ไม่พบผลการค้นหา
เมียนมาส่งผู้แทนไปยังบังกลาเทศ เพื่อเจรจาเรื่องการส่งตัวผู้ลี้ภัยชาวโรฮิงญากลับประเทศ โดยชี้ว่าพวกเขามีโอกาสยื่นขอเป็นพลเมืองแปลงสัญชาติได้ ซึ่งจะทำให้อยู่ในเมียนมาได้อย่างถูกกฎหมายแม้ได้รับสิทธิไม่เท่าพลเมืองเต็มตัว ฝ่ายผู้แทนชาวโรฮิงญายังคงปฏิเสธจนกว่าจะได้รับสิทธิที่สมควรได้ และเมียนมาจะยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา ไม่ใช่ผู้อพยพจากบังกลาเทศ

ในช่วงวันที่ 27 ถึง 28 กรกฎาคม อูมยินตู ปลัดกระทรวงการต่างประเทศเมียนมา นำคณะผู้แทน 10 คน เดินทางไปยังประเทศบังกลาเทศเพื่อเจรจากับตัวแทนกลุ่มผู้ลี้ภัยโรฮิงญา 35 ในการรับชาวโรฮิงญากลับประเทศ หลังใช้กำลังปราบปรามในรัฐยะไข่ในปี 2017 กระทั่งชาวโรฮิงญาราว 740,000 คนต้องหนีตายลี้ภัยออกจากบ้านเกิด โดยส่วนใหญ่ได้ลี้ภัยไปอยู่ ณ ค่ายผู้ลี้ภัยในประเทศ ประเทศบังกลาเทศเกือบ 400,000 คน

อูมยินตู จัดแถลงข่าวหลังเยือนค่ายผู้ลี้ภัยโรฮิงญาในเมืองค็อกซ์บาซาร์ ประเทศบังกลาเทศ ว่าตามกฎหมายแล้วชาวโรฮิงญาไม่มีสิทธิเป็นพลเมืองเต็มตัวของเมียนมา แต่สามารถขอสัญชาติประเภทพลเมืองแปลงสัญชาติได้ (naturalised citizen) โดยหลังจากนั้นลูกหลานของพวกเขาจึงจะสามารถเป็นพลเมืองเต็มตัว

“เราพยายามอธิบายความเป็นไปได้ของการขอสัญชาติให้พวกเขาฟัง" อูมยินตู กล่าว

พลเมืองแปลงสัญชาติ ตามนิยามของเมียนมาคือผู้อาศัยอยู่ในพม่ามาก่อนวันที่ 4 มกราคม 1948 แต่ขอสัญชาติหลังปี 1982 โดยอูมยินตูประมาณไว้ว่าผู้ที่อาศัยอยู่ในเมียนมามาถึง 3 รุ่น คือตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย จะสามารถขอสัญชาติประเภทนี้ได้

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าการยื่นขอสิทธิเป็นพลเมืองแปลงสัญชาติ จะให้สิทธิชาวโรฮิงญาอาศัยในเมียนมาได้อย่างถูกกฎหมายและได้บัตรประจำตัวประชาชน แต่ก็จัดเป็นพลเมืองชั้นสองที่มีสิทธิต่างๆ น้อยกว่าพลเมืองพม่าเต็มตัว

ในปี 1982 พม่าได้ออกกฎหมายสัญชาติฉบับใหม่ซึ่งแบ่งพลเมืองเป็น 3 กลุ่ม โดยกำหนดให้ 135 กลุ่มชาติพันธุ์ที่อยู่มาก่อนปี 1823 เป็นพลเมืองพม่า โดยใน 135 กลุ่มชาติพันธุ์นี้ไม่มีโรฮิงญาอยู่ด้วย ทำให้ชาวโรฮิงญาสูญเสียสิทธิพลเมืองประเทศพม่า หรือเมียนมาในปัจจุบัน และถูกนับว่าเป็นผู้อพยพผิดกฎหมายจากบังกลาเทศ ชาวโรฮิงญาจึงกลายเป็นคนไร้รัฐไร้สัญชาตินับแต่นั้นมา

ดิล โมฮัมหมัด หนึ่งในผู้นำโรฮิงญาที่ร่วมเจรจา ระบุว่าการเจรจาเป็นไปด้วยดี แต่ยังย้ำว่าชาวโรฮิงญาเรียกร้องให้รัฐบาลเมียนมายอมรับว่าโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์หนึ่ง

"เราหวังว่าการพูดคุยครั้งนี้จะเกิดผล เราบอกพวกเขาว่าเราจะไม่กลับไป เว้นแต่ว่าพวกเขาจะยอมรับว่าเราคือชาวโรฮิงญาในประเทศเมียนมา" โมฮัมหมัด กล่าวพร้อมเสริมว่าชาวโรฮิงญาต้องการสัญชาติเมียนมา และสิทธิทั้งหมดที่เป็นของพวกเขา ชาวโรฮิงญาไม่เชื่อใจรัฐบาลเมียนมา และจะกลับไปต่อเมื่อมีการคุ้มครองจากนานาชาติ

จุดยืนของรัฐบาลเมียนมาในปัจจุบันนั้นไม่ยอมรับว่าโรฮิงญาเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในเมียนมา และยังคงนับว่าพวกเขาเป็นชาวเบงกาลี เป็นการสื่อนัยว่าเมียนมายังคงมองชาวโรฮิงญาเป็นชาวบังกลาเทศที่อพยพเข้าประเทศอย่างผิดกฎหมาย แม้ว่าในความเป็นจริงชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่จะอาศัยอยู่ในพื้นที่มาหลายชั่วอายุคนแล้วก็ตาม

โดยรวมแล้วการเจรจาในครั้งนี้จึงยังคงไม่มีความคืบหน้าจากการเจรจาครั้งก่อนหน้าในเดือนตุลาคม ซึ่งทางเมียนมาได้พยายามเจรจานำตัวผู้ลี้ภัยกลับไปรัฐยะไข่ แต่ถูกปฏิเสธโดยกลุ่มตัวแทนชาวโรฮิงญา

นับตั้งแต่เมียนมากับบังกลาเทศลงนามในข้อตกลงเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2017 ในการรับชาวโรฮิงญาที่สมัครใจกลับประเทศกลับไป ทว่าชาวโรฮิงญาก็ยังคงหวาดกลัวการใช้ความรุนแรงในประเทศเมียนมา กระบวนการจึงล่าช้าออกไปโดยบังกลาเทศโทษว่าเป็นเพราะทางเมียนมามีท่าทีสองจิตสองใจในการรับชาวโรฮิงญากลับไป

รัฐบาลบังกลาเทศ ระบุว่าจะไม่บังคับให้ชาวโรฮิงญาออกไปจากบังกลาเทศ ขณะที่เมียนมาถูกนานาชาติกดดันให้รับชาวโรฮิงญากลับถิ่นฐานในรัฐยะไข่พร้อมมอบสิทธิพลเมืองให้

อาบุล คาลัม คณะกรรมาธิการบรรเทาทุกข์และส่งผู้ลี้ภัยกลับประเทศของรัฐบาลบังกลาเทศ ระบุว่าทางบังกลาเทศพร้อมเร่งส่งผู้ลี้ภัยกลับทุกเมื่อ ขึ้นกับทางเมียนมาว่าจะสร้างสภาวะแวดล้อมที่เอื้อต่อการให้ชาวโรฮิงญากลับแผ่นดินบ้านเกิดเมื่อไร

ที่มา: Straits Times / Guardian / Reuters

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: