ไม่พบผลการค้นหา
ระบบภาษีไทยช่วยลดความเหลื่อมล้ำหรือไม่ คนไทยเสียภาษีน้อยไปหรือมากไป แล้วเงินภาษีที่เก็บได้ถูกนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์เกิดประสิทธิผลอย่างทั่วถึงหรือไม่ วงเสวนาเรื่อง 'อัดฉีด เก็บภาษี ช่วยใคร?' จัดโดยโครงการติดตามเศรษฐกิจไทย คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมหาคำตอบ

เสวนาโครงการติดตามเศรษฐกิจไทยครั้งที่ 13 หรือ TEF13 (Thammasat Economic Focus) ที่คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดขึ้นในหัวข้อ 'อัดฉีด เก็บภาษี ช่วยใคร?' เมื่อบ่ายวันจันทร์ที่ 2 เม.ย. ผ่านข้อมูล ความเห็น และมุมมองจากภาควิชาการและภาคเอกชน 

ฝั่งวิชาการ ประกอบด้วย ดร.ธร ปีติดล ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ส่วนฝั่งเอกชนเพียง 1 เดียวบนเวที ได้แก่ ว่าที่ ร.อ. จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย 

สัมมนาภาษี มธ.

ไทยเก็บภาษีได้ต่ำกว่าศักยภาพการเติบโตทางเศรษฐกิจ

ดร.ธร ปีติดล อาจารย์จากคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดการเสวนา ด้วยการตั้งคำถาม 3 ข้อ คือ 1) ภาษีไทยอยู่ตรงไหนในโลก 2) ภาษีไทยทุกวันนี้ ตอบโจทย์ทางเศรษฐกิจอะไรบ้าง และ 3) ภาษีไทยควรจะไปทางไหน ซึ่งจากงานศึกษาของธนาคารโลก ทำให้พบว่า ภาษีรายได้บุคคลธรรมดาของไทยไม่ได้มีสัดส่วนมากนักและไม่ใช่รายได้หลักในระบบภาษีไทย และเมื่อเปรียบเทียบกับประเทศอื่นๆ อัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาของไทยขั้นสูงสุดที่ร้อยละ 35 ก็อยู่ระดับกลางๆ ถึงแม้จะสูงกว่าฟิลิปปินส์ (ร้อยละ 32) อินโดนีเซีย (ร้อยละ 30) มาเลเซีย (ร้อยละ 28) สิงคโปร์ (ร้อยละ 22) ฮ่องกง (ร้อยละ 15) แต่ก็ต่ำกว่า ญี่ปุ่น (ร้อยละ 50) จีน (ร้อยละ 45) และเกาหลีใต้ (ร้อยละ 39) 

ขณะที่ อัตราภาษีเงินได้นิติบุคคลไทยสูงสุดที่ร้อยละ 20 ซึ่งสูงกว่าประเทศอื่นๆ ในภูมิภาคบางประเทศบ้าง แต่ก็มีสิทธิพิเศษทางภาษีในหลายด้าน โดยเฉพาะเพื่อการกระตุ้นการลงทุนผ่านการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยไม่สามารถเก็บภาษีได้เต็มเม็ดเต็มหน่วยนัก

อย่างไรก็ตาม รายได้ภาษีหลักๆ ของประเทศไทยจึงมาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT 


"ถ้าดูจากการศึกษาของธนาคารโลก พบว่า ประเทศไทยยังเก็บภาษีได้ไม่เต็มศักยภาพเศรษฐกิจ คือไทยควรเก็บภาษีให้ได้ร้อยละ 25 ของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจหรือ จีดีพี แต่ในความจริงเก็บได้เพียงร้อยละ 20 หรือเก็บได้ต่ำกว่าประสิทธิภาพร้อยละ 5 ซึ่งส่วนหนึ่งอาจมาจากการเก็บภาษีไม่ได้ตามศักยภาพที่ผู้เสียภาษีจะจ่ายได้" ดร.ธร กล่าว


ธร ปีติดล

(ดร.ธร ปีติดล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

การปฏิรูปภาษีต้องอยู่บนฐานความโปร่งใส สร้างการยอมรับ เชื่อใจจากประชาชน

ขณะที่ภาษีที่เก็บได้หลักๆ ของไทย มาจากฐานการบริโภค มาจากภาษีมูลค่าเพิ่ม หรือ VAT ในสัดส่วนมากถึงร้อยละ 57 แต่ก็มีข้อจำกัดจากการกระจายรายได้ ขณะที่สัดส่วนภาษีที่มาจากฐานเงินได้ มีร้อยละ 42 และที่น่าสนใจคือ ภาษีจากฐานทรัพย์สินสัดส่วนร้อยละ 1 เท่านั้น ทั้งที่ในทางเศรษฐศาสตร์ นักเศรษฐศาสตร์ทุกคนทราบดีว่า ภาษี สามารถใช้เป็นเครื่องมือสร้างประโยชน์ทางเศรษฐกิจได้ หากมีการออกแบบที่ตอบโจทย์ดังกล่าว 

แต่ที่ผ่านมาถึงปัจจุบัน ประเทศไทยกลับใช้ภาษีเพื่อตอบโจทย์สำหรับกระตุ้นการลงทุนและการบริโภค ทั้งที่ในระยะหลังจะมีงานวิจัยระบุว่า สิทธิประโยชน์ทางภาษีเพื่อจูงใจให้เกิดการลงทุนมีประสิทธิภาพน้อยลง ในเวลาที่ประเทศอื่นๆ ก็ให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีพอๆ กับประเทศไทยหรือดีกว่าไทยแล้ว ดังนั้น ภาษีเงินได้นิติบุคคลที่สูญเสียไปผ่านสิทธิประโยชน์ที่บีโอไอให้ปีละประมาณ 1.2-1.4 แสนล้านบาท จะตอบโจทย์ในปัจจุบันหรือไม่ 

โจทย์เหล่านี้ จึงนำมาสู่คำถามที่ 3 ว่า แล้วภาษีไทยควรไปทางไหน อะไรคือโจทย์สำคัญในเวลานี้ เมื่อประเทศไทยมีรายได้ภาษีไม่พอกับรายจ่ายเพิ่มขึ้นทุกปี และทำให้ต้องมีการทำงบประมาณขาดดุลติดต่อกันมานานนับทศวรรษ ประกอบกับประเทศไทยอยู่ในเส้นทางการก้าวสู่สังคมผู้สูงวัยอยู่ทุกขณะ เมื่อหนี้สาธารณะที่เกิดขึ้นวันนี้ คือภาษีในวันข้างหน้า และยังมีความท้าทายจากธุรกิจใหม่ๆ ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยี เช่น กรณีเฟซบุ๊ก กูเกิล ที่รัฐไทยไม่สามารถเก็บภาษีจากธุรกิจเหล่านี้ได้เต็มเม็ดเต็มหน่วย เพราะธุรกิจเหล่านี้มีสำนักงานใหญ่อยู่ต่างประเทศ

ประกอบกับ เรื่องการปฏิรูปภาษี ต้องอาศัยการยอมรับ ความเชื่อใจ แล้วรัฐจะทำอย่างไรให้เกิดสิ่งเหล่านี้ ดังนั้นทางที่ถูกที่ควรจึงคือการสร้างความโปร่งใสในระบบภาษีหรือไม่ เช่น ในอังกฤษ มีแอปพลิเคชั่นที่จะบอกผู้เสียภาษีได้ว่า เงินภาษีที่จ่ายไปนั้นอยู่ตรงไหนในงบประมาณ เป็นต้น 

"เพราะภาษีเกี่ยวกันอย่างใกล้ชิดกับระบบการเมือง อำนาจทางการเมืองที่ยึดโยงระหว่างคนจ่ายภาษีและไม่ยินดีจ่ายภาษี ยิ่งมีมากเท่าไร ก็ยิ่งมีอำนาจมากขึ้นเท่านั้น ดังนั้นข้อเสนอในการแก้ปัญหาระบบภาษีคือการแก้ปัญหาระบบการเมืองไปพร้อมๆ กันด้วย" ดร.ธร กล่าว

