กระสุนยางที่ยิงออกจากปลายกระบอกปืน คือความรุนแรง เช่นเดียวกับการลิดรอนสิทธิและเสรีภาพในการต่อสู้ของ 'ผู้บริสุทธิ์' ที่ถูกจองจำแม้ไม่ใช่ 'นักโทษ'
ปรากฏการณ์เช่นนี้ทำให้เกิดคำถามว่า ในสายตาของของผู้ศึกษาศาสตร์ที่ปรารถนาจะเข้าใจมนุษย์อย่างลึกซึ้ง ไม่เพียงกายภาพ แต่ลงไปถึงห้วงอารมณ์ จะช่วยขยายความพฤติกรรมข้างต้นอย่างไรได้บ้าง
รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร โครงการบัณฑิตศึกษา คณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดปฐมบทความรุนแรงของรัฐผ่านการตามหาตัวละครที่หลบซ่อนอยู่
ด้วยความรุนแรงจากรัฐที่มักมีประสิทธิภาพอย่างเหลือเชื่อกับคนหนึ่งกลุ่ม และด้อยค่าเสียแทบมองไม่เห็นกลับคนอีกฝั่ง คำถามคือ เมื่อรัฐอ้างว่าความรุนแรงเป็นสิ่งจำเป็นเพื่อปกป้อง "ความปลอดภัยและมั่นคง" เช่นนั้น มันเป็นความปลอดภัยและมั่นคงของผู้ใด
"มั่นคงในความหมายที่จะปกป้องประชาชน หรือมั่นคงเพื่อปกป้องผู้มีอำนาจ"
"พออำนาจมันพลิกกลับมาเป็นคนอีกกลุ่มนึง การใช้อำนาจรัฐก็กลับทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ ประสิทธิภาพแปลว่าชอบธรรมรึเปล่า อันนี้ไม่แน่ใจ"
อำนาจกดขี่เจ้าของประเทศ ชวนให้หวนนึกถึง กวีจำนวน 32 บท ใต้ชื่อ 'สถาปนาสถาบันประชาชน' จากปลายปากกาของ 'ไม้หนึ่ง ก.กุนที' ที่มีใจความบรรยายสภาพชาติไทยตอนหนึ่งว่า
"ใจพิการเพราะประชาไร้อำนาจ ความเป็นชาติอยู่ในกำมือทหาร
การตัดสินของหมู่ตุลาการ ไม่พิพากษาในนามมหาชน"
ขณะที่อีกช่วงกลั่นอารมณ์ให้ดิ่งลงไปกว่านั้น
"ความเป็นชาติของคุณอยู่ตรงไหน สิเนรุอำไพเผือกสิงขร
เราคือฐานพีระมิดประชากร กัดกร่อนเรา คุณก็ล้มลงระยำ !"
กวีผู้ถูกสังหารกำลังบอกเราว่า ณ ดินแดนแห่งนี้ บทบัญญัติตามรัฐธรรมนูญที่ว่าด้วย 'อำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย' เช่นเดียวกับศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิ เสรีภาพ และความเสมอภาคของประชาชนย่อมได้รับความคุ้มครองเสมอกัน เป็นเพียงตัวอักษรเท่านั้น
หลายฝ่ายอ้าง "นายสั่งมา" เป็นประกาศิตไม่อาจเพิกเฉย แม้กรณีศึกษาชี้ชัด ท้ายสุดแล้ว เจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติตามคำสั่งไม่เพียงเป็นแต่เจ้าหน้าที่รัฐแต่ยังแบกความเป็นมนุษย์ไว้ด้วย
ครั้งนี้ รศ.ดร.ยุกติ มุกดาวิจิตร พาเราไปมองอีกมุมหนึ่งของเรื่องนี้ หากวางประเด็นแยกแยะ 'คำสั่ง' ออกจากการเป็น 'มนุษย์' เหตุใดเล่าเจ้าหน้าที่จำนวนไม่น้อยถึงมองว่า 'คำสั่ง' เป็นโองการศักดิ์สิทธิ์ จะละเมิดไม่ได้ การลดทอนมโนสำนึกของตัวเองจึงง่ายกว่า
เมื่อย้อนกลับไปยังเมล็ดพันธุ์ประชาธิปไตยในไทยจะพบว่า ประเทศไม่เคยทำให้ชัดเจนทั้งในตัวบทกฎหมายและวัฒนธรรมว่า 'อำนาจอธิปไตยเป็นของประชาชน'
ซ้ำร้าย วัฒนธรรมการเปลี่ยนบทบาทเจ้าหน้าที่รัฐให้กลายเป็นคนของสถาบันพระมหากษัตริย์ ภายใต้แนวคิดที่ติดไปกับคำว่า "ข้าราชการ" ยิ่งบั่นทอนอำนาจของประชาชนลงไปอีก
บทบัญญัติว่าด้วยการเป็นข้าราชการเกิดขึ้นจาก พระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2471 จากดำริของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาประชาธิปก พระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 7) ขณะที่ พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน ฉบับปัจจุบันที่ใช้อยู่เป็นของปี 2551
กรณีตัวอย่างเห็นได้ไม่อื่นไกลจากวงการ 'นักวิชาการ' ที่แม้แต่ตำแหน่งอย่างศาสตราจารย์ยังต้องได้รับการโปรดเกล้าฯ
"ประชาชนไม่มีความชอบธรรมพอที่จะใช้อำนาจเหนือข้าราชการ เพราะข้าราชการกลายไปเป็นคนที่อยู่ใต้อำนาจของสถาบันพระมหากษัตริย์ ตรงนี้เป็นความอันตราย กลายเป็นว่าอำนาจที่มาจากประชาชนไม่สามารถที่สั่งข้าราชการได้เต็มที่ ความศักดิ์สิทธ์ตรงนี้มันหายไป"
ยิ่งประชาชนตั้งคำถามหรือเรียกร้องต่อผู้มีอำนาจหรือสถาบันผู้แทนอำนาจโดยตรง ยิ่งกลายเป็นว่าอำนาจของพลเมืองไม่ศักดิ์สิทธิ์พอที่จะไปท้าทายอำนาจเหล่านั้น การปราบปรามจึงกลายเป็นเรื่องปกติ
หากจะสานฝันสุดท้ายที่กวีผู้ล่วงลับทิ้งไว้กับบทสุดท้ายของการสถาปนาความศักดิ์สิทธิ์ให้ประชาชน
"จะสมหวังวันที่ดีกว่านี้ มีกินใช้เพียงพอทุกเช้าค่ำ
สลายหมดหมู่เมฆทะมึนดำ ข้าวทุกคำเคี้ยงกินเองอิ่มสมบูรณ์"
ไม่มีคำตอบเสร็จสรรพหรือทางลัดแบบพรุ่งนี้ประกาศชัยชนะจากปากยุกติ ทว่า ในระยะยาว เขาเสนอให้มีการรื้อฐานรากฐานวัฒนธรรมอำนาจประเทศโดยตรง
ข้อเสนอง่ายนิดเดียว เพียงรัฐ "ต้องเห็นประชาชนมีความศักดิ์สิทธิ์โดยตัวของเขาเองมากขึ้น"
ความคาราคาซังทางวัฒนธรรมที่ดูจับต้องไม่ได้เหล่านี้ อาจเริ่มต้นได้จากสิ่งที่ดูเป็นรูปธรรมในการต่อสู้ที่สุดอย่าง 'รัฐธรรมนูญ' อันเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ
การแก้ไขสิ่งนี้อาจเป็นจุดเริ่มต้นของการเปลี่ยนแปลงที่สังคมไทยขณะนี้โหยหา เพราะ ธรรมนูญการปกครองชั่วคราว 2475 เองก็เคยมอบความหวังให้ชาวสยามเช่นกัน
ความพยายามแก้ไขรัฐธรรมนูญคือหนึ่งในข้อเรียกร้องที่ชอบธรรมทั้งยังสงบสันติที่สุดวิธีนึง ทว่า สันติวิธีีนี้กลับยากราวกับต้อง "ขอฝันใฝ่ในฝันอันเหลือเชื่อ"
แม้ประชาชนกว่า 100,000 ราย จะร่วมลงชื่อกับร่างแก้ไข รธน.ที่ iLaw เป็นผู้จัดทำ แต่ร่างดังกล่าวกลับถูกปัดตกอย่างง่ายดายจากทั้ง 'ผู้แทนราษฎร' และ 'ผู้ถูกคัดสรรจากคณะรัฐประหาร'
กระบวนการที่กำลังอยู่ในครรลองอำนาจเป็นของประชาชนผ่านผู้แทน กลับถูกขัดขาอีกครั้ง หลัง 'ไพบูลย์ นิติตะวัน' ส.ส.พลังประชารัฐ และ สมชาย แสวงการ ส.ว. เสนอญัตติ ที่รัฐสภาลงความเห็นว่าควรส่งเรื่องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่ารัฐสภาอันเป็นผู้แทนของประชาชนมีอำนาจแก้รัฐธรรมนูญหรือไม่ ก่อนได้รับคำตอบว่า "ใช่" พร้อมพ่วงเงื่อนไขการทำประชามติ 2 ครั้ง
การทำประชามติไม่เพียงต้องใช้งบประมาณ แต่แน่นอนว่ายังต้องใช้เวลาด้วยเช่นกัน ซึ่งเป็นสิ่งที่ยุกติไม่ลืมจะย้ำกับเราว่า "อย่าใจร้อน"
"การต่อสู้ทุกวันเราอาจจะไม่ได้ดอกผลหรอก คนที่ได้ดอกผลอาจเป็นคนอีกสัก 2-3 รุ่น ข้างหน้า คุณต้องนึกดูว่าคณะราษฎรทำอะไรได้ตั้งเยอะ ก็ยังทำมาได้แค่นี้เอง ปัจจุบัน เราไม่มีใครที่จะเทียบได้กับคณะราษฎรได้ด้วยซ้ำ แล้วเราคิดว่าเราจะทำอะไรได้มาก เพราะฉะนั้น 70-80 ปี ผ่านมาแล้ว มันก็มาได้แค่นี้เอง เราอาจจะยังต้องใช้เวลาอีกเยอะ"
ทว่าตลอด 89 ปีที่ผ่านมา ไปจนถึงอนาคตที่เมล็ดพันธุ์จะผลิดแกออกผล เราอาจยังต้องทนอยู่กับภาวะที่ "ประชาชนทั่วไปยังอาจถูกมองเหมือนเป็นมดเป็นปลวกอยู่อย่างนี้ ไม่มีค่าก็เป็นแค่ก้อนของชีวิตที่ไหลไปมา ทั้งที่แต่ละคนก็มนุษย์ เป็นคนที่มีค่ากับชีวิตเท่าๆ กับคนที่อยู่ในอำนาจเหมือนกัน"
ดูเหมือนเส้นทางการสถาปนาอำนาจประชาชนยังไม่ถึงรุ่งอรุณ
หมายเหตุ :
ข่าวที่เกี่ยวข้อง;