่เนื่องจากทางศูนย์การค้าได้ขอความร่วมมือมา จึงจำเป็นต้องปิดให้บริการในช่วงเวลาดังกล่าว
ขณะเดียวกัน ผู้สื่อข่าวรายงานเพ่ิมเติมว่า ทางสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ได้ออกแถลงการณ์โดยระบุว่า ทางสมาคมผู้ประกอบวิสาหกิจในย่านราชประสงค์ได้ทำการปิดให้บริการร้านแมคโดนัลด์ สาขาอัมรินทร์พลาซ่า ในเวลา 15.00 - 20.00 น. วันที่ 19 พ.ค. 2561 เนื่องจากชาวราชประสงค์ไม่สนับสนุนกิจกรรมการชุมนุมในย่านราชประสงค์ที่ก่อให้เกิดความเดือดร้อนต่อส่วนรวมดังเช่นที่ผ่านมา ชาวราชประสงค์สนับสนุนประชาธิปไตยและอิสระในการเรียกร้องอย่างมีแบบแผนและเคารพกฎหมายการชุมนุนสาธารณะ ทั้งนี้แถลงการณ์ดังกล่าวได้ติดอยู่บริเวณประตูของร้านแมคโดนัลด์
ขณะที่ บก.ลายจุด ได้โพสต์ข้อความทางเฟซบุ๊กเมื่อเวลา 11.32 น.โดยระบุว่า นักข่าวถามว่าถ้าแมคปิดจะยังไปมั้ย ?
“ไปแน่ วันนี้ว่าง ไม่รู้จะทำอะไร”
ขณะที่บรรยากาศภายในร้านในช่วงเวลา 12.30 น. เริ่มมีประชาชนสวมเสื้อผ้าสีแดงมารวมตัวกัน เพื่อรอเวลาจุดเทียนไว้อาลัยให้กับผู้เสียชีวิตในเหตุการณ์สลายการชุมนุม ตอนประมาณ 18.00 น. บริเวณแยกราชประสงค์
คสช.ชี้ชุมนุนมได้ต้องตามกรอบกฏหมาย
พ.อ.วินธัย สุวารี โฆษกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ(คสช.) กล่าวถึงการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ เนื่องในโอกาสครบรอบ 8 ปี สลายการชุมนุม 19 พ.ค.53 ว่า ตนคิดว่าการแสดงออก และการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์ไม่จำเป็นต้องทำวันนี้ จะทำวันไหนก็ได้ ซึ่งตนคิดว่าการเคลื่อนไหวอะไรต่างๆ ต้องเป็นไปตามกรอบกฎหมาย จะละเมิดกรอบกฎหมายไม่ได้ เพราะจะส่งผลกระทบด้านจราจร และจะทำให้ประชาชนส่วนใหญ่เกิดความเดือดร้อน
ทั้งนี้ การการแสดงออก และการเคลื่อนไหวเชิงสัญลักษณ์นั้น ก็เป็นกลุ่มคนเดิมๆ ดังนั้นทางเจ้าหน้าที่ตำรวจก็ต้องพยายามอธิบายทำความเข้าใจให้ได้มากที่สุด เพื่อที่จะทำให้เกิดความเรียบร้อยของบ้านเมือง
จับตาการชุมนุมครั้งต่อไปของกลุ่มคนอยากเลือกตั้ง '22 พ.ค.'
สำหรับการชุมนุมของกลุ่มคนอยากเลือกตั้งในวันที่ 22 พ.ค. นั้น พล.ต.อ.ศรีวราห์ รังสิพราหมณ์กุล รองผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติกล่าวว่า การชุมนุมเป็นการแสดงออกตามรัฐธรรมนูญแต่ต้องอยู่ในขอบเขตไม่ละเมิดกฎหมายการชุมนุมในที่ตั้ง บริเวณมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ท่าพระจันทร์ สามารถกระทำได้ เพราะถือเป็นสถานที่ส่วนบุคคลเจ้าของสถานที่ อนุญาตไม่ผิดกฎหมาย แต่หากจะเคลื่อนไหวหรือเครื่องขบวนออกนอกพื้นที่ไปยังจุดใดถือว่าผิดกฎหมาย ซึ่งไม่สามารถทำได้ เพราะการเคลื่อนขบวนย่อมส่งผลกระทบต่อการจราจรในพื้นที่ที่ขบวนเคลื่อนไป และตำรวจไม่มีอำนาจที่จะอนุญาตให้มีการชุมนุมบนผิวการจราจร เบื้องต้นทางนครบาลซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบหลักได้แจ้งไปยังแกนนำกลุ่มแล้วว่าไม่อนุญาตให้เคลื่อนขบวนโดยเด็ดขาด ซึ่งหากฝ่าฝืนจะต้องดำเนินการตามกฏหมาย
อย่างไรก็ตาม เพื่อความไม่ประมาทได้สั่งการเฝ้าระวังปัญหามือที่ 3 ที่อาจใช้สถานการณ์นี้ก่อความวุ่นวายโดยให้ตำรวจทั่วประเทศ ตั้งด่านความมั่นคงระดมตรวจค้นอาวุธทุกประเภทตั้งแต่เที่ยงคืนที่ผ่านมาถึงสิ้นเดือนนี้และในวันที่ 22 ได้เตรียมกำลังตำรวจนครบาลหนึ่งร่วมกับตำรวจฝ่ายสืบสวนและตำรวจทุกภาคส่วนจำนวนสามกองร้อยไว้ดูแลความปลอดภัยโดยรอบพื้นที่การชุมนุมและตลอดเส้นทาง
นักวิจัยองค์กรสิทธิฯ ระบุ "8 ปียังไม่มีความยุติธรรม"
นายสุณัย ผาสุข นักวิจัยขององค์กรด้านสิทธิมนุษยชนระหว่างประเทศ 'ฮิวแมนไรท์วอทช์' หรือ HRW เผยแพร่ แถลงการณ์ วันนี้ว่า แม้เวลาจะผ่านไป 8 ปี นับตั้งแต่มีการสลายการชุมนุมของกลุ่มคนเสื้อแดง ก็ยังไม่มีความยุติธรรมเกิดขึ้นกับผู้เสียชีวิตทั้ง 98 ราย และผู้บาดเจ็บจากเหตุการณ์ดังกล่าวอีกกว่า 2,000 คน
ฮิวแมนไรท์วอทช์ได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการสลายการชุมนุมและพบข้อมูลที่บ่งชี้ว่าเจ้าหน้าที่ทหารใช้กำลังอาวุธรุนแรงโดยไม่จำเป็นและเกินกว่าเหตุ โดยกล่าวถึงกรณีที่มีการกำหนด 'พื้นที่ใช้กระสุนจริง' โดยรอบสถานที่ชุมนุม และทหารได้ยิงผู้ชุมนุม หน่วยกู้ภัย ผู้สื่อข่าว และคนที่ยืนอยู่ในบริเวณดังกล่าว แต่แทนที่รัฐบาลจะดำเนินคดีกับผู้กระทำความผิดทุกฝ่าย ไม่ว่าจะเป็นผู้ออกนโยบายการปราบปราม เจ้าหน้าที่ระดับสูง ผู้บังคับบัญชาหน่วยทหาร กลับมีการเอาผิดเฉพาะแกนนำการชุมนุมและกลุ่มผู้ชุมนุม ทั้งยังเป็นการดำเนินคดีอาญาที่มีบทลงโทษร้ายแรง
ทั้งนี้ ไทยเป็นประเทศภาคีที่ให้การรับรองกฎหมายระหว่างประเทศด้านสิทธิและเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็น รวมถึงการชุมนุมทางการเมือง จึงมีความเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องดำเนินการต่างๆ เพื่อรักษาเยียวยาผู้ที่ได้รับผลกระทบจากการละเมิดสิทธิต่างๆ เหล่านี้
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: