วันที่ 21 ธ.ค. ที่อาคารรัฐสภา นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว ส.ส.น่าน และหัวหน้าพรรคเพื่อไทย ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านในสภาผู้แทนราษฎร กล่าวถึงกรณีเรือหลวงสุโขทัยจมลงใต้ทะเลในช่วงดึกของวันที่ 18 ธ.ค. ที่ผ่านมาว่า ขอแสดงความเสียใจกับกองทัพไทย แสดงความเสียใจกับพี่น้องประชาชนคนไทย เราถอดบทเรียนกันมาตลอด ครั้งนี้ก็มีผู้เรียกร้องให้ถอดบทเรียนของการสูญเสีย ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนี้ไม่ควรเกิดขึ้น
"ด้วยสมรรถนะเรือรบไม่ควรจะเกิดเหตุการณ์นี้ แพ้โดยที่ยังไม่ได้รบ แพ้ตนเอง แพ้การตัดสินใจ แพ้ของการใช้ดุลยพินิจ เรือเริ่มมีน้ำเข้าช่วงเย็น และอัปปางหรือคว่ำลงในช่วงดึก ซึ่งไม่ควรมีผู้สูญหาย เรื่องนี้ต้องมีผู้รับผิดชอบ"
นพ.ชลน่าน ระบุว่า ในฐานะผู้นำฝ่ายค้านฯ จะนำเรื่องดังกล่าวเข้าสู่สภา ในวันที่ 22 ธ.ค. เพื่อเรียกร้องให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาแสดงความรับผิดชอบ และต้องมาตอบกระทู้ถามสดในสภาฯ เพราะเรื่องนี้ถือเป็นด่วนและเรื่องที่ประชาชนสนใจ กระทบต่อผลประโยชน์ของประเทศชาติอย่างมหาศาล พร้อมเน้นย้ำว่านายกฯ ต้องมาตอบกระทู้ด้วยตนเอง
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า แม้เราจะไม่ถามกระทู้สด แต่ในฐานะเป็นฝ่ายตรวจสอบการบริหารราชการแผ่นดิน พล.อ.ประยุทธ์ ต้องสำนึกต่อหน้าที่และมีความละอายเกรงกลัวต่อบาป และขอเรียกร้องให้ต้องลาออกจากตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เพราะปล่อยปละละเลย ในประเทศอื่นๆ รถไฟคว่ำขบวนเดียวก็ลาออกจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เพื่อแสดงความรับผิดชอบ
“ถ้าพบร่องรอยว่า เครื่องปั่นไฟ 6 ตัว เหลือใช้ได้อยู่ 3 ตัว มันคือเรื่องใหญ่ คนขึ้นเรือไปเป็นร้อย แต่เสื้อชูชีพไม่พอ ออกไปกลางทะเล เป็นไปได้อย่างไร นี่หรือวิธีคิดของกองทัพไทยที่จะต้องจัดหาเรือดำน้ำมาอีก 3 ลำ แสวงหาอาวุธยุทโธปกรณ์อย่างมากมาย สู้กับตัวเองยังไม่ชนะแล้วจะไปสู้กับใคร นี่คือความไม่วางใจของพี่น้องประชาชนต่อกองทัพไทยและตัวรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ผมจะรับผิดชอบตรวจสอบเรื่องนี้อย่างเข้มข้น” นพ.ชลน่าน กล่าว
นพ.ชลน่าน เผยถึงความคืบหน้าเกี่ยวกับการยื่นญัตติขอเปิดอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญมาตรา 152 ว่า ขณะนี้พรรคร่วมฝ่ายค้านร่างญัตติเสร็จแล้ว โดยวันที่ 26 ธ.ค. จะมีการตรวจสอบความถูกต้องอีกครั้ง ก่อนที่จะมีการเข้าชื่อ และยื่นญัตติประมาณวันที่ 27-28 ธ.ค. คาดว่าจะได้อภิปรายช่วงปลายเดือน ม.ค. และเชื่อว่าในช่วงนั้นจะไม่มีการยุบสภา
เมื่อถามว่า จะมีการยุบสภาก่อนการยื่นญัตติหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ตามกฏหมายสามารถยุบสภาได้ ไม่เหมือนกับการอภิปรายไม่ไว้วางใจรัฐมนตรีเป็นรายบุคคลตามรัฐธรรมนูญมาตรา 151 ที่กำหนดไว้ว่าห้ามยุบสภา
“ถ้า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เห็นญัตติที่เรายื่นเข้าไป เมื่อสภารับแล้ว แล้วตัดสินใจยุบสภาหนีในการอภิปรายทั่วไป ที่เพียงเป็นการสอบถามข้อเท็จจริง และเสนอแนวทางการแก้ไขปัญหา ผมว่าเรื่องนี้น่าอายกว่า หนีการตรวจสอบ นั่นแสดงว่าหนีการตรวจสอบเพื่อปิดบังสิ่งที่ซ่อนเร้นอยู่ ในสิ่งที่พรรคร่วมฝ่ายค้านจะนำมาเปิดเผยต่อพี่น้องประชาชนในสภา มันไม่ควรทำสิ่งที่น่าอายเช่นนี้” นพ.ชลน่าน กล่าว