ไม่พบผลการค้นหา
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดวงเสวนาหัวข้อ 'เมื่อถึงทางแยก: ความท้าทายและอนาคตระบบสวัสดิการไทย' ผ่านความเห็นและมุมมองของ 3 นักเศรษฐศาสตร์ที่ชี้ให้เห็นถึงปัญหาที่หมักหมมตั้งแต่อดีตรวมถึงแนวทางการปรับปรุงและพัฒนาในอนาคต
ธร ปีติดล

ดร.ธร ปีติดล อาจารย์ประจำ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ว่าปัญหาของระบบสวัสดิการในไทยไม่ได้รับความสนใจ เพราะถูกบดบังด้วยวิกฤติการเมืองในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา ทำให้เกิดทั้งความเหลื่อมล้ำและช่องโหว่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการขาดสวัสดิการสำหรับเด็ก ผู้สูงอายุ และแรงงานนอกระบบ

สำหรับทางแก้ที่จะช่วยอุดช่องโหว่นี้ คือการทำให้สวัสดิการเป็นเรื่องของทุกคน ไม่ใช่เป็นแค่ของคนจนเท่านั้น เพราะหากมองในระยะยาวการช่วยเหลือแค่คนจนอย่างเดียวจะนำไปสู่ปัญหาระยะยาวที่ความช่วยเหลือจากภาครัฐจะถูกลดทอนความสำคัญ เพราะมองเพีียงการช่วยคนจนเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม แนวคิดนี้ได้รับการสนับสนุนจากงานวิจัยเรื่อง "Paradox of REdistribution" ของ Korpi และ Palme ที่มีใจความสำคัญว่า ประเทศที่เน้นสวัสดิการแบบถ้วนหน้าสามารถลดความเหลื่อมล้ำได้ดีกว่าประเทศที่เน้นการอุดหนุนคนจน

ทว่าจะเห็นได้ชัดเจนว่ารัฐบาลของพลเอกประยุทธ์เลือกที่จะเน้นสวัสดิการแบบเจาะจง โดยในยุทธศาสตร์ชาติได้พูดถึงประชากรร้อยละ 40 ที่มีรายได้ต่ำสุด เพื่อให้สามารถถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือ บัตรคนจนได้

ส่วนสาเหตุที่รัฐบาลเลือกที่จะเน้นการอุดหนุนคนจนมากกว่าที่จะช่วยเหลือประชากรทั้งหมดนั้นมีได้สองด้าน ได้แก่ 1) รัฐบาล คสช. ต้องการหานโยบายสักอันขึ้นมาตอบโจทย์เศรษฐกิจฐานราก เพราะตั้งแต่เข้ามาเป็นรัฐบาลยังไม่มีผลงานใดเป็นรูปธรรม 2) กระทรวงการคลังต้องควบคุมงบประมาณในการใช้จ่าย ซึ่งจะทำให้ไม่สามารถสร้างนโยบายที่ต้องดูแลคนทั้งหมดได้ 



เอื้อมพร พิชัยสนิธ

สวัสดิการดี ต้องเก็บภาษีแพง ?

ศ.ดร. เอื้อมพร พิชัยสนิธ อาจารย์ประจำคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกตัวอย่างประเทศที่มีเรื่องรัฐสวัสดิการที่มีชื่อเสียงระดับโลกอย่างสวีเดนว่า การที่ประชากรชาวสวีเดนสามารถเข้าถึงสวัสดิการพื้นฐานต่างๆ ได้อย่างเสรีและทั่วถึงไม่ได้ได้มาอย่างโชคช่วย แต่เป็นการดำเนินการร่วมกันทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนเอง

จากงานวิจัยพบว่ารายจ่ายสาธารณะของรัฐบาลนั้นอยู่ที่ประมาณร้อยละ 30 ของจีดีพี ซึ่งก็มาจากเงินภาษีของชาวสวีเดนซึ่งสูงเป็นอันดับ 1 ของโลก โดยในปี 2557 สูงถึงร้อยละ 56.86 และเมื่อมองให้ลึกลงไปอีกจะพบว่า ประเทศสวีเดนมีค่าสัมประสิทธิ์จีนี หรือ ค่าแสดงความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ต่ำที่สุดในโลก

เพราะก่อนที่จะมีการจัดสรรภาษีจากภาครัฐก็มีค่าความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้ใกล้เคียงกับประเทศไทย แต่เมื่อมีการจัดสรรภาษีแล้ว สวีเดนสามารถจัดการให้ตนเป็นประเทศที่มีค่าความเหลื่อมล้ำของการกระจายรายได้น้อยที่สุดในโลก


"ทุกอย่างมีความสัมพันธ์กันหมด ใช่ว่าอยู่ดีๆ อยากได้สวัสดิการครอบคลุมครบทุกอย่างแล้วจะไม่ต้องเสียอะไรเลย สมการมันต้องเท่ากันทั้งสองข้างมันถึงจะสมดุล" ศ.ดร.เอื้อมพร กล่าว

