เราเคยเป็นครอบครัวที่อยู่ใต้หลังคาเดียวกันในประเทศมาก่อน
ร็อบบี อลัม ชาวโรฮิงญาวัย 16 ปี เล่าให้ผู้สื่อข่าวของเอเอฟพีฟังว่าเทศกาลอีฎิ้ลฟิตริในเดือนสิงหาคมปี 2012 เป็นครั้งสุดท้ายที่เขาได้อยู่กับพี่น้อง 7 คนอย่างพร้อมหน้าในเมียนมา เขาจำได้ว่าพี่ชายให้เขาขี่คอไปขอขนมชาวบ้านในหมู่บ้านในเมืองหม่องดอว์ แต่ปัจจุบัน พี่น้องทั้ง 8 คนแยกย้ายกันอยู่ใน 4 ประเทศได้แก่ เมียนมา สหรัฐฯ อินเดีย และบังกลาเทศ
ร็อบบีต้องไปอยู่ใที่ค่ายผู้ลี้ภัยในค็อกซ์บาซาร์ของบังกลาเทศพร้อมกับน้องชายอีก 3 คน แต่เขาและน้องชายเข้าไปอยู่ในบังกลาเทศในฐานะผู้ลี้ภัย ไม่สามารถทำงานได้ และพวกเขาก็ไม่รู้อะไรเกี่ยวกับประเทศบังกลาเทศเลย แต่ในขณะเดียวกัน พวกเขาก็ไม่สามารถกลับไปเมียนมาได้
ด้านโมฮัมหมัด ราชิด คนแรกในครอบครัวที่พยายามหนีข้ามแม่น้ำนาฟและลงเรือไปกับเครือข่ายค้ามนุษย์ข้ามชาติ และไปขึ้นฝั่งที่ภาคใต้ของไทยและเดินเท้าต่อเข้าไปยังมาเลเซีย โดยหวังว่าจะไปหางานทำที่มาเลเซีย แต่ครอบครัวกลับไม่ได้ข่าวคราวของเขาอีกเลย จนกระทั่งปี 2015 เจ้าหน้าที่ไทยพบหลุมศพหมู่ชาวโรฮิงญาบริเวณชายแดนไทย-มาเลเซีย
แม้โมฮัมหมัดจะหายสาบสูญไปจากการลงเรือไปขึ้นฝั่งที่ไทย แต่อับดูร์ ราชิดก็เลือกที่จะหนีออกจากยะไข่ด้วยเส้นทางเดียวกันในปี 2014 แต่หลังจากที่เขาถูกคุมขังอยู่ที่สถานกักกันในไทยนานกว่า 3 ปี แต่เขาก็ได้รับโอกาสไปตั้งถิ่นฐานใหม่ในสหรัฐฯ เขากำลังเรียนภาษาอังกฤษและทำงานในโรงงานทำเค้ก และส่งเงินไปให้น้องๆ ในค่ายผู้ลี้ภัยในบังกลาเทศ
ด้านอับดุล กาซิม วัย 19 ปีถูกชาวพุทธทำร้ายอย่างหนักระหว่างที่ออกไปตกปลากับเพื่อน เขาจึงตัดสินใจหนีไปยังบังกลาเทศและเดินทางไปหาลุงที่อินเดีย ปัจจุบัน เขามีชีวิตที่สงบสุข แต่งงาน และทำงานเป็นช่างก่อสร้างในรัฐหรยาณา แต่แม้เขาจะอยู่อินเดีย เขาก็ไม่สามารถเดินทางไปเยี่ยมแม่และน้องชายในบังกลาเทศได้ เพราะไม่มีพาสปอร์ต
หลังเกิดเหตุรุนแรงในเดือนตุลาคม 2016 พ่อของพี่น้อง 8 คนถูกจับกุม ส่วนญาติอีกคนถูกซ้อมจนเสียชีวิต ครอบครัวชาวโรฮิงญาถูกสั่งให้อยู่แต่ในบ้าน แต่ฮามิด ฮุสเซน พี่ชายคนโตตัดสินใจฝ่าฝืนเคอร์ฟิวเพื่อไปตกปลา เพราะเสบียงอาหารในบ้านใกล้หมดแล้ว ทำให้เขาถูกทหารเมียนมาคุมขังในเรือนจำเมืองบูติต่อง
นับตั้งแต่ปี 1970 เมียนมาไม่ยอมรับว่าชาวโรฮิงญาเป็นพลเมืองที่มีสิทธิเสรีภาพตามรัฐธรรมนูญของเมียนมา แต่เป็นผู้อพยพที่มาจากบังกลาเทศ แม้ชาวโรฮิงญาจะอยู่ในรัฐยะไข่มาแล้วนับร้อยปี ทำให้พวกเขาไม่ได้รับการศึกษา ไม่สามารถไปรักษาตัวในโรงพยาบาล และไม่มีสิทธิเป็นเจ้าของที่ดิน
ความรุนแรงปะทุขึ้นอีกครั้งปี 2013 ที่มีการกล่าวหาว่าชาวโรฮิงญาข่มขืนและสังหารหญิงชาวพุทธ ทำให้สถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างชาวพุทธและชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ปะทุขึ้นมาตลอด และทวีความรุนแรงขึ้นเมื่อเดือนสิงหาคมปี 2017 ที่กองกำลังกู้ชาติโรฮิงญาอาระกัน (ARSA) ก่อเหตุโจมตีด้านตรวจของตำรวจและทหารในเมืองหม่องดอว์ กองทัพเมียนมาจึงตอบโต้ด้วยการปราบปรามชาวโรฮิงญาทั้งหมด จนมีชาวโรฮิงญาลี้ภัยออกนอกประเทศในรอบนี้มากกว่า 700,000 คน สหประชาชาติจึงกล่าวว่ากองทัพเมียนมาพยายามลบล้างเผ่าพันธุ์ชาวโรฮิงญา
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: