เมื่อวันที่ 23 ม.ค. 61 ที่สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ทีดีอาร์ไอ ดร. ณัฐนันท์ วิจิตรอักษร นักวิชาการทีดีอาร์ไอ เปิดเผยผลงานวิจัย “อีก 15 ปี ข้างหน้า อนาคตค่าใช้จ่ายสาธารณะด้านสุขภาพของไทยจะเป็นอย่างไร”
โดยการประมาณค่าใช้จ่ายในครั้งนี้ได้ใช้กรอบแนวคิดขององค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (OECD )เพื่อประมาณการค่าใช้จ่ายใน 4 เรื่องสำคัญ คือ
1. งบประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของประเทศไทยในอีก 15 ปี
2. การเปลี่ยนแปลงด้านรายได้ของคนไทยจะส่งผลกระทบอย่างไรต่อค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ
3. ผลกระทบจากโรคและอายุจะส่งผลต่อค่าใช้จ่ายของสวัสดิการประกันสุขภาพทั้งสามกองทุนอย่างไร
4. ข้อควรคำนึงต่อการบริหารจัดการด้านค่าใช้จ่ายในระยะยาวเพื่อสุขภาพของคนไทย
ดร.ณัฐนันท์ กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพในอีก 15 ปีข้างหน้าจะอยู่ที่ประมาณ 4.8 แสนล้านบาท และหากประเทศไทยเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายจะเพิ่มขึ้นไปถึง 1.4 ล้านล้านบาท
นอกจากนี้รวมไปถึงรายได้ของประเทศเพิ่มขึ้นในอัตราส่วนที่เทียบเท่ากันกับค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ สมมติประเทศมีรายได้เพิ่มขึ้น 1 เท่า ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพก็เพิ่มขึ้น 1 เท่า ดังนั้นค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพของไทยจะมีค่าประมาณ 6.3 แสนล้านบาท โดยจะเพิ่มสูงถึง 1.8 ล้านล้านบาทเมื่อไทยเข้าสู่สังคมสูงวัย
ส่วนปัจจัยที่ทำให้ค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพเพิ่มมากขึ้น มาจากโครงสร้างประชากร สังคมผู้สูงอายุ โดยจากข้อมูลค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพ 3 กองทุน พบว่า ในกลุ่มผู้สูงอายุนั้น โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง 5 อันดับแรก คือ โรคอ้วน โรคความดันโลหิตสูง โรคโลหิตจาง โรคข้ออักเสบ และโรคเบาหวาน เป็นปัจจัยที่ส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลอย่างมาก
ดร.ณัฐนันท์ กล่าวว่า มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว จากผลการประมาณค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจากผลของการสร้างเสริมสุขภาพ โดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พบว่า สัดส่วนค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพต่อค่าใช้จ่ายทั้งหมดของรัฐบาลมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากประมาณร้อยละ 10 ในช่วงก่อนปี พ.ศ.2545 เป็นประมาณร้อยละ 13 ตั้งแต่ปี พ.ศ.2550 เป็นต้นมา
“การประมาณค่าใช้จ่ายในอนาคตเป็นส่วนสำคัญต่อการกำหนดนโยบายของภาครัฐในการจัดการด้านสาธารณสุขของประเทศ เช่น การส่งเสริมและป้องกันด้านสุขภาพ และการรักษาพยาบาลกลุ่มผู้ป่วยสูงวัย รวมถึงการกำกับดูเเลค่าใช้จ่ายของระบบประกันสุขภาพทั้ง 3 กองทุน ไม่ว่าจะเป็น หลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ประกันสังคม และสวัสดิการข้าราชการ”
การควบคุมค่าใช้จ่ายทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ นพ.ศิริวัฒน์ ทิพย์ธราดล อดีตรองปลัดกระทรวงสาธารณสุข กล่าวว่า ทั้งกองทุนหลักประกันสุขภาพ กองทุนประกันสังคม มีการควบคุมค่าใช้จ่าย แต่กองทุนราชการยังมีการควบคุมไม่มาก จึงทำให้ค่าใช้จ่ายสูง
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา มีความพยายามที่จะให้ทั้ง 3 กองทุนมีความเท่าเทียมและบริหารจัดการร่วมกัน แต่ไม่สามารถดำเนินการได้ เนื่องจากมีการคัดค้านจากกองทุนข้าราชการ ซึ่งหากสามารถรวมการบริหารจัดการทั้ง 3 กองทุนได้จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพลงไปได้มาก
ขณะที่ ดร.อัมมาร สยามวาลา อดีตประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย กล่าวว่า ต้องมีการปรับปรุงเรื่องหลักประกันสุขภาพในหลายประเด็น โดยเข้าไปควบคุมค่าใช้จ่ายในบางกองทุนสุขภาพ เช่น กองทุนข้าราชการ แต่ที่ผ่านมา กองทุนหลักประกันสุขภาพ อาจจะมีการควบคุมมากเกินไปจนส่งผลต่อการให้บริการ
ส่วนงบประมาณด้านสุขภาพที่ต้องเพิ่มคือ งบประมาณในเรื่องของการดูแลผู้สูงอายุ โดยเฉพาะการเพิ่มแพทย์ที่ดูแลด้านปฐมภูมิมากขึ้น เนื่องจากผู้สูงอายุส่วนใหญ่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังที่ต้องการการดูแล
ทั้งนี้ เห็นว่ากระทรวงสาธารณสุขควรปรับปรุงในเรื่องการให้บริการปฐมภูมิเพิ่มมากขึ้น เพราะที่ผ่านมาแม้ว่าจะมีแผนในการดำเนินการเรื่องนี้ แต่ในทางปฏิบัติไม่ได้ดำเนินการอย่างจริงจัง
“ผมคิดว่าหมอต้องมีเวลาให้ผู้ป่วยมากขึ้น ไม่ใช่ว่าให้เวลาแค่ 3-5 นาที จากที่ผู้ป่วยต้องใช้เวลานานมากในการไปโรงพยาบาล กระทรวงสาธารณสุขจึงควรจะเข้ามาดูแลในเรื่องนี้มากขึ้น” ดร.อัมมารกล่าว