ย้ำรัฐควรยกเลิกสิทธิลดหย่อน LTF

ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้ข้อมูลจากการศึกษาวิจัยเรื่องภาษีและอ้างอิงข้อมูลการจัดเก็บภาษีจากกรมสรรพากร ระบุว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในประเทศไทยยังไม่ครอบคลุมฐานภาษีทั้งหมด จึงควรมีการขยายฐานภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาให้กว้างและครอบคลุมมากขึ้น และมีมาตรการที่จะทำให้ผู้มีเงินได้เข้ามาในระบบภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาเพิ่มขึ้น ขณะเดียวกัน เงินได้ที่มีการหักภาษี ณ ที่จ่ายทุกประเภท ควรนำมารวมคำนวณภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา เพื่อให้เกิดการจัดเก็บที่เป็นธรรม พร้อมควรมีการศึกษาผลกระทบที่เกิดขึ้น 

ส่วนการหักค่าใช้จ่ายที่หลากหลายสำหรับเงินได้แต่ละประเภท ควรมีอัตราการหักที่เหมาะสมและมีมาตรฐานของเงินได้แต่ละประเภท โดยให้มุ่งไปสู่แนวทางการหักค่าใช้จ่ายที่มีหลักฐานแสดงค่าใช้จ่ายที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่ การลดหย่อนภาษี รัฐสามารถยกเลิกมาตรการลดหย่อนภาษีค่าซื้อหน่วยลงทุนในกองทุนรวมหุ้นระยะยาว หรือ LTF เนื่องจากกลุ่มที่ได้ประโยชน์คือกลุ่มผู้มีรายได้สูง แต่คนมีรายได้น้อยไม่ได้ประโยชน์ ประกอบกับตลาดทุนปัจจุบันมีวิวัฒนาการอย่างมาก ที่สามารถดำรงอยู่ได้ หากไม่มีการลดหย่อนจากการซื้อหน่วยลงทุน LTF ซึ่งในอีกด้านหนึ่ง รัฐบาลสามารถนำรายได้ส่วนนี้ไปจัดบริการสาธารณะที่เป็นประโยชน์ต่อคนด้อยโอกาสและคนยากจนได้อีกจำนวนมาก 

อย่างไรก็ตาม สำหรับการลดหย่อนภาษีการซื้อกองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF แม้ว่ากลุ่มที่ได้ประโยชน์จะเป็นกลุ่มรายได้สูงมากกว่ารายได้น้อย แต่สิ่งนี้คือการออมระยะยาว เพื่อสร้างโครงข่ายคุ้มครองทางสังคมในอนาคต รองรับสังคมสูงวัย ดังนั้น จึงเสนอว่า รัฐบาลควรคงมาตรการลดหย่อนนี้ไว้ได้ 

ดังนั้น ถ้ามีการยกเลิกสิทธิลดหย่อนทางภาษีจากการ RMF รัฐจะมีรายได้ภาษีเพิ่มขึ้นประมาณ 3,700 ล้านบาท แต่ในด้านหนึ่งการซื้อหน่วยลงทุนประเภทนี้คือการส่งเสริมโครงข่ายความคุ้มครองทางสังคม ซึ่งเมื่อเทียบกับการให้สิทธิลดหย่อนทางภาษีเพื่อการบริจาคของรัฐที่สูญเสียรายได้ประมาณ 300 ล้านบาท แต่มีมูลค่าเงินบริจาคสูงถึง 800 ล้านบาทแล้ว ก็นับว่าจะคุ้มค่ากว่า ขณะที่หากรัฐยกเลิกสิทธิประโยชน์ทางภาษีแก่ผู้ซื้อหน่วยลงทุน LTF จะได้เงินคืนรัฐมากเกือบ 9,000 ล้านบาท ด้วยซ้ำ