รัฐสวัสดิการของสวีเดนเริ่มต้นได้อย่างสวยงามและประสบความสำเร็จดั่งตัวเลขต่างๆ ที่ออกมา แต่เมื่อเวลาผ่านไปรัฐสวัสดิการก็เจอกับปัญหาเช่นเดียวกัน โดยหลายประเทศที่กำลังเข้าสู่สังคมสูงวัย เช่น ประเทศแถบสแกนดิเนเวียที่มีโมเดลรัฐสวัสดิการก็เผชิญกับปัญหานี้เช่นเดียวกัน

"ประเทศเหล่านี้กำลังมีทรัพยากรบุคคลขับเคลื่อนน้อยลงเรื่อยๆ ขณะที่ประชากรที่ต้องได้รับการโอบอุ้มกลับมากขึ้น ด้วยเหตุนี้หลายประเทศที่ใช้ระบบรัฐสวัสดิการจึงต้องเริ่มปรับตัว เช่น ในเดนมาร์กที่ปรับกฏหมายการจ้างงานให้มีความยืดหยุ่นขึ้น และหลายๆ ประเทศก็ได้ยืดอายุการทำงานเช่นกัน" 

สังคมสูงวัย-สุขภาพย่ำแย่-การศึกษาต่่ำ-เศรษฐกิจถดถอย แรงกดดันสร้างรัฐสวัสดิการ

ศ.ดร. เอื้อมพร พาเรากลับมามองถึงปัญหาและทางออกของสวัสดิการของประเทศไทย จากเงื่อนไขที่เผชิญอยู่ไม่ว่าจะเป็นการเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ ค่าใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่มีแนวโน้มสูงขึ้น ซึ่งสัมพันธ์กับการเป็นสังคมผู้สูงอายุรวมไปถึงรูปแบบการใช้ชีวิตที่ก่อให้เกิดผลเสียต่อสุขภาพ ระดับการศึกษาเฉลี่ยที่อยู่ในระดับต่ำ รายได้ทางภาษีที่ไม่สอดคล้องกับการเติบโตทางเศรษฐกิจ และอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ในระยะถดถอย

เงื่อนไขเหล่านี้จึงจำเป็นต้องหาทางออกที่ดีที่สุด เพื่อทำให้สวัสดิการที่รัฐจัดให้แก่ประชาชนเกิดผลผลิตกลับสู่ระบบเศรษฐกิจและก่อให้เกิดรายได้กลับสู่ภาครัฐ

ดังนั้น จึงได้เสนอ 2 ตัวอย่างจัดการกับปัญหาดังกล่าว

1. เพิ่มทางเลือกในการทำงานให้กับผู้สูงอายุ เนื่องจากปัจจุบันมีจำนวนผู้สูงอายุ ที่อายุระหว่าง 60-79 ปี ซึ่งไม่นับรวมผู้พิการและผู้ที่ต้องการการดูและระยะยาวถึง 8.3 ล้านคน แรงงานกลุ่มนี้ถือได้ว่ามีศักยภาพที่จะเป็นปัจจัยสำคัญในการขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจและบรรเทาสภาวะตึงเครียดทางการเงินการคลังในอนาคต ด้วยการเพิ่มการจ้างงานที่จะส่งผลให้ผู้สูงอายุไม่หลุดจากวงจรการผลิต เพิ่มรายได้ผู้สูงอายุ และยังเพิ่มรายได้ภาษีแก่รัฐ

2. สร้างชุดนโยบาย (Policy Package) ด้วยการจัดบริการดูแลระยะยาว รวมถึงการฝึกอาชีพผู้ดูแลผู้สูงอายุ จากงานวิจัยพบว่าโมเดลนี้เป็นการลงทุนที่ได้ผลตอบแทนคุ้มค่า 

ในตอนท้าย ศ.ดร.เอื้อมพรสรุปว่า หากเราสามารถสร้างระบบนิเวศน์การให้สวัสดิการของรัฐเปรียบเสมือนวัฏจักรของการเกิดฝนได้ เราก็จะมีสวัสดิการที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนได้



วิโรจน์ ณ ระนอง

รัฐสวัสดิการจะเวิร์คก็ในสังคมที่เหลื่อมล้ำน้อย

ดร. วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เอ่ยถึงความเหลื่อมล้ำของสวัสดิการว่าแท้จริงแล้วต้นกำเนิดมาจากปัญหาชนชั้น ยิ่งเรามีความเหลื่อมล้ำมากเท่าไหร่ก็ยิ่งเป็นเรื่องยากในการออกแบบสวัสดิการ

พร้อมกับได้หยิบยกข้อความในเฟซบุ๊กของอาจารย์อิสร์กุล อุณหเกตุ อาจารย์คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่กล่าวว่า "รัฐสวัสดิการจะเวิร์คก็ต่อเมื่อสังคมมีความเหลื่อมล้ำน้อย คนที่จ่ายภาษีเพื่อให้รัฐสวัสดิการอยู่ได้ต้องเป็นคนที่ได้รับประโยชน์จากสวัสดิการนั้นๆ กล่าวคือ จ่ายภาษีเพื่อตัวเองไม่ใช่เพื่อคนอื่น" หรือพูดอีกอย่างคือ "รัฐสวัสดิการเป็นผล ไม่ใช่เป็นเหตุ" 

