ไม่พบผลการค้นหา
สังคมสูงวัยรุกเข้าใกล้มากขึ้น คนวัยทำงานในปัจจุบัน มั่นใจแค่ไหนจะรับมือไหว การเตรียมความพร้อมทั้งด้านสุขภาพกาย และสุขภาพทางการเงิน เป็นเรื่องจำเป็น หากไม่อยากแก่แล้วป่วยและจน

ได้ยินกันมาเยอะกับคำว่า "ประเทศไทยกำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย" ในอัตราเร่งที่แซงหน้าญี่ปุ่นและประเทศเพื่อนบ้าน อีกทั้งหากสังคมไทยยังเดินหน้าต่อไปแบบนี้ โดยไม่ทำอะไร การเป็นสังคมสูงวัยจะทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจมีแนวโน้มลดลงเฉลี่ยร้อยละ 0.8 ต่อปี

จึงเกิดคำถามคือ ปัจจุบันระบบอะไรที่เตรียมพร้อมรับมือกับสถานการณ์นี้หรือไม่? 

ในงานสัมมนาสาธารณะ ประจำปี 2562 ปีนี้ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ จึงชูประเด็นเรื่อง "สังคมอายุยืน: แข่งขันได้ และอยู่ดี มีสุข ได้อย่างไร?" เพื่อสำรวจสิ่งที่เป็นไป พร้อมข้อเสนอเชิงนโยบายแก่รัฐ และคำแนะนำเพื่อการเตรียมตัวในระดับบุคคล  



TDRI-ทีดีอาร์ไอ-สัมมนา

โครงสร้างประชากรเปลี่ยน คนแก่เยอะ คนวัยทำงานน้อย

ดร.วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ฉายภาพโครงสร้างประชากรและสถานการณ์การใช้จ่ายและการออมของครัวเรือนไทยไว้อย่างน่าสนใจว่า เมื่อ 30 ปีก่อน (ปี 2529) ครัวเรือนไทยที่มีสมาชิกในครอบครัว 2-3 รุ่นในบ้านเดียวกัน มีสัดส่วนร้อยละ 80 แต่ข้อมูลน่าสุด (ปี 2561) พบว่า ครัวเรือนที่มีคน 3 รุ่นเหลือเพียงร้อยละ 50 และครัวเรือนที่มีเพียง 1 รุ่นมีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 20 จากร้อยละ 7 เมื่อ 30 ปีก่อน อีกทั้งที่อยู่คนเดียวก็มีสัดส่วนเพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 21 จากร้อยละ 7 

อีกทั้ง ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมาประชากรวัยเด็กและวัยทำงานในครัวเรือนลดลงอย่างมาก จากเดิมมีอัตราส่วนวัยเด็กในครัวเรือน 1.4 คน ปัจจุบันเหลือ 0.5 คน ส่วนวัยทำงานลดลงจาก 2.5 คน เหลือ 1.8 คน

ในการศึกษายังพบว่า ค่าใช้จ่ายของคนวัยทำงานที่มีรายได้ระดับปานกลาง หากอาศัยอยู่ในเขตเทศบาลจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 7,000 บาท ถ้าอยู่นอกเขตเทศบาลจะมีรายจ่ายประมาณเดือนละ 4,500 บาท

แม้จะต่ำกว่าค่าใช้จ่ายของคนวัยทำงานที่มีรายได้สูง ที่หากอยู่ในเขตเทศบาลจะมีค่าใช้จ่ายประมาณเดือนละ 19,000 บาท และถ้าอยู่นอกเขตเทศบาลจะมีรายจ่ายประมาณเดือนละ 12,000 บาท ก็ตาม

แต่ก็พบด้วยว่าคนที่มีรายได้ปานกลางนั้น ถ้าเป็นกลุ่มที่อยู่อาศัยในเขตเทศบาล ถ้ามีอายุยืนถึง 100 ปี ในวัยเกษียณ (60 ปี) ต้องมีเงินออมให้ได้ถึง 4 ล้านบาท เพื่อเพียงพอกับค่าใช้จ่ายที่น่าจะสูงถึง 5 ล้านบาท

แล้วในกลุ่มคนเหล่านี้หากมีอายุถึง 80 ปี ก็จำเป็นต้องมีเงินออมในวัยเกษียณอย่างน้อย 2 ล้านบาท เพื่อให้พอกับรายจ่ายที่น่าจะมีประมาณ 2 ล้านบาทเช่นกัน 

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์-ทีดีอาร์ไอ-รายได้-สูงวัย-สัมมนา


ยิ่งอยู่ในเมือง ค่าใช้จ่ายหลังวัยเกษียณยิ่งแพง

หรือในกรณีเป็นผู้มีรายได้สูง (คนรวยร้อยละ 5 ของประชากรไทย) หากมีอายุยืนถึง 100 ปีและเป็นกลุ่มที่อาศัยในเขตเทศบาล หลังวัย 60 ปีต้องมีเงินออมขั้นต่ำ 11 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมกับรายจ่ายที่น่าจะสูงถึง 14 ล้านบาท และคนกลุ่มนี้หากมีอายุถึง 80 ปี ก็ต้องมีเงินออมสำหรับหลังวัยเกษียณอย่างน้อยละ 5 ล้านบาท เพื่อให้ครอบคลุมรายจ่าย 6 ล้านบาท ซึ่งก็นับว่าสูงมาก

ยิ่งถ้าเป็นผู้สูงวัยรายได้สูงที่อาศัยนอกเขตเทศบาล หากอายุยืนถึง 100 ปี จะมีค่าใช้จ่ายมากถึง 9 ล้านบาท และต้องมีเงินออมขั้นต่ำ 7 ล้านบาท ส่วนคนที่มีอายุถึง 80 ปี ต้องมีเงินออมให้ได้อย่างน้อย 3 ล้านบาทเพื่อรองรับค่าใช้จ่าย 4 ล้านบาท

ดังนั้นคำถามคือ ผู้สูงอายุชาวไทยปัจจุบันมีเงินออมเพียงพอรองรับกับค่าใช้จ่ายในวัยเกษียณหรือไม่ ?

เมื่อมีข้อมูลจากสำนักงานสถิติแห่งชาติที่เผยแพร่เมื่อปี 2560 บ่งชี้่ว่า ผู้สูงวัยชาวไทยมีแหล่งรายได้ในการดำรงชีพร้อยละ 35 มาจากบุตร ร้อยละ 31 มาจากการทำงานหาเลี้ยงตัวเอง ร้อยละ 20 มาจากเบี้ยยังชีพ ร้อยละ 7 มาจากเงินบำเหน็ญบำนาญ และมีเงินจากการออมและทรัพย์สินเพียงร้อยละ 2  

แม้ความจริงแล้ว ผู้สูงอายุชาวไทยที่มีเงินออมจะมีสัดส่วนถึงร้อยละ 42 แต่มีเพียงร้อยละ 11 หรือประมาณ 1.2 ล้านคนเท่านั้น ที่มีเงินออมมากกว่า 1 ล้านบาท

แต่เงินออม 1 ล้านบาทเพียงพอสำหรับการใช้จ่ายของคนสูงวัยจากอายุ 60 ไปถึง 70 ปี หรือเพียง 10 ปีเท่านั้น หากใช้จ่ายเดือนละ 7,000 บาท นั่นแสดงว่าผู้สูงอายุจะพึ่งแต่เบี้ยยังชีพเท่านั้น ย่อมไม่เพียงพอ 

อีกทั้ง มีข้อมูลระบุว่า ปัจจุบันคนไทยมีอายุยืนยาวขึ้น โดยประชากรไทยเพศชายมีอายุเฉลี่ย 74 ปี ส่วนเพศหญิงอายุเฉลี่ย 82 ปี แต่อายุที่ยืนยาวขึ้น ยังพบด้วยว่า หญิงไทยสูงวัยจะมีช่วงเวลา 10.7 ปีสุดท้ายของชีวิตที่สุขภาพไม่ดี อยู่ในภาวะพิการ ขณะที่ชายไทยสูงวัยมีช่วงเวลา 8.6 ปีอยู่ในภาวะพิการ


"อายุที่ยืนยาวขึ้น 10 ปี แต่ต้องเผชิญกับภาวะพิการ เช่น หูตึง เดินไม่ได้ นั่นหมายถึงเวลาที่ได้มีชีวิตเพิ่มขึ้น 1 ปีกับภาวะพิการในวัยชรา ย่อมไม่เท่ากับ 1 ปีของวัยชราที่มีสุขภาพดี " ดร.วรวรรณ กล่าว


วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์-ทีดีอาร์ไอ-รายได้-สูงวัย-สัมมนา

ทั้งนี้ ภาวะพิการที่กล่าวถึง ก็มาจากโรคไม่ติดต่อเรื้อรังต่างๆ อาทิ โรคหัวใจ โรคหลอดเลือดสมอง ความดันเบาหวาน และอุบัติเหตุทางถนน


เริ่มนับหนึ่งที่ดูแลสุขภาพกาย ควบคู่สุขภาพการเงิน

ดังนั้น ในแง่การดูแลสุขภาพกาย นักเศรษฐศาสตร์มหภาคผู้ศึกษาเรื่องการมีสุขภาพดีในวัยเกษียณ อย่าง ดร.ศุภวุฒิ สายเชื้อ ที่ปรึกษากลุ่มธุรกิจการเงินเกียรตินาคินภัทร จึงบอกว่า การทำให้อายุยืนอย่างมีสุขภาพดี ช่วยลดต้นทุนในการดำรงชีพในวัยเกษียณได้ดีกว่าการมีชีวิตยืนยาวแบบเป็นคนแก่ที่เจ็บปวดมีโรคประจำตัวเยอะมาก

พร้อมกับยกตัวอย่างงานวิจัยของสหรัฐฯ ชิ้นหนึ่งมาเล่าว่า หากคุณเป็นคนสูงวัยที่เส้นเลือดในสมองแตก จะมีค่าใช้จ่ายสูงถึง 2-3 แสนดอลลาร์สหรัฐต่อคนต่อปี หรือประมาณ 6.4 -9.6 ล้านบาทต่อคนต่อปี

อีกทั้งโรคนี้ล้วนเกิดจากคอเรสเตอรอลสูง ความดันโลหิตสูง เบาหวาน และเกี่ยวข้องกับโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคปอด ซึ่งสัมพันธ์กันไปหมด และเกี่ยวเนื่องกับการใช้ชีวิตประจำวันของแต่ละคนทั้งสิ้น

ที่น่าคิดคือ ก่อนหน้านี้มีงานวิจัยของทีดีอาร์ไอระบุว่า หากประเทศไทยยังไม่ทำอะไรกับเรื่องสังคมสูงวัยเลย ในอนาคตจะมีต้นทุนดูแลสุขภาพสำหรับประชากรสูงวัยสูงถึง 1 ล้านล้านบาทต่อปี

ศุภวุฒิ สายเชื้อ-ทีดีอาร์ไอ-สัมมนา-สูงวัย-อัลไซเมอร์

"โรคที่น่ากลัวและผมก็กลัวคือ โรคสมองเสื่อม ซึ่งในประเทศไทยมีสถิติคนเป็นโรคนี้สูงขึ้นเรื่อยๆ อีกทั้งข้อมูลจากต่างประเทศยังระบุว่า ถ้าคุณอายุ 65 ปี คุณมีโอกาสเป็นโรคสมองเสื่อมร้อยละ 3-4 แต่ตอนคุณอายุ 85 ปีขึ้นไป คุณมีโอกาสเป็นมากถึงร้อยละ 40-50 และที่น่าคิดคือเวลานี้ ยังไม่มียารักษาโรคนี้ งานวิจัยขององค์การอาหารและยาสหรัฐ มีการศึกษาหายารักษาโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ล่าสุดคือเมื่อปี 2546 และตอนนี้ก็ยังไม่มีใครหายารักษาสำเร็จ" ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

ในกรณีโรคสมองเสื่อม หรือ อัลไซเมอร์ หลายเรื่องเป็นความเสี่ยงที่แก้ไขไม่ได้ เช่น หากคุณมีหน่วยพันธุกรรม (ยีน) ที่ชื่อว่า APOE4 ซึ่งคนในโลกร้อยละ20 มียีนตัวนี้ ก็จะเป็นโรคอัลไซเมอร์ได้

หรือหากเป็นโรคหัวใจ ก็จะมีความเสี่ยงสมองเสื่อม เพราะสมองใช้พลังงานสูงมากถึงร้อยละ 20 ของพลังงานที่ร่างกายมี และใช้เลือดไปหล่อเลี้ยงเยอะมาก ดังนั้นหากเป็นโรคหัวใจ และเลือดหล่อเลี้ยงสมองก็จะไม่เพียงพอ ย่อมเสี่ยงเป็นโรคสมองเสื่อมด้วย 

ดังนั้น ถ้าไม่ได้มียีนที่เป็นสาเหตุให้เป็นสมองเสื่อมโดยพันธุกรรม หรือ เป็นโรคหัวใจที่อาจมีโรคแทรกซ้อนเป็นสมองเสื่อม ทุกคนก็สามารถดูแลตัวเองเพื่อปลอดจากโรคสมองเสื่อมและลดเสี่ยงเจ็บปวดยามชราได้

ดร.ศุภวุฒิ ยืนยันว่า เราสามารถลดความเสี่ยงจากการเป็นผู้สูงวัยที่เป็นโรคสมองเสื่อมได้ด้วยการเปลี่ยนพฤติกรรมการดำเนินชีวิตให้ได้ 5 ด้าน คือ

  • กินให้ดี ทานผักผลไม้เยอะๆ
  • ออกกำลังกายให้ได้อย่างน้อยวันละ 30 นาที
  • หลับให้ลึกให้ได้คืนละ 1 ชั่วโมง 50 นาที
  • ห้ามสูบบุหรี่
  • ดื่มแอลกอฮอล์ให้น้อย โดยผู้ชายควรดื่มไม่เกิน 2 แก้วต่อวัน ผู้หญิงดื่มไม่เกิน 1 แก้วต่อวัน 

"นาฬิกาแพงๆ แบรนด์หรูต่างๆ ถอดทิ้งไม่ต้องใส่ก็ได้ แต่เอาเงินไปซื้อนาฬิกาหรืออุปกรณ์วัดกิจกรรมของร่างกาย เพื่อวัดชั่วโมงการหลับลึก ให้ได้คืนละ 1 ชั่วโมง 50 นาที เพราะมีการศึกษาแล้วว่า เวลาที่หลับลึกได้ระดับนี้ สมองจะได้รับการชำระล้างและรีเฟรช แต่หากชั่วโมงการหลับลึกไม่เพียงพอ จะเกิดตะกอนบางอย่างซึ่งจะสะสมตั้งแต่อายุ 40 แล้วไปแสดงผลให้เกิดโรคสมองเสื่อมตอนอายุ 60-65 ปีได้" ดร.ศุภวุฒิ กล่าว

วรวรรณ ชาญด้วยวิทย์-ทีดีอาร์ไอ-มหาวิทยาลัยขอนแก่น

เมื่อดูแลสุขภาพกายให้ยั่งยืนตามอายุขัยแล้ว อีกด้านหนึ่ง คือการดูแลสุขภาพการเงิน การมีเงินออมที่เพียงพอดูแลตัวเองในวัยเกษียณ ก็เป็นเรื่องสำคัญ

ดร.วรวรรณ กล่าวว่า ปัจจุบันประเทศไทยมีระบบการออมทั้งแบบภาคบังคับและภาคสมัครใจ ทั้งจากกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) การซื้อกองทุนหุ้นระยะยาว (LTF) กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ (RMF) เป็นต้น แต่สิ่งเหล่านี้ก็อาจจะไม่เพียงพอกับค่าใช้จ่ายในอนาคตของผู้สูงวัย เพราะตามข้อมูลที่เสนอไปคือ หากคุณเป็นคนที่อายุยืนถึง 80 ปี หลังวัย 60 ปี คุณจะมีค่าใช้จ่ายหลายล้านบาท และจำเป็นต้องมีเงินออมสะสมอย่างน้อย 2 ล้านบาท และถ้าต้องมีอายุยืนยาวถึง 100 ปี จำเป็นต้องมีเงินออมสะสม 4 ล้านบาท 

ถ้าในกรณีเป็นแรงงานในระบบก็ยังมีการออมภาคบังคับผ่านกองทุนประกันสังคม แต่คนที่น่าห่วงคือ แรงงานนอกระบบที่ปัจจุบันมีถึง 20 ล้านคน และเป็นกลุ่มที่เสี่ยงที่สุด ซึ่งคนกลุ่มนี้อาจจะเข้าสู่ระบบการออมภาคสมัครใจ เช่น กองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หรือการซื้อกองทุน LTF กองทุน RMF และเบี้ยยังชีพคนชราที่รัฐโอนให้

อย่างไรก็ตาม ในกรณีผู้ออมโดยสมัครใจผ่านกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) หากเริ่มออมตั้งแต่อายุ 15 ปี และส่งเงินสะสมเต็มเพดานปีละ 12,650 บาท ต่อเนื่องเป็นเวลา 45 ปี (ถึงอายุ 60 ปี) จะมีเงินสะสมในบัญชีทั้งสิ้น 1,472,812.10 บาท ซึ่งจะเป็นเงินบำนาญเดือนละประมาณ 7,000 บาท ซึ่งถ้าเทียบกับมูลค่าปัจจุบันคือเดือนละ 2,000 บาท อย่างไรก็ตาม มูลค่านี้อาจไม่น่าจูงใจนักสำหรับคนที่เป็นสมาชิก กอช. และทำให้ปัจจุบันมีสมาชิก กอช. เพียง 6 แสนกว่าคนเท่านั้น

ดังนั้น จึงต้องมีระบบที่จูงใจทั้งแรงงานนอกระบบและแรงงานในระบบให้เพิ่มการออมเพื่อให้เพียงพอกับระยะเวลาหลังวัยเกษียณที่ยืนยาวมากขึ้น


ชงแรงงานนอกระบบเข้ามาตรา 33 ประกันสังคม

ส่วนแรงงานนอกระบบ หากกติกาประกันสังคมเปิดให้นำรายได้ที่ผ่านระบบธนาคารไปแสดงและทำให้เข้าเป็นแรงงานตามมาตรา 33 (เหมือนแรงงานในระบบ) ได้ ก็จะทำให้แรงงานกลุ่มนี้มีหลักประกันบำนาญชราภาพในอนาคตได้ แต่แรงงานนอกระบบที่เข้ามาตรา 33 ต้องเข้าใจด้วยว่า ตนต้องจ่ายเงินสมทบกองทุนประกันสังคมทั้งในส่วนของตนเองและส่วนของนายจ้างด้วย ซึ่งจะต่างจากแรงงานตามมาตรา 33 ที่มีงานประจำทำ 

อีกทั้ง หากในอนาคตเงินกองทุนประกันบำนาญชราภาพในกลุ่มประกันสังคมที่มูลค่ารวม 1 ล้านล้านบาท อาจไม่พอกับจำนวนผู้ได้รับสิทธิ กลุ่มแรงงานนอกระบบที่จ่ายเงินสมทบก็อาจต้องเข้าใจด้วยว่า การเข้าสู่ระบบตามมาตรา 33 ก็อาจต้องจ่ายเงินสมทบรายเดือนเพิ่มขึ้นจากปัจจุบันด้วย ส่วนแรงงานในระบบหากต้องการหลักประกันในวัยชราภาพเพิ่มขึ้น ก็สามารถออมผ่าน กอช. หรือ กองทุน LTF และ RMF เสริมได้ 

"แรงงานทั้งหลายจึงต้องมีการเตรียมการทางการเงินสำหรับวัยเกษียณ พร้อมกับเตรียมร่างกายให้พร้อมให้มีสุขภาพที่ดีด้วย เพราะการสะสมเงินออมไว้จำนวนมาก แต่หากต้องมาเจ็บป่วย ต้องมีค่าใช้จ่ายด้านสุขภาพจำนวนมาก ที่ยิ่งอายุเยอะ ยิ่งแพงนั้น เงินออมที่มีก็จะหมดอย่างรวดเร็วได้ ดังนั้นต้องสะสมทั้งสินทรัพย์ที่เป็นตัวเงินไปพร้อมๆ กับสะสมสุขภาพที่ดี จะเป็นการทำให้เรามีอายุยืนที่เป็นอิสระได้" ดร.วรวรรณกล่าว


นฎา วะสี-สถาบันวิจัยป๋วย-สัมมนา-ทีดีอาร์ไอ-สูงวัย-ประกัน
คนไทยอยากได้หลักประกันดูแลระยะยาวแบบไหน

ดร.นฎา วะสี สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กล่าวว่า จากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างกว่า 2,000 รายใน 10 จังหวัดทั่วประเทศรวมกรุงเทพฯ เรื่องคนไทยต้องการมีระบบประกันการดูแลระยะยาวแบบไหน ทำให้พบว่า คนไทยกว่าร้อยละ 53 ต้องการจ่ายเบี้ยประกันเดือนละ 500 บาท ที่มีเตียงมีรถเข็น อุปกรณ์ต่างๆ ครบครัน มีทีมสาธารณสุขเยี่ยมบ้าน รองลงมาร้อยละ 16 ต้องการจ่ายเบี้ยประกันเดือนละ 300 บาท ที่มีรัฐช่วยค่าใช้จ่ายเรื่องผู้ดูแลร้อยละ 25 และอีกร้อยละ 15 ของผู้ตอบแบบสอบถามชอบที่จะจ่ายเบี้ยประกันเดือนละ 300 บาท เพื่อให้ได้ค่าเตียงค่ารถเข็น ส่วนอีกร้อยละ 15 ชอบแบบที่จ่ายเบี้ยประกันเดือนละ 500 บาท โดยมีรัฐช่วยค่าผู้ดูแลร้อยละ 25 และได้ค่าเตียงค่ารถเข็นด้วย 

อย่างไรก็ตาม เมื่อลองเพิ่มแพ็คเกจและทางเลือกการมีหลักประกันระยะยาวที่หลากหลายขึ้น กลับพบว่า ผู้ตอบแบบสอบถามส่วนใหญ่ยินดีจะจ่ายค่าเบี้ยประกันเดือนละ 500-2,000 บาทเพื่อให้ได้มีการดูแลค่าเตียง รถเข็น อุปกรณ์การแพทย์ มีทีมสาธารณสุขเยี่ยมบ้าน และรัฐช่วยค่าผู้ดูแลร้อยละ 25 ของค่าใช้จ่ายจริง 

ดังนั้นข้อเสนอจากงานวิจัยเมื่อพิจารณาทั้งด้านสิทธิประโยชน์ที่ผู้จ่ายเบี้ยประกันได้ ควบคู่ไปกับต้นทุนที่ต้องใช้แล้ว พบว่า แพ็คเกจที่ผู้ตอบแบบสอบถามคิดว่าเสียประโยชน์น้อยที่สุดคือการจ่ายเบี้ยประกันเดือนละ 500 บาท และได้ค่าเตียง รถเข็น อุปกรณ์การแพทย์ครบ พร้อมทีมสาธารณสุขเยี่ยมบ้าน และหากต้องการมีการดูแลเพิ่มขึ้นก็อาจมีแพ็คเกจเพิ่มขึ้นได้ 

นอกจากนี้ ยังพบว่า ผู้มีรายได้น้อยก็ต้องการหลักประกันการดูแลในระยะยาวเช่นกัน แต่ก็ไม่สามารถจ่ายเบี้ยประกันในราคาสูงได้ ดังนั้นรัฐจึงควรมีการจัดแพ็คเกจและจัดระดับค่าเบี้ยประกันระหว่างคนจนและคนรวยที่ต่างกันด้วย 

สุดท้าย หากถามว่าต้องบังคับให้คนไทยทุกคนเข้าระบบประกันในระยะยาวหรือไม่ งานวิจัยชิ้นนี้ให้ข้อสรุปว่า อาจไม่จำเป็น เนื่องจากในบางชุมชนก็มีระบบการดูแลผู้สูงอายุในชุมชน เช่น กรณีชมรมอาสาปันสุข ของเทศบาลตำบลอุโมงค์ จ.ลำพูนมีอาสาสมัครชุมชนดูแลผู้สูงอายุที่ติดบ้านติดเตียง หรือกรณีบริการ day care ของเทศบาลตำบลบ้านสะอาด จ.ขอนแก่น และการดูแลผู้สูงอายุของเทศบาลนครรังสิต จ.ปทุมธานี เป็นต้น หรือกรณีผู้มีรายได้สูง ก็มีความสามารถในการจ่ายเพื่อดูแลตนเองในวัยชรา ดังนั้น จึงไม่จำเป็นต้องเป็นการบังคับให้ทุกคนเข้าระบบ ขณะเดียวกัน รัฐต้องมีทางเลือกให้คนชั้นกลางในการดูแลตัวเองและมีหลักประกันการดูแลตนเองในระยะยาวด้วย

เพราะการเข้าสู่วัยชรา เป็นเรื่องหลีกเลี่ยงไม่ได้แล้ว แต่จะชราอย่างไรให้ อยู่ดี มีสุข เป็นอิสระ ก็อยู่ที่ตัวบุคคล รัฐ สังคม และชุมชน เช่นกัน

ข่าวที่เกี่ยวข้อง :