"การจัดเก็บภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปัจจุบันยังไม่ครอบคลุม เพราะคนที่มีรายได้สุทธิ 1-4 ล้านบาทคือ มีผู้จ่ายภาษีมากที่สุด ดังนั้นรัฐต้องดึงคนที่ต้องจ่ายภาษีเข้ามาจ่ายให้ได้มากที่สุด ส่วนการลดหย่อน RMF ยังมีประโยชน์สำหรับรองรับสังคมสูงอายุ ส่วน LTF กลุ่มที่ใช้ประโยชน์คือคนมีรายได้สูง ซึ่งก็มีทางเลือกอื่นในการลงทุน และไม่ได้ทำให้ตลาดทุนสั่นคลอน ดังนั้น ถ้ารัฐยกเลิกสิทธิลดหย่อนนี้ ก็จะทำให้รัฐนำเงินไปใช้จ่ายดูแลประชาชนมากขึ้น" ผศ.ดร.ดวงมณี กล่าว

ดวงมณี เลาวกุล

(ผศ.ดร.ดวงมณี เลาวกุล คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์)

ส่วนในระยะยาว คือ การจัดเก็บภาษีฐานทรัพย์สิน ซึ่งปัจจุบันมีความพยายามร่าง พ.ร.บ.ภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างออกมา แต่ก็ยังอยู่ในชั้นกรรมาธิการ ซึ่งได้มีการแก้ไขหลายครั้ง อย่างไรก็ตาม คาดว่า กฎหมายนี้น่าจะออกมาบังคับใช้ได้ก่อนมีการเลือกตั้ง เพราะหากทำไม่ทัน ก็มีโอกาสที่จะไม่เกิดขึ้นเลย

แนะใช้ 'ภาษี' ลดความเหลื่อมล้ำ

ด้าน ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย ด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ ทีดีอาร์ไอ ให้ความเห็นว่า สิ่งที่น่าสนใจคือ นโยบายการคลังจะช่วยลดความเหลื่อมล้ำในสังคมได้อย่างไร จะนำเงินออกจากกระเป๋าคนรวยให้ได้มากกว่ากระเป๋าคนจนได้อย่างไร เนื่องจากด้วยโครงสร้างภาษีปัจจุบัน คนที่รวยมีรายได้สูง เสียภาษีสูงสุดในอัตราร้อยละ 35 และกฎหมายยังให้แยกรายได้จากเงินปันผลได้ด้วย ดังนั้น การจ่ายภาษีของคนกลุ่มนี้จึงเสียน้อยกว่าร้อยละ 35

ดังนั้น ในภาพใหญ่ของระบบภาษีไทย คือ เงินยังออกจากกระเป๋าคนรวยได้อีก แต่เนื่องจากนโยบายการคลังที่นำรายได้รัฐไปใช้จ่ายในด้านโครงสร้างพื้นฐานที่รองรับคนมีรายได้ เช่น สร้างทางด่วน สร้างรถไฟความเร็วสูง เป็นหมื่นเป็นแสนล้าน มากกว่าจะให้เงินอุดหนุนการศึกษาเด็กยากจน ทำให้เงินไม่ลงไปถึงคนข้างล่าง สิ่งเหล่านี้ยิ่งตอกย้ำความเหลื่อมล้ำเพิ่มขึ้น 


"เงินอุดหนุนเด็กยากจน รัฐใช้ปีละ 2,000 ล้านบาท จะขอเพิ่มปีละ 1,000 ล้านบาท เถียงกันเยอะมาก แต่ถ้านำไปสร้างทางด่วน รถไฟความเร็วสูง ซึ่งคนได้ประโยชน์คือคนมีรายได้ระดับหนึ่งขึ้นไป กลับไม่มีใครตั้งคำถาม ดังนั้น นโยบายการคลัง นโยบายการใช้จ่ายภาครัฐในปัจจุบันจึงไม่ช่วยลดความเหลื่อมล้ำ" ดร.สมชัย กล่าว


สมชัย จิตสุชน

(ดร.สมชัย จิตสุชน ทีดีอาร์ไอ)