โดยยกตัวอย่างถึงกรณีที่ 'ตูน-บอดี้สแลม" ออกมาวิ่งและทุกคนเต็มใจบริจาคเงิน แต่พอมีข่าวว่าจะขึ้นภาษีทุกคนกลับออกมาคัดค้าน ขณะเดียวกันก็อยากได้สวัสดิการที่ครอบคลุมแบบสวีเดน

นั้นเพราะการบริจาคอาจดูดีแต่ทำได้ผลในวงจำกัด และอาจกลายเป็นการกดดันการเก็บภาษีสังคมในที่สุด ซึ่งสุดท้ายก็ต้องมีคนจ่ายภาษีไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง

ดังนั้นดร. วิโรจน์ จึงสรุปในตอนท้ายว่าอนาคตของสวัสดิการไทยควรเน้นที่การเป็นสวัสดิการพื้นฐานแบบถ้วนหน้ามากกว่ามุ่งเน้นแต่จะช่วยคนจน เพราะการมุ่งเน้นแต่คนจนนั้นจะเป็นชนวนให้มีอัตราเลือกคนผิดพลาดสูง เพราะแต่ละคนรู้ดีถึงความเสี่ยงที่จะจน เช่น เรื่องค่ารักษาพยาบาล ซึ่งทำให้หลายคนพยายามใช้เส้นสายและวิธีอื่นๆ เพื่อให้ได้สิทธิ เป็นต้น

ดร.วิโรจน์แสดงความเห็นถึงกับดักที่ประเทศไทยต้องเผชิญเนื่องจากยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ซึ่งจะขีดเส้นให้รัฐบาลต่อๆ ไปเดินตามที่รัฐบาลปัจจุบันกำหนดไว้ โดยกล่าวว่า ในระยะเวลา 20 ปี ต่อไปนี้ เราไม่อาจรู้ได้เลยว่านโยบายเหล่านี้จะย้อนกลับมาฆ่าเราเองหรือเปล่า อนาคตของสวัสดิการของไทยและประเทศไทยจึงน่าเป็นห่วงอย่างยิ่ง ถ้าทางที่ควรจะแยกได้ กลับถูกปิดตายและบังคับให้เดินไปทางเดียวกันหมด

โดยสิ่งที่นักเศรษฐศาสตร์บนเวทีนี้เห็นคล้อยกันคืออยากให้รัฐบาลสนับสนุนการทำให้เกิดสวัสดิการแบบถ้วนหน้ามากกว่าเฉพาะกลุ่ม



งานเสวนาอนาคตสวัสดิการไทย

'สวัสดิการรัฐ' เรื่องใหญ่ที่พรรคการเมืองหยิบฉวย

ทว่าในตอนท้ายของการสัมมนา พญ. เชิดชู สมสวัสดิ์ อริยศรีวัฒนา ประธานสหพันธ์ผู้ปฏิบัติงานด้านการแพทย์และสาธารณสุขแห่งประเทศไทย (สผพท.) และ พญ. อรพรรณ์ เมธาดิลกกุล กรรมการแพทยสภา มีความเห็นต่างโดยให้เหตุผลว่า การสนับสนุนสวัสดิการแบบถ้วนหน้าจะทำให้บริการเช่น 30 บาทรักษาทุกโรค มีคุณภาพต่ำลง และทำให้ผู้คนไม่ดูแลตัวเอง เนื่องจากคิดว่าไปพึ่งบริการ 30 บาท เอาก็ได้ รวมทั้งการทำให้บริการอย่าง 30 บาทรักษาทุกโรคเป็นสวัสดิการถ้วนหน้าจะทำให้รัฐบาลต้องแบกภาระทางการเงินมากขึ้นซึ่งจะไปหามาจากไหน และจะส่งผลกระทบไปถึงแพทย์ที่จะสามารถรักษาคนไข้ได้อย่างยากลำบากมากขึ้น เนื่องจากมียาให้ใช้อย่างจำกัด 

ทั้งนี้ ไม่ว่าบทสรุปจะออกมาเป็นอย่างไร สิ่งหนึ่งที่ไม่สามารถเลี่ยงได้ก็คือสวัสดิการรัฐเองก็เป็นหนึ่งในนโยบายที่หลายๆ พรรคมักหยิบยกขึ้นมาใช้ในการหาเสียงทางการเมือง งานวิจัยต่างๆ เกี่ยวกับสวัสดิการของรัฐจึงเป็นข้อมูลสำคัญต่อแต่ละพรรคการเมืองที่จะหยิบยกมาหาเสียง เสนอเป็นตัวเลือกให้ประชาชนรู้และเข้าใจว่าพรรคที่ตนจะเลือกนั้นมีแนวทางการบริหารประเทศแบบใดและตนเองจะได้รับสวัสดิการแบบใด