ปัจจุบัน อัตราการก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังทางศาสนาเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 30 ในอังกฤษ สก็อตแลนด์ยาร์ด หรือตำรวจนครบาลลอนดอน รายงานว่าอัตราอาชญากรรมจากความเกลียดชังเพิ่มสูงขึ้นอย่างมากหลังเหตุก่อการร้ายที่สะพานลอนดอนและตลาดโบโร เมื่อเดือนมีนาคม 2017 เฉพาะในลอนดอน การก่ออาชญากรรมจากความเกลียดชังชาวมุสลิมเพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 40 เมื่อเทียบกับปีก่อนหน้า
สถิติที่น่าตกใจนี้ไม่ได้สะท้อนบรรยากาศของความแตกแยกทางศาสนาในอังกฤษเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการใช้ชีวิตใต้ความหวาดลัวของชาวมุสลิมจำนวนมากในประเทศ โดยเฉพาะผู้ที่เพิ่งเข้าไปใช้ชีวิตในอังกฤษ อย่างนักเรียนนักศึกษาชาวมุสลิม ซึ่งมีอยู่เป็นจำนวนมาก ในฐานะที่อังกฤษเป็นแหล่งศึกษาต่อยอดนิยมของคนทั่วโลก
สถิติที่น่าตกใจกว่านั้น ก็คือ 1 ใน 3 ของนักเรียนมุสลิมในอังกฤษ เคยถูกคุกคามหรือก่ออาชญากรรมในสถานศึกษา 1 ใน 5 ถูกคุกคามด้วยวาจาโดยตรง ส่วนใหญ่ผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการคุกคามในทำนองนี้ รู้สึกว่าตนเองกลายเป็นเป้าหมายเพียงเพราะความอคติจากแนวคิดเกลียดกลัวอิสลาม
แน่นอนว่าผู้ที่ถูกคุกคามไม่ใช่แค่คนจากประเทศที่มีชื่อเรื่องการก่อการร้ายอย่างในตะวันออกกลาง แต่คนที่ดูมีหน้าตาไปในทางเชื้อชาติอาหรับ รวมถึงมลายู หรือเพียงสวมใส่เครื่องแต่งกายที่บ่งชี้ว่าเป็นมุสลิมเช่นฮิญาบ ก็กลายเป็นเป้าแห่งความเกลียดกลัวด้วย ทำให้นักเรียนนักศึกษาชาวอาเซียนจำนวนไม่น้อย กลายเป็นผู้ที่ถูกคุกคามไปด้วย โดยเฉพาะชาวมาเลเซีย อินโดนีเซีย บรูไน
การคุกคามดังกล่าวไม่เพียงกระทบกับสิทธิเสรีภาพของนักเรียนมุสลิมในอังกฤษ แต่ยังจะกระทบกับเศรษฐกิจของประเทศ ในแต่ละปีอังกฤษมีรายได้จากอุตสาหกรรมการศึกษานานาชาติ มากถึง 20,000 ล้านปอนด์ หรือ 880,000 ล้านบาท และชาวอินโดนีเซียกับมาเลเซีย เป็นหนึ่งในผู้ที่เข้าไปศึกษาต่อในอังกฤษมากที่สุดในบรรดานักเรียนต่างชาติทั้งหมด โดยเฉพาะมาเลเซียกับสิงคโปร์ ที่อยู่ใน 6 อันดับแรกของประเทศที่มีนักเรียนไปเรียนต่อในอังกฤษมากที่สุด
สำนักข่าวเอเชียน คอเรสปอนเดนต์ รายงานว่า ในขณะที่มหาวิทยาลัยเปิดรับชาวมุสลิมเหล่านี้ เพราะมีผลประโยชน์มหาศาลเป็นแรงจูงใจ สังคมอังกฤษกลับปิดตายต่อชาวมุสลิมมากขึ้นทุกขณะ โดยสื่อเองก็มีส่วนสำคัญในการสร้างกระแสเกลียดกลัวมุสลิมจากการพาดหัวข่าวที่เน้นอัตลักษณ์มุสลิมกับการก่อการร้ายไปพร้อมๆกัน เช่นการพาดหัวว่าคนร้ายตะโกนสรรเสริญพระอัลเลาะห์ขณะก่อเหตุ หรืออธิบายว่าผู้ก่อการร้ายเป็น “ชายชาวมุสลิม” ขณะที่รัฐบาลอังกฤษเองก็ออกกฎที่ยิ่งตอกย้ำความแตกแยกทางศาสนา เช่นการออกกฎว่าสถานศึกษาต้องรายงานต่อรัฐบาลหากพบนักเรียนที่มีแนวโน้มเสี่ยงถูกชักจูงไปในทางสุดโต่ง หรือโครงการ Prevent ซึ่งปีที่ผ่านมา พบว่านักเรียนมุสลิมมีโอกาสถูกรายงานว่าเป็นกลุ่มเสี่ยงมากกว่าคนที่ไม่ใช่มุสลิมถึง 40 เท่า