ส่วนกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่ไม่ได้ออกมาบังคับใช้เสียที ถ้าไปดูดีๆ ไม่ว่าจะมาจากร่างของใคร จะพบว่า มูลค่าการจัดเก็บรายได้ภาษีจากกฎหมายนี้จะลดลงเรื่อยๆ และไม่ได้ทำหน้าที่ลดความเหลื่อมล้ำได้ อีกทั้งกฎหมายแบบนี้ยังไปขัดขวางกลุ่มผลประโยชน์ต่างๆ ทั้งที่ภาษีจากฐานทรัพย์สินแบบนี้ ทำหน้าที่ได้อีกเยอะมาก หรือการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เลื่อนการจัดเก็บในอัตราร้อยละ 10 ตามกฎหมายมาหลายรอบ ส่วนหนึ่งก็เป็นเรื่องความเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

เพราะถ้าดูกันจริงๆ ภาษีมูลค่าเพิ่มที่มาจากการบริโภคใช้จ่ายนั้น ร้อยละ 80 ออกมาจากกระเป๋าคนมีเงิน คนมีกำลังใช้จ่าย และออกมาจากกระเป๋าคนจนเพียงร้อยละ 20 ดังนั้นการประวิงเวลาการขึ้นแวต ในอีกด้านหนึ่งจึงเป็นการช่วยคนมีเงินมากกว่าช่วยคนจน ดังนั้นข้อเสนอของ ดร.สมชัย คือ เมื่อมีการขึ้นแวต ร้อยละ 10 ตามกฎหมาย รัฐควรทำในแบบขั้นบันได หรือกำหนดว่า รายได้จากภาษีนี้ครึ่งหนึ่งจะนำไปช่วยคนจน หรือสร้างบริการสาธารณะแก่คนจน เป็นต้น

สะท้อนเอสเอ็มอีช้ำหนัก หลังเข้าระบบภาษีนิติบุคคล

ว่าที่ ร.อ. จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ถ้ารัฐจะเก็บภาษีแวตเพิ่มเป็นร้อยละ 10 ตามกฎหมาย ก็คาดว่า คนทั่วไปจะยินดีจ่าย แต่พวกเขาต้องมั่นใจว่า เงินภาษีที่จ่ายไปถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพ ถูกใช้อย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วย ไม่ใช่ถูกใช้ไปจำนำข้าวขาดทุน 7-8 แสนล้านบาท หรือถูกใช้ไปซื้อเรือดำน้ำ หรือทำอะไรที่ประชาชนไม่ได้ประโยชน์ 

ภาษี 6.jpg

(ว่าที่ ร.อ. จิตร์ ศิรธรานนท์ รองประธานกรรมการ สภาหอการค้าแห่งประเทศไทย)

ในฐานะคนทำธุรกิจ สามารถบอกได้ว่า การดึงเอสเอ็มอีเข้าระบบให้มาจดทะเบียนนิติบุคคลนั้น แม้จะทำให้มีเอสเอ็มอีหลายรายเข้ามาจดทะเบียนมากขึ้นในปีที่ผ่านมา แต่ล่าสุดเอสเอ็มอีพบปัญหาว่า พวกเขามีค่าใช้จ่ายในการปฏิบัติตามกฎหมายภาษี (Tax Compliance Cost) เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 240,000 บาทต่อปี ซึ่งค่าใช้จ่ายตรงนี้เป็นภาระหนักมากของเอสเอ็มอีรายเล็กๆ จนทำให้เกิดความลังเลว่า จะกลับไปอยู่ระบบเดิม ไม่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลดีหรือไม่ด้วยซ้ำ 

ดังนั้น จึงต้องการเสนอว่า การออกแบบระบบภาษี ควรต้องดูเอสเอ็มอีรายเล็กด้วย ไม่ใช้ปล่อยให้ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจเล็กหรือใหญ่ก็เสียภาษีอัตราร้อยละ 20 อย่างปัจจุบัน 

Photo Cover by rawpixel.com on Unsplash

ข่าวเกี่ยวข้อง: