วันที่ 17 ส.ค. 2565 ที่รัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย กล่าวถึงกรณีที่ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่ระเบียบคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าด้วยการใช้ทรัพยากรของรัฐ หรือบุคลากรของรัฐเพื่อกระทำการใดซึ่งจะมีผลต่อการเลือกตั้งหากมีการยุบสภาว่า จากระเบียบระบุว่า ห้าม ครม.ไปดำเนินการอนุมัติแผนงานโครงการต่างๆ ที่มีผลผูกพัน การแต่งตั้งคน ห้ามการใช้งบกลางในกรณีฉุกเฉิน และใช้อำนาจรัฐเอื้อประโยชน์ตัวเอง ทั้งที่ระเบียบดังกล่าวเขียนตั้งแต่ปี 2563 แต่ออกประกาศวันที่ 15 ส.ค. ที่ผ่านมา มันแสดงว่าเขามีข้อจำกัดมาก แต่ถามว่า พล.อ.ประยุทธ์ จะยุบสภาหรือไม่ ตรงนี้ภาวนาไม่อยากให้ทำ
ผู้สื่อข่าวถามว่า หากศาลรัฐธรรมนูญมีคำสั่งให้ พล.อ.ประยุทธ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ขั้นตอนหลังจากนี้จะเป็นอย่างไร นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ต้องรอให้ศาลรัฐธรรมนูญสั่ง หรือใช้ดุลยพินิจ หรือมโนสำนึกของตนเอง อาจจะขอลาพักร้อนหรืออะไรต่างๆ แต่เพื่อป้องกันความเสียหายนั้นต้องมีนายกรัฐมนตรีรักษาการ และการบริหารราชการแผ่นดินยังต้องมีอยู่
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า อยากให้การยื่นคำร้องของเราในวันนี้ป้องกันไม่ให้ประเทศเสียหาย เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราเห็นขณะนี้คือ ถ้าไม่เป็นไปตามที่ยื่นคำร้อง นายกรัฐมนตรีไม่หยุดปฏิบัติหน้าที่ การต่อต้านโดยภาคประชาชนจะเพิ่มมากขึ้น มันเริ่มก่อตัวขึ้นแล้ว และในบรรดาสัญญาประชาคมทั่วโลกมองว่า 8 ปี ไม่ใช่สิ่งที่ควรยอมรับ มันจึงเป็นเหตุผลว่า รัฐบาลนี้ทำงานไม่ดี รับผิดชอบไม่ได้ เป็นเหตุให้เกิดกระแสเบื่อหน่าย อันนี้อันตราย จึงอยากให้ศาลสั่งให้นายกฯ หยุดปฏิบัติหน้าที่
“เราเรียกร้องมโนธรรมสำนึก ความรับผิดชอบ พล.อ.ประยุทธ์ เข้ามาในอำนาจปี 2557 อ้างว่าจะมาระงับข้อขัดแย้งในสังคม แต่ขณะนี้สังคมเกิดข้อขัดแย้งท่านไม่ต้องยึดอำนาจ ยึดใจตัวเองเป็นที่ตั้ง มิเช่นนนั้นประชาชนจะลุกฮือไล่ และไปที่กระบวนการศาล ซึ่งต้องดูองค์ประกอบหลายเรื่อง เพราะศาลก็ต้องรักษาความเป็นสถาบันตุลาการ ถ้าเขาวินิจฉัยออกมาแล้วประชานยอมรับไม่ได้ มันจะไปทำลายระบบยุติธรรม ขณะนี้การมีส่วนร่วม การแสดงออกของประชานสูงมาก มันไม่ได้ปิดหูปิดตาแล้ว” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน เสริมว่า อยากให้มีข้อถกเถียงกัน และเอาข้อถกเถียงมาหาจุดร่วม สังคมประชาธิปไตยคือความเห็นต่าง ถ้ามีเรื่องขัดแย้ง และปล่อยให้ไม่มีข้อสรุปมันคือความขัดแย้ง แต่ถ้ามีจุดร่วมมันคือประชาธิปไตย
ส่วนไทม์ไลน์หลังจากยื่นคำร้องให้ประธานสภาฯไม่ได้มีข้อกำหนด แต่ประธานสภาฯ ต้องตรวจสอบความถูกต้อง และส่งต่อให้ศาลรัฐธรรมนูญ โดยส่วนตัวคาดว่า วันจันทร์หน้า (22 ส.ค. 2565) จะมีการส่งหนังสือไปที่ศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อรับเรื่องแล้วจะเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ซึ่งเรื่องนี้ควรรีบเข้าสู่กระบวนการพิจารณา ไม่เกินเดือนกันยายนน่าจะรู้ผล