เมื่อ 31 ต.ค.ที่ผ่านมากรมสรรพสามิตประกาศกฎกระทรวง กำหนดพิกัดอัตราภาษีสรรพสามิต (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2560 สิ่งที่น่าสนใจในกฎหมายฉบับดังกล่าวคือการเก็บ ‘ภาษีความหวาน’ เช่นเดียวกับสินค้าเครื่องดื่มอย่างชาเขียว โดยส่งผลกับสินค้าชนิดดังกล่าวที่ทยอยปรับตัวขึ้นในเดือน พ.ย.นี้
การจัดเก็บนั้นเก็บตามปริมาณน้ำตาลต่อ 100 มิลลิลิตร อัตราสูงสุดอยู่ที่หากน้ำตาลมากกว่า 14 กรัมขึ้นไป ภาษีเรียกเก็บต่อลิตรที่ 1 บาทอัตราดังกล่าวจะปรับเพิ่มขึ้นทุก 2 ปี โดยจะปรับในวันที่ 1 ตุลาคมของปีที่ครบกำหนด เกิดคำถามว่าจะทำให้ผู้บริโภคลดลงจริงหรือ?
เมื่อคนจนต้องควักภาษีความหวาน ในอัตราที่มากกว่าคนรวย
ผู้สื่อข่าววอยซ์ทีวีพูดคุยกับ ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัยด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร ของทีดีอาร์ไอ กล่าวว่าในหลายประเทศก็มีการเก็บภาษีสินค้าที่มีผลกระทบต่อสุขภาพเช่นแถวตะวันออกกลาง หรือยุโรป และไม่ใช่เพียงแค่สินค้าที่มีความหวาน อาจจะรวมไปถึงสินค้าที่มีไขมันมากด้วย
เมื่อถามว่ามีการจัดเก็บดังกล่าวผู้บริโภคซื้อสินค้าน้อยลงจริงหรือไม่ในกรณีต่างประเทศ วิโรจน์กล่าวว่าอาจจะส่งผลในระยะเวลาแรก แต่สักพักผู้บริโภคก็จะสามารถปรับตัวได้ ส่วนในประเทศไทย ภาษีที่ทำให้สินค้าประเภทภาแฟกระป๋อง-ชาเขียวบรรจุขวดมีราคาเพิ่มขึ้นนั้นมี 2 ส่วนด้วยกัน ส่วนแรกที่กระทบจริงๆก็คือ ภาษีสรรพสามิตใหม่ที่ไปยกเลิกข้อยกเว้นว่า "ชา-กาแฟ บรรจุพร้อมดื่ม"เป็นสินค้าเกษตรทำให้ถูกจัดเก็บภาษีมากขึ้น และส่วนที่สองคือค่าภาษีความหวาน ที่ยังไม่ส่งผลในตอนแรกเพราะเป็นการจัดเก็บแบบขั้นบันได ต้องดูว่าเก็บเต็มอัตราจะส่งผลหรือไม่?
แล้วการจัดเก็บภาษีความหวานควรถูกจัดสรรเป็นงบเพื่อการสาธารณสุขหรือไม่? วิโรจน์ชี้ว่าขึ้นอยู่กับมุมมองของรัฐบาล โดยรัฐบาลมองว่าสินค้าเหล่านี้เป็นสินค้าฟุ่มเฟือยอยู่แล้ว แต่จะจัดสรรเป็นงบเพื่อสาธารณสุขหรือไม่ก็อยู่ที่รัฐบาลพิจารณา
สิ่งหนึ่งที่วิโรจน์ชี้ให้เห็นถึงจุดด้อยของการเก็บภาษีดังกล่าวก็คือ จะส่งผลกระทบต่อคนจนมากกว่าคนรวย เนื่องจากหากคุณเป็นผู้มีรายได้น้อย คุณเลือกบริโภคกาแฟกระป๋องที่ถูกจัดเก็บภาษีเพิ่ม แต่ในทางตรงกันข้ามหากคุณเป็นชนชั้นกลางคุณสามารถเข้าถึงกาแฟสดแก้วละ 45-100 บาทได้แต่สินค้าเหล่านั้นไม่ถูกจัดเก็บ เพราะภาษีจัดเก็บเฉพาะกลุ่มสินค้า "พร้อมดื่ม"เท่านั้น
วิโรจน์กล่าวว่าทางเลือกของคนจนมีน้อยมาก คือการเลิกดื่มสินค้าประเภทดังกล่าวไปเลย กับยอมแบกรับราคาที่สูงขึ้น เพราะถึงแม้จะสูงขึ้น แต่ก็ยังไม่เท่ากับพวกสินค้าประเภทกาแฟสดที่กลุ่มคนเหล่านี้เข้าถึงได้ สัดส่วนรายได้ต่อรายจ่ายของกลุ่มคนจนก็เพิ่มมากขึ้น แม้น้ำตาลหรือความหวานจะมีโทษหากบริโภคมากเกินไป แต่น้ำตาลก็เป็นหนึ่งในอาหารหลัก 5 หมู่เช่นกัน