ไม่พบผลการค้นหา
'ชลน่าน' เผยฝ่ายค้านเข้าชื่อ ส.ส.ยื่นคำร้องศาล รธน. ผ่าน 'ชวน' 17 ส.ค. ฟัน 'ประยุทธ์' หลุดนายกฯ 8 ปี ยังหวังมโนสำนึกลาออกเอง ยอมรับอาจยุบสภาหลังเอเปค ยันแม้ยุบสภาก็ไม่กระทบกฎหมายเลือกตั้งที่เพิ่งถูกรัฐสภาตีตกไป

วันที่ 16 ส.ค. 2565 ที่พรรคเพื่อไทย นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน หัวหน้าพรรคเพื่อไทย และผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงการยื่นคำร้องให้ศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยวาระการดำรงตำแหน่งนายกรัฐมนตรีครบ 8 ปีของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โดยระบุว่า ได้เตรียมคำร้องยื่นต่อศาลรัฐธรรมนูญไว้พร้อมหมดแล้ว ประกอบด้วยข้อหาให้พ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี และขอให้สั่งหยุดปฏิบัติหน้าที่ระหว่างการพิจารณา โดยในวันพรุ่งนี้ (17 ส.ค.) จะตรวจสอบรายชื่อ ส.ส. โดยเปิดโอกาสให้เพื่อนสมาชิกลงชื่อครั้งสุดท้ายถึงเวลา 11.00 น. ก่อนยื่นให้ ชวน หลีกภัย ประธานสภาผู้แทนราษฎร ตามเวลานัดหมาย 13:00 น. ที่รัฐสภา

นพ.ชลน่าน กล่าวถึงกระบวนการยื่นคำร้อง จะยื่นผ่านประธานสภาผู้แทนราษฎร โดยประธานสภาฯ จะทำหน้าที่ตรวจสอบความถูกต้องของรายชื่อตามข้อบังคับ ถ้าไม่มีข้อแก้ไขใน 7 วัน จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญต่อไป แล้วแต่ศาลรัฐธรรมนูญจะรับคำร้องหรือไม่ และมีมติอย่างไร ตอนนี้ยังไม่ทราบว่าจะใช้เวลานานหรือไม่ เพราะไม่มีบทบัญญัติบังคับไว้ แต่คิดว่าเรื่องนี้จำเป็นและสำคัญ การทำหน้าที่ของนายกฯ มีผลกระทบต่อประเทศชาติและประชาชน ก็เข้าใจว่าศาลจะเร่งพิจารณา

นพ.ชลน่าน มองแนวทางคำวินิจฉัยตามข้อกฎหมายออกเป็น 3 แนวทาง ได้แก่ 1. เริ่มนับวาระดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2557 เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ครั้งแรก

2. เริ่มนับวาระดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2560 เมื่อรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบันประกาศใช้ 

3. เริ่มนับวาระดำรงตำแหน่ง ตั้งแต่ปี 2562 เมื่อมีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ ตามมติรัฐสภา

นพ.ชลน่าน ย้ำว่า พรรคร่วมฝ่ายค้านดูข้อเท็จจริง ข้อกฎหมาย และเจตนารมณ์รัฐธรรมนูญ จึงมั่นใจว่า พล.อ.ประยุทธ์ ต้องพ้นจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรีวันที่ 24 ส.ค. เวลา 00.00 น. เป็นต้นไป โดยข้อกฎหมายคือ รัฐธรรมนูญ บทเฉพาะกาล มาตรา 264 บังคับใช้ คณะรัฐมนตรีของ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นการเฉพาะ รับรองการเป็น ครม. ก่อนหน้าประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และเป็นต่อเนื่องตามรัฐธรรมนูญนี้ โดยไม่ยกเว้นให้

ผู้สื่อข่าวถามว่า ยังคาดหวังมโนสำนึกทางการเมืองจาก พล.อ.ประยุทธ์ หรือไม่ นพ.ชลน่าน ตอบว่า คาดหวังมาก ถึงแม้จะริบหรี่ แต่กระแสต่อต้านการทำหน้าที่ของท่านก็มีข้อเท็จจริงอยู่ว่าเป็นนายกฯ มาอย่างต่อเนื่อง จนกังวลว่าจะทำให้เกิดความขัดแย้ง ทุกฝ่ายทุกกลุ่มก็เริ่มเคลื่อนไหว อาจเป็นเครื่องเหนี่ยวนำให้เกิดมโนธรรมสำนึกว่า พอแล้ว ขอออกจากตำแหน่ง ซึ่งกระบวนการสรรหานายกรัฐมนตรีตามกลไกรัฐธรรมนูญจะเกิดขึ้น ซึ่งเชื่อว่าช่วยลดความขัดแย้งได้

ส่วนกระแสการยุบสภาเพื่อหลีกเลี่ยงปมดังกล่าว และรักษาการได้ต่อไปนั้น นพ.ชลน่าน มองว่า การยุบสภาตั้งอยู่บนฐานประโยชน์ของนายกรัฐมนตรี ยุบแล้วจะได้ประโยชน์หรือไม่ หากยุบแล้วเขาไม่ได้ประโยชน์เขาไม่ยุบ แต่ถ้าต้องการยุบเพื่อไปรักษาการให้ยาวก็ทำได้ แต่เชื่อว่าถ้าทำเช่นนั้นกระแสต่อต้านจะเยอะขึ้น 

อย่างไรก็ตาม ก็มีกระแสว่าอาจยุบสภาหลังการประชุมเอเปค ซึ่งจะเป็นช่วงที่ ส.ส. อาจพากันย้ายพรรคโดยไม่ต้องเลือกตั้งซ่อม สังกัดพรรคใหม่ได้ 30 วัน พร้อมทั้งจัดการเลือกตั้งหลังเลือกตั้งใหม่ภายใน 45-60 วันหลังยุบสภา ซึ่งอาจเกิดการเลือกตั้งในช่วงเดือน ม.ค. 2566 

ทั้งนี้ นพ.ชลน่าน มองว่า หากไม่ยุบสภาก็ยังมีการเลือกตั้งแน่นอน ไม่เกิดสุญญากาศทางการเมือง หลังรัฐสภาผ่านร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส. แล้วโดยใช้ร่างของครม.ที่รับหลักการมาในวาระที่แรก ซึ่งขั้นตอนจากนั้นจะเข้าสู่การนำร่างขึ้นทูลเกล้าฯ หลังจากนี้ก็ยังดำเนินการต่อไปได้ และหากมีการเลือกตั้ง พรรคเพื่อไทยพร้อมตลอด เลือกตั้งเมื่อไรเราส่งผู้สมัคร 400 เขตแน่นอน