ไม่พบผลการค้นหา
เครือข่ายนิวกราวด์เผยผลสำรวจคนรุ่นใหม่ สะท้อนสิ่งที่อยากได้จากผู้ใหญ่ ไม่ตีกรอบความคิด ให้อำนาจเยาวชนตัดสินใจ

เครือข่ายนิวกราวด์ (Newground Lap) องค์กรศึกษา วิจัย และสนับสนุนให้เกิดทางเลือกในการแก้ปัญหา และพัฒนาคุณภาพชีวิตประชากร จัดแถลงข่าวเปิดผลสำรวจความเห็นคนรุ่นใหม่ที่มีต่อผู้ใหญ่ในประเทศ เนื่องใน 'วันเด็กแห่งชาติ' ซึ่งปีนี้ตรงกับวันที่ 13 มกราคม ภายใต้หัวข้อ "ของขวัญ 5 สิ่ง ที่เด็กเยาวชนอยากได้จากผู้ใหญ่" จากจำนวนผู้ตอบ 7,010 ตัวอย่าง จำแนกเป็น เด็กเยาวชน 6,010 คน และประชาชนทั่วไป 1,000 คน ระหว่างวันที่ 3-31 ธันวาคม 2560

_X3A7646.JPG

จากการสำรวจมุมมองของเด็กเยาวชน พบว่า กลุ่มตัวอย่างให้เกรด C (ช่วงคะแนน 60-64 คะแนน) ใน 4 เรื่อง ได้แก่ การมีความคิดใหม่ คิดสิ่งดีๆ, เลือกวิถีชีวิตเองได้ ทำสิ่งที่อยากทำ, มีสิ่งดีๆ รออยู่หลังจากทำภาระต่างๆ สำเร็จ และรู้สึกว่ามีโอกาสอยู่รอบตัว ขณะที่ให้เกรด D (ช่วงคะแนน 50-54 คะแนน) ใน 2 เรื่อง คือ การใช้ความรู้ที่เรียนมา กับ การเข้าถึงโอกาส และให้เกรด F (ช่วงคะแนนต่ำกว่า 50) ในเรื่องภาระที่ต้องทำ เพราะมีภาระเยอะ

ส่วนมุมมองต่อผู้ใหญ่ในสายตาเยาวชน พบประเด็นน่าสนใจคือ เด็กเยาวชนสะท้อนว่า ผู้ใหญ่ขอโทษและแสดงความรู้สึกผิดต่อเด็กเยาวชน มีคะแนนต่ำสุด และคิดว่า เป็นตัวของตัวเองน้อยที่สุดเมื่ออยู่กับผู้ใหญ่ แต่เป็นตัวเองของตัวเองสูงเมื่ออยู่ในกลุ่มเพื่อนที่สนใจเรื่องเดียวกัน

นอกจากนี้ เด็กเยาวชนยังระบุด้วยว่า สามารถหาคำตอบในสิ่งที่สงสัยได้จากอินเตอร์เน็ตมากที่สุด โดยให้เป็นเกรด A (ช่วงคะแนน 80-100) แหล่งต่อมาคือ แวดวงกลุ่มเพื่อน สิ่งที่ได้เรียนมา ขณะที่การได้ข้อมูลจากผู้ใหญ่ และอื่นๆ เช่น วัด ศูนย์วิจัย โทรทัศน์ มีคะแนนต่ำสุด

_X3A7669.JPG

อีกทั้ง ยังมีเสียงสะท้อนว่า พวกเขาไม่มีความมั่นใจเลยว่าจะได้รับความยุติธรรมเมื่อมีปัญหากับผู้ใหญ่หรือผู้ที่มีอำนาจกว่า เช่น ครู ซึ่งผลสำรวจให้คะแนน FFF ด้วยซ้ำ อีกทั้งพวกเขามีความมั่นใจต่ำมาก ว่าจะได้รับความช่วยเหลือหากถูกคุกคามทางเพศ แต่กลับมั่นใจว่าเมื่อสุขภาพไม่ดีจะได้รับการรักษาอย่างเต็มที่ 

ส่วนของขวัญที่อยากได้จากผู้ใหญ่ คือการรับฟังและเข้าใจ อยากให้ผู้ใหญ่ปรับปรุงตัวเอง ปรับปรุงระบบการศึกษา ให้อำนาจเยาวชน และอยากให้การเมืองดีขึ้น อีกด้านหนึ่ง อยากให้ประเทศปรับปรุงเรื่ิองการศึกษา ระบบสาธารณะ และการเดินทางทางคมนาคมมากกว่า การเมืองและเศรฐกิจ

ด้านนายวริศ ลิขิตอนุสรณ์ หนึ่งในทีมงาน Newground Lab ให้ความเห็นว่า สิ่งแรกที่ผุดออกมาจากคำตอบในแบบสำรวจ คือปัญหาของเยาวชน ไม่ได้ถูกรับฟังจากผู้ใหญ่ และตัวแทนของเยาวชนที่อยู่บนหน้าสื่อไม่ได้พูดสิ่งที่พวกเขาอยากจะสื่อสารกับผู้ใหญ่ ขณะเดียวที่ ตัวเลขจากการสำรวจสะท้อนว่าเยาวชนในสังคมไทยเป็นตัวของตัวเองน้อยที่สุด พร้อมกับคิดว่า เงินหรือทรัพยากรที่ให้การสนับสนุนต่างๆ ไม่ได้ส่งถึงมือพวกเขาจริงๆ เนื่องจากไม่มีอำนาจตัดสินใจ และต้องทำตามโจทย์ของผู้ใหญ่ 

สิ่งหนึ่งที่น่าสนใจ คือประเด็นศาสนา ในการสำรวจพบว่า เยาวชนรุ่นใหม่รู้สึกเป็นตัวของตัวเอง เมื่อได้ทำพิธีกรรมทางศาสนา มากกว่าการพูดคุยกับผู้ใหญ่ ซึ่งอาจเป็นเพราะพวกเขาได้พูดคุยกับตัวเอง หรือพูดคุยกับส่ิงที่ตนมีความเชื่อ ทำให้รู้สึกว่ามีคนรับฟังและพร้อมเปิดเผยตัวตนที่ถูกซ่อนเอาไว้