ไม่พบผลการค้นหา
หากแรงงานไม่พอขับเคลื่อนเศรษฐกิจ จีดีพีไทยอาจตกลงร้อยละ 0.8 ต่อปี ตลอด 30 ปีข้างหน้า

สังคมสูงอายุหรือสังคมสูงวัยเป็นประเด็นที่มีการพูดถึงมากขึ้นในช่วงหลายปีที่ผ่านมา อย่างไรก็ตาม ประชาชนส่วนใหญ่ยังไม่ได้มีความเข้าใจหรือตระหนักถึงสภาวะทางสังคมและเศรษฐกิจที่ตนจะต้องเผชิญในอนาคต อีกทั้งรัฐบาลทั้งชุดปัจจุบัน รวมถึงชุดใหม่ที่กำลังจะเข้ามา ยังไม่มีแนวโน้มว่าจะสร้างมาตรการรองรับผลกระทบที่จะตามมาอย่างเป็นรูปธรรม

ปัจจุบันอายุขัยคาดการณ์ของประชากรโลกที่เกิดในปี 2553 เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ ตัวเลขอายุขัยของคนญี่ปุ่นขึ้นมาอยู่ที่ 107 ปี ขณะที่สหรัฐฯ แคนาดา อิตาลี และฝรั่งเศส มีอายุขัยเฉลี่ยอยู่ที่ 104 ปี เมื่อกลับมาดูการคาดการณ์อายุขัยของคนไทย พบว่า ตัวเลขอายุขัยของคนไทยที่เกิดในปี 2559 อยู่ที่ 80 – 98.3 ปี เห็นได้ชัดเจนว่าแนวโน้มของสภาวะประชากรไทยและโลกกำลังเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัย หรือการมีอายุที่ยืนยาวขึ้น ขณะที่อัตราการเกิดของเด็กเกิดใหม่มีลดลง

'ไทยสูงวัย' ใช้งานไม่ได้

สมเกียรติ ตั้งกิจวาณิชย์-TDRI-สัมมนาผู้สูงอายุ

ดร. สมเกียรติ ตั้งกิจวานิชย์ จากสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) ชี้ถึงความท้าทายหลักที่ประเทศไทยต้องเผชิญทั้งในแง่ของเศรษฐศาสตร์ในประเด็นการรักษาอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจประเทศ

ปัญหาที่ไทยกำลังเผชิญคือการเดินหน้าเข้าสู่สังคมสูงวัยแต่ผู้สูงวัยในสังคมกลับไม่เข้าใจสภาวะที่เกิดขึ้น ทำให้เกิดการออกจากตลาดแรงงานก่อนวัยอันควร ส่วนหนึ่งมาจากการให้สวัสดิการบำนาญตั้งแต่อายุ 55 ปี นอกจากนี้ยังมีงานวิจัยออกมาเผยว่า ศักยภาพในการทำงานของประชากรไทยที่มีอายุมากกว่า 50 ปีขึ้นไป มีอัตราลดลง

เมื่อผนวก 2 ปัจจัยหลักเข้าไว้ด้วยกัน อุตสาหกรรมที่ต้องใช้แรงงานมนุษย์จะได้รับผลกระทบโดยตรง และนั่นหมายถึงการลดลงของอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจถึงร้อยละ 0.8 ต่อปีตลอดช่วง 30 ปีข้างหน้า

แนวทางการแก้ปัญหาที่ ดร. สมเกียรติ นำเสนอ เป็นการผสมผสานกันในหลายมิติ โดยเริ่มจากการลดจำนวนประชากรที่ออกจากตลาดแรงงาน โดยยื้อให้ประชากรที่อายุระหว่าง 50 – 59 ปี ไม่รีบเกษียณอายุพร้อมพัฒนาศักยภาพเพื่อเพิ่มผลผลิตในการทำงาน

อีกทั้งยังเสนอให้มีการนำคนที่อายุ 60 – 69 ปี กลับเข้ามายังตลาดแรงงาน ขณะที่การเพิ่มแรงงานในระบบอาจทำได้จากการนำเข้าแรงงานต่างด้าวเพิ่มขึ้น และการลดการเกณฑ์ทหารลงราวร้อยละ 50 เพื่อเพิ่มทรัพยากรมนุษย์วันหนุ่มสาวในตลาดแรงงาน รวมทั้งการนำเทคโนโลยีเข้ามาเป็นเครื่องทุ่นแรง

“ทหารเกณฑ์ก็คงมีความจำเป็นอยู่บ้าง แต่ก็ต้องทบทวนว่าต้องการถึงแสนคนหรือไม่ ควรจะค่อยๆ ลดลง และแทนที่ด้วยทหารอาชีพ” ดร. สมเกียรติ กล่าว

เมื่อประเทศอยู่ในสภาวะที่มีแรงงานไม่เพียงพอต่อการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ทำให้ภาครัฐไม่มีเงินเพียงพอในการจัดสรรให้ประชากร ประเทศจะเข้าสู่ปัญหาความขัดแย้งแห่งช่วงวัย คือ การเลือกแบ่งเงินงบประมาณเพื่อไปจุนเจือสวัสดิการบำนาญที่ต้องใช้เงินมากขึ้นจากจำนวนผู้สูงอายุที่มากขึ้น กับสวัสดิการเพื่อเด็กเกิดใหม่ที่ต้องลดเพราะมีเงินงบประมาณไม่พอ

ดร. สมเกียรติ ชี้ว่า หากสภาวะเศรษฐกิจดำเนินไปโดยมีอัตราการเติบโตทางเศรษฐกินที่ลดลงราวร้อยละ 0.8 ต่อปี กองทุนประกันสังคมจะล้มละลายในปี 2590 ซึ่งจะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้สูงอายุที่หวังพึ่งแต่สวัสดิการของรัฐบาลเท่านั้น

สิ่งสำคัญที่สุดที่จะหวังให้เกิดขึ้นกับสังคมสูงวัยของไทย คือการเข้าใจอย่างแท้จริงว่าประชาชนจะต้องเผชิญหน้ากับสิ่งใดบ้าง ขณะที่รัฐบาลต้องเตรียมมาตรการต่างๆ เพื่อรองรับสภาวะสูงวัยที่จะเกิดขึ้นเพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจรวมของประเทศ