ไม่พบผลการค้นหา
การรณรงค์ต่อต้านการละเมิดทางเพศ #MeToo จุดติดในหลายประเทศ แต่ยังมีความเคลื่อนไหวในประเด็นทางสังคมอีกมากมายเกิดขึ้นทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา และสิ่งที่น่าสนใจคือทั้งหมดเป็นการรณรงค์ของคนรุ่นใหม่

อาจเร็วไปที่จะบอกว่าความเคลื่อนไหวเหล่านี้ 'ประสบความสำเร็จ' แต่อย่างน้อยก็ทำให้มีการตั้งคำถามใหม่ๆ ที่อาจจะนำไปสู่ความเปลี่ยนแปลงในอนาคตได้

'สตาร์ทอัป' พรรคการเมืองในบราซิล 

"การเมืองเป็นเรื่องสกปรก เต็มไปด้วยการทุจริตคอร์รัปชัน เล่นพรรคเล่นพวก และการยึดครองอำนาจของคนรุ่นเก่าๆ ไม่กี่กลุ่ม" ทั้งหมดนี้เป็นภาพสะท้อนแวดวงการเมืองที่คนรุ่นใหม่จำนวนมากต้องการหลีกหนีให้ไกล แต่ขณะเดียวกันก็มีกลุ่มคนรุ่นใหม่จำนวนหนึ่งซึ่งมองว่า ถ้าหากอยากได้การเมืองที่โปร่งใสและเป็นธรรม ก็ต้องลงมือลงแรงผลักดันให้เกิดความเปลี่ยนแปลงด้วยตัวเอง

นับตั้งแต่อดีตประธานาธิบดีดิลมา รุสเซฟฟ์ ผู้นำบราซิล ถูกถอดถอนพ้นจากตำแหน่งเมื่อปี 2559 เพราะถูกกล่าวหาว่าเกี่ยวพันการทุจริต จากการปรับเปลี่ยนตัวเลขงบประมาณประจำปี ทำให้รองประธานาธิบดีมิเชล เทเมอร์ เข้ารับตำแหน่งต่อ แต่ก็ไม่ได้ช่วยให้สถานการณ์ทางการเมืองในบราซิลดีขึ้น เพราะมีรายงานเปิดโปงตามมาว่าเจ้าหน้าที่รัฐบาลอีกหลายคนเกี่ยวข้องกับการทุจริตเช่นกัน

อิโลนา ซาโบ นักเคลื่อนไหวต่อต้านยาเสพติด วัย 39 ปี ร่วมก่อตั้งกลุ่ม Agora หรือ Now เพื่อสร้างเครือข่ายคนรุ่นใหม่ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงบรรยากาศทางการเมืองเดิมๆ และล่าสุดกลุ่มอะกอราได้ประกาศว่าจะส่งตัวแทนลงสมัครรับเลือกตั้ง ส.ส. และ ส.ว.ของบราซิลในเดือน ต.ค.ปีนี้ 

บราซิล

(กลุ่มต่อต้านความรุนแรงในนครรีโอเดจาเนโรเป็นหน่ึงความเคลื่อนไหวทางสังคมที่เป็นกระแสในบราซิล)

สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมคือเครือข่ายอะกอราไม่รับการสนับสนุนจากบริษัทเอกชนหรือนิติบุคคล แต่ทางกลุ่มได้ระดมความคิดเห็นเกี่ยวกับนโยบายและแนวทางการผลักดันประเด็นทางสังคมต่างๆ เพื่อระดมเงินบริจาคจากคนทั่วไปแทน โดยตั้งเป้าว่าวิธีนี้จะช่วยลดปัญหานายทุนเข้าไปมีบทบาทหรือมีอิทธิพลเหนือพรรคการเมืองในอนาคตได้ 

นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเคลื่อนไหวทางสังคมในบราซิลที่ออกมารณรงค์ในประเด็นอื่นๆ ไม่่ว่าจะเป็นการต่อต้านความรุนแรงและการใช้กำลังอาวุธปราบปรามเครือข่ายอาชญากรรมในชุมชนแออัดต่างๆ ในนครรีโอเดจาเนโร รวมถึงกลุ่มซ้ายจัดและกลุ่มขวาจัดที่มีประเด็นร่วมกันคือการเรียกร้องการปราบปรามคอร์รัปชัน ซึ่งถือได้ว่ามีความหลากหลายและน่าจับตามองว่าขบวนการเหล่านี้จะทำให้เกิดความเปลี่ยนแปลงในด้านต่างๆ อย่างไรในอนาคต

ขบวนการสนับสนุนประชาธิปไตยในฮ่องกง  

บทบาทของ 'โจชัว หว่อง' และผองเพื่อน ไม่ว่าจะเป็น แอกเนส เจา นาธาน เหลา และอีวาน หล่ำ ซึ่งรวมตัวประท้วงยืดเยื้อตั้งแต่เดือน ก.ย.-ธ.ค. 2557 เพื่อเรียกร้องการปฏิรูประบบเลือกตั้งฮ่องกง จนถูกขนานนามว่าเป็น 'การปฏิวัติร่ม' เป็นกลุ่มคนรุ่นใหม่ในฮ่องกงที่ชาวไทยคุ้นเคยดี เพราะกลุ่มคนรุ่นใหม่เหล่านี้ออกมาเคลื่อนไหวหลังจากที่กลุ่ม กปปส.ออกมาชุมนุมขับไล่รัฐบาล น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร จนนำไปสู่การรัฐประหารในประเทศไทยได้ไม่นาน และกลุ่มผู้ชุมนุม กปปส.บางส่วนก็ยกย่องการชุมนุม 'อ็อคคิวพายเซ็นทรัล' ในฮ่องกง ว่าเป็นการเคลื่อนไหวของคนรุ่นใหม่ที่น่าชื่นชม

โจชัว หว่อง

(การปักหลักประท้วง 'อ็อคคิวพายเซ็นทรัล' เมื่อปี 2557 ถูกสื่อตั้งฉายาว่าการปฏิวัติร่ม)

อย่างไรก็ตาม นักกิจกรรมเหล่านี้ไม่ได้หยุดแค่การชุมนุมเรียกร้องการปฏิรูปเมื่อปี 2557 แต่พวกเขายึดมั่นในการเรียกร้องประชาธิปไตยในฮ่องกง และรวมตัวกันตั้งพรรคการเมืองเดโมซิสโต เพื่อลงสมัครชิงตำแหน่งสมาชิกสภาบริหารฮ่องกง รวมถึงเรียกร้องให้เกิดประชาธิปไตยในฮ่องกงที่ปราศจากการแทรกแซงจากรัฐบาลจีนแผ่นดินใหญ่ 

เมื่อปีที่ผ่านมา โจชัว หว่อง และนักกิจกรรมคนอื่นๆ ถูกตัดสินจำคุกจากการชุมนุมเมื่อปี 2557 และยังมีข้อหาอื่นๆ ที่ค้างอยู่ แต่หว่องและสมาชิกคนอื่นๆ ก็ยืนยันว่าจะต่อสู้ในวิถีทางทางการเมืองต่อไปจนกว่าฮ่องกงจะเป็นประชาธิปไตยโดยสมบูรณ์

พลังกลุ่มยุวชนในพรรคซ้ายกลางแห่งเยอรมนี

แม้ว่าเยอรมนีจะจัดการเลือกตั้งไปตั้งแต่เดือน ก.ย.ปีที่แล้ว แต่ไม่มีพรรคใดครองเสียงข้างมาก โดยคะแนนของพรรคอนุรักษ์นิยม CDU ซึ่งเป็นพรรครัฐบาล ไม่ชนะขาดพรรค SPD ซึ่งมีแนวคิดซ้ายกลาง และไม่สามารถหาข้อยุติเพื่อตั้งรัฐบาลได้ เป็นภาพสะท้อนภาวะถดถอยของพรรค CDU ของนางอังเกลา แมร์เคิล นายกรัฐมนตรีเยอรมนี 

เควิน คูห์แนร์ต สมาชิกพรรค SPD วัย 28 ปี ซึ่งได้รับเลือกเป็นแกนนำยุวชนของพรรคเมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมา ได้ออกมาเคลื่อนไหวในแคมเปญ NoGroKo (No Großen Koalition) ที่แปลว่า ไม่เอารัฐบาลผสมระหว่างสองพรรคใหญ่ที่สุดของเยอรมนี ซึ่งก็คือพรรค CDU และพรรค SPD ซึ่งเป็นสูตรตั้งรัฐบาลผสมในช่วง 8 ปีที่ผ่านมา โดวคูแนร์ตให้เหตุผลว่า หากจัดตั้งรัฐบาลผสมแบบเดิม ประเทศชาติก็จะไม่มีอะไรเปลี่ยนแปลง 

Kuhnert.jpg

(แกนนำยุวชนพรรค SPD เป็นผู้รณรงค์แคมเปญต่อต้านรัฐบาลผสมจาก 2 พรรคใหญ่)

การเคลื่อนไหวดังกล่าวนำไปสู่การลงมติของสมาชิกพรรค SPD กว่า 460,000 คนเมื่อวันที่ 4 มี.ค.ที่ผ่านมา เพื่อหยั่งเสียงว่าสมาชิกพรรคต้องการอะไรแน่ และผลปรากฏว่าร้อยละ 66.02 ของสมาชิกพรรคทั้งหมด 'เห็นชอบ' การร่วมจัดตั้งรัฐบาลผสมกับพรรค CDU แต่ผู้สนับสนุนแนวคิดของคูแนร์ตร้อยละ 33.98 ก็ถือเป็นความเคลื่อนไหวที่สำคัญ และเป็นแรงผลักดันให้สมาชิกพรรค SDP ตัดสินใจได้ชัดเจนขึ้น จนนำไปสู่การปลดล็อกทางการเมือง โดยคาดว่าสิ้นเดือน มี.ค.นี้จะมีการจัดตั้งรัฐบาลใหม่ได้ หลังจากเกิดภาวะชะงักงันมานานเกือบ 6 เดือน

ผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิงลุกขึ้นต้าน 'การครอบครองปืน'

เหตุกราดยิงเกิดขึ้นในสหรัฐฯ นับครั้งไม่ถ้วน แต่นโยบายควบคุมอาวุธปืนของสหรัฐฯ ก็ยังถูกคัดค้านจากสมาชิกพรรคอนุรักษ์นิยมรีพับลิกัน ซึ่งมีผู้สนับสนุนที่สำคัญอย่างสมาคมปืนไรเฟิลแห่งชาติ และสหรัฐฯ เป็นไม่กี่ประเทศพัฒนาแล้วที่ไม่ควบคุมการจำหน่ายปืนให้กับพลเรือน 

แต่กระแสเรียกร้องกดดันให้ควบคุมปืนเริ่มรุนแรงขึ้น หลังเกิดเหตุกราดยิงในโรงเรียนมัธยมมาร์จอรี สโตนแมน ดักลาส ในรัฐฟลอริดา เมื่อวันที่ 14 ก.พ. ทำให้มีผู้เสียชีวิต 17 คน และนักเรียนผู้รอดชีวิตได้รวมตัวกันเรียกร้องให้รัฐบาลนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีคนปัจจุบัน เอาจริงเอาจังกับการควบคุมการครอบครองและจำหน่ายอาวุธปืน 

เอ็มมา กอนซาเลซ

'เอ็มมา กอนซาเลซ' นักเรียนหญิงชั้นมัธยมปลายซึ่งโกนศีรษะจนสั้นเกรียน หนึ่งในผู้รอดชีวิตจากเหตุกราดยิง เป็นผู้หนึ่งที่ลุกขึ้นมาเคลื่อนไหว และเป็นผู้กล่าวประณามนายทรัมป์และสมาคมปืนไรเฟิลว่า 'หน้าไม่อาย' ที่ยังคงสนับสนุนธุรกิจอาวุธปืนโดยไม่คำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชน โดยเธอย้ำด้วยว่า ผู้ก่อเหตุอาจจะมีปัญหาป่วยทางจิต แต่การเปิดให้ซื้อขายอาวุธปืนโดยไม่ควบคุมหรือตรวจสอบประวัติให้ดี เป็นประเด็นสำคัญที่ทำให้เกิดความสูญเสียอย่างใหญ่หลวงตามมา

เธอย้ำว่า ผู้ป่วยทางจิตคงไม่สามารถสังหารหมู่คนเป็นจำนวนมากได้ถ้าหากใช้มีดเป็นอาวุธ

การเคลื่อนไหวของกลุ่มนักเรียนผู้รอดชีวิตและคำปราศรัยของกอนซาเลซ ทำให้ทรัมป์สั่งกระทรวงยุติธรรมให้ออกกฎห้ามขายอุปกรณ์แต่งปืนไรเฟิลที่เรียกว่า บัมพ์สต็อก หรือพานท้ายดัดแปลง ซึ่งเป็นอุปกรณ์ที่ทำให้ยิงปืนได้ถึง 90 นัดในเวลา 10 วินาที 

เด็กหนุ่มซีเรีย 'เซลฟีให้โลกรู้' ชีวิตกลางสงครามเป็นอย่างไร

สงครามกลางเมืองซีเรียยืดเยื้อมานานกว่า 7 ปี และประชาคมโลกเริ่มลดงบประมาณช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแก่ผู้ลี้ภัยชาวซีเรีย แต่ประเทศมหาอำนาจอย่างสหรัฐฯ และรัสเซีย ยังคงสนับสนุนด้านอาวุธและกำลังทหารในการต่อสู้ระหว่างกองทัพรัฐบาลซีเรียกับกลุ่มติดอาวุธฝ่ายกบฎ

MuhammadNajem20.jpg

สิ่งที่ตามมาคือประชาชนซีเรียที่ตกอยู่ในวงล้อมสงครามกลางเมืองติดอยู่ในสภาพ 'ไร้ทางออก' เพราะไม่สามารถอพยพลี้ภัยได้อย่างปลอดภัย ในบางเมืองประชาชนถูกใช้เป็นโล่มนุษย์ และในบางครั้งมีการใช้ก๊าซพิษโจมตีกลุ่มกบฎ ทำให้ประชาชนได้รับผลกระทบบาดเจ็บและเสียชีวิต จนไม่สามารถดำเนินชีวิตได้อย่างปกติสุข

องค์กรระหว่างประเทศด้านสิทธิมนุษยชนประเมินว่าประชาชนซีเรียในพื้นที่สู้รบจะประสบปัญหาขาดแคลนอาหาร ส่วนเด็ก ผู้หญิง และผู้สูงอายุ เป็นประชากรกลุ่มเปราะบางที่จะเสียชีวิตหรือป่วยเรื้อรังก่อนวัย แต่ความช่วยเหลือที่ส่งไปให้ชาวซีเรียกลับค่อยๆ ทยอยลดลงอย่างต่อเนื่อง เพราะองค์กรภายใต้ร่มสหประชาชาติไม่ได้รับเงินบริจาคตามเป้าหมาย ส่งผลกระทบต่อโครงการช่วยเหลือชาวซีเรีย

แต่ทั่วโลกเริ่มหันมาสนใจปัญหาซีเรียรอบใหม่ หลังจาก 'มูฮัมหมัด นาเจม' เด็กหนุ่มวัย 15 ปี ถ่ายวิดีโอและภาพเซลฟีของตัวเองและคนรู้จักเผยแพร่ในอินสตาแกรมและทวิตเตอร์โดยใช้ชื่อว่า muhammadnajem20 และมีฉากหลังเป็นซากปรักหักพัง เสียงระเบิดและเสียงปืนที่ถูกยิงกระหน่ำในเมืองกูตา หนึ่งในสมรภูมิรบในซีเรีย ทำให้ผู้ใช้เครือข่ายโซเชียลทั่วโลกได้เห็นความหายนะที่ชาวเมืองกูตาประสบอยู่ในชีวิตประจำวันผ่านภาพถ่ายของมูฮัมหมัด

แม้ภาพหลายภาพในไอจีของมูฮัมหมัดจะเป็นการนำภาพอื่นๆ มาเผยแพร่ต่อ และไม่อาจระบุความถูกต้องได้ แต่อีกหลายภาพและวิดีโอเป็นเรื่องราวของมูฮัมหมัด โดยโพสต์หนึ่งของเขาระบุเป็นภาษาอังกฤษซึ่งแปลได้ว่า "พวกคุณอาจจะเบื่อรูปภาพนองเลือดของพวกเราแล้ว และคุณคงจะได้เห็นแล้วว่าพวกเราถูกฆ่าอย่างไร แต่พวกเราก็ยังอยากจะขอร้องต่อไปว่า ได้โปรดช่วยเด็กๆ ในกูตาด้วย"

หลังจากสื่อตะวันตกรายงานข่าวเกี่ยวกับภาพเซลฟีของมูฮัมหมัด นาเจม ก็เกิดกระแสการเผยแพร่ภาพเด็กๆ ในซีเรียลงในสื่อโซเชียล พร้อมข้อความสั้นๆ เพื่อบอกให้โลกรู้ว่า พวกเขายังมีชีวิตอยู่ และไม่อยากจะถูกลืม

อ่านเพิ่มเติม: