ไม่พบผลการค้นหา
คณะผู้พิพากษาศาลอาญาโลกลงมติว่าศาลมีอำนาจพิจารณาโทษเมียนมา ในข้อหาก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ เปิดหนทางให้มีการเริ่มกระบวนการสอบสวนเอาผิดผู้นำเมียนมาที่ใช้ความรุนแรงต่อชาวโรฮิงญา อัยการอ้าง แม้เมียนมาไม่ได้เป็นสมาชิกศาลโลก แต่บังกลาเทศเป็น

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 6 ก.ย.ที่ผ่านมา คณะผู้พิพากษาสามคนของศาลอาญาระหว่างประเทศ หรือไอซีซี ได้พิจารณาขอบเขตอำนาจการทำงานของศาลในกรณีเมียนมากับโรฮิงญา หลังจากนั้นได้มีคำสั่งว่า ศาลมีอำนาจที่จะสอบสวนทางการเมียนมาว่าได้ก่ออาชญากรรมกับมนุษยชาติหรือไม่ จากการใช้ความรุนแรงขับไล่โรฮิงญา

ก่อนหน้านี้หลายฝ่ายพยายามผลักดันให้มีการลงโทษเมียนมาเพราะใช้ความรุนแรงกับมุสลิมโรฮิงญาในรัฐยะไข่ ทางตะวันตกของเมียนมา โดยข้อหาที่มีการพูดถึงกัน มีทั้งข้อหาการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ (genocide) การกวาดล้างเผ่าพันธุ์ (ethnic cleansing) และการก่ออาชญากรรมกับมนุษยชาติ (crime against humanity)

นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ก่อนหน้านี้ คณะสอบสวนข้อเท็จจริงของสหประชาชาติ ออกรายงานเสนอให้ดำเนินการทางกฎหมายกับผู้นำทหารเมียนมาด้วยข้อหาฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ โดยเสนอชื่อนายทหารจำนวน 6 นาย รายงานคาดว่ามีโรฮิงญาที่เสียชีวิตในกระบวนการใช้ความรุนแรงเพื่อผลักดันพวกเขาออกจากประเทศไม่ต่ำกว่าหมื่นคน ส่วนที่หนีตายออกไปนั้นมีไม่ต่ำกว่า 700,000 คน ไปสมทบกับที่มีอยู่แล้วในค่ายในบังกลาเทศ

ใบแถลงข่าวของศาลอาญาโลกให้รายละเอียดว่า คณะผู้พิพากษาของศาลได้ลงมติกันด้วยคะแนนเสียงสองต่อหนึ่งสรุปว่า ศาลมีอำนาจในอันที่จะพิจารณาข้อกล่าวหาต่อเมียนมาในฐานะก่ออาชญากรรมต่อมนุษยชาติ การพิจารณาดังกล่าวเป็นไปตามคำร้องของอัยการที่เสนอว่า แม้เมียนมาไม่ได้เป็นสมาชิกของศาลโลก แต่ความผิดนี้ยังเกิดขึ้นเมื่อชาวโรฮิงญาจำนวนมากถูกผลักดันด้วยความรุนแรงจนต้องหนีตายเข้าสู่บังกลาเทศ และบังกลาเทศนั้นเป็นสมาชิกของศาล ทำให้ศาลมีอำนาจในอันที่จะพิจารณาได้ ทั้งนี้ เป็นไปตามมาตราที่ 119 ของธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ผู้พิพากษายังเห็นว่า นอกจากข้อหานี้แล้วยังอาจรวมการกระทำผิดอื่นๆ ที่เป็นการกระทำรุนแรงต่อชนกลุ่มน้อยนี้ได้อีกด้วย

ทหารเมียนมา-หมู่บ้านโรฮิงญา-Rohingya-ยะไข่.jpg

(ทหารเมียนมาตรึงกำลังรอบหมู่บ้านชาวโรฮิงญาในรัฐยะไข่ซึ่งถูกเผาทำลายหลังเหตุุรุนแรงเมื่อเดือน ส.ค.2560)

นิวยอร์กไทม์สรายงานว่า ปฏิกิริยาของนักวิชาการบางส่วนขานรับว่าเป็นการตัดสินใจที่ดี เพราะจะทำให้ศาลอาญาโลกมีส่วนในการคลี่คลายวิกฤตสำคัญของโลก ในขณะที่อีกด้านก็มีผู้เห็นว่า การตัดสินใจนี้จะมีส่วนผลักดันเมียนมาให้มีท่าทีอ่อนลง จากขณะนี้ที่ปฏิเสธไม่ยอมรับทุกอย่าง และไม่มีการดำเนินการใดๆ ในอันที่จะเอาผิดกับผู้ใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮิงญา

สื่อรายงานว่า การลงมติของคณะผู้พิพากษาจะเท่ากับเปิดหนทางให้อัยการสามารถเดินหน้าและรวบรวมหลักฐานเพื่อเตรียมการฟ้องร้องในข้อหาดังกล่าวได้ เดอะการ์เดียนรายงานว่า ถ้ายึดตามเวลาทำงานทั่วไปของศาลโลก คาดว่าศาลน่าจะใช้เวลาไม่ต่ำกว่า 5 ปี แต่ว่าศาลไม่อาจจะบังคับให้มีการนำตัวผู้ถูกกล่าวหาไปขึ้นศาลได้เพราะไม่มีกำลังตำรวจของตนเอง ส่วนการนำเรื่องนี้ไปพิจารณาในคณะมนตรีความมั่นคงสหประชาชาติก็ไม่มีโอกาสที่จะคืบหน้าเพราะจีนและรัสเซียซึ่งเป็นพันธมิตรของเมียนมาไม่สนับสนุน

ส่วนทางการเมียนมานั้นได้ปฏิเสธข้อกล่าวหาเรื่องใช้ความรุนแรงกับชาวโรฮิงญามาโดยตลอด เมื่อวันที่ 3 ก.ย.ที่ผ่านมา ศาลเมียนมายังได้ตัดสินลงโทษจำคุกนักข่าวรอยเตอร์สองคน คนละ 7 ปี เพราะเห็นว่าพยายามจะได้มาซึ่งข้อมูลลับของรัฐบาล ทั้งนี้ พวกเขากำลังรวบรวมข้อมูลเพื่อนำเสนอรายงานข่าวเรื่องการสังหารชาวโรฮิงญา 

ปัญหาใหญ่อีกประการหนึ่งที่ทำให้ในช่วงที่ผ่านมามีการถกเถียงกันในหลายเวทีเพื่อหาทางออก คือ เรื่องผู้ลี้ภัยโรฮิงญาที่รวมแล้วเชื่อว่ามีไม่ต่ำกว่า 1.2 ล้านคน ซึ่งขณะนี้อยู่ในค่ายในบังกลาเทศ และเป็นภาระใหญ่ในอันที่จะต้องดูแล แม้ว่าบังกลาเทศและเมียนมาจะมีข้อตกลงว่าจะส่งตัวกลับ แต่คณะผู้แทนของบังกลาเทศที่เดินทางไปเยือนเมียนมาเมื่อไม่นานมานี้ให้ข่าวว่า เมียนมายังไม่ได้เตรียมความพร้อมในอันท่ี่จะรับพวกเขากลับอย่างจริงจัง 

วาโลน จอซออู รอยเตอร์ส เมียนมา ยะไข่ โรฮิงญา

(ผู้สื่อข่าวรอยเตอร์ในเมียนมา 2 รายถูกตัดสินจำคุก 7 ปี เพราะถูกกล่าวหาว่าละเมิดข้อมูลลับของรัฐบาลเมียนมา)

ในการประชุมนักวิชาการในเอเชียจัดโดยเอเชียเซ็นเตอร์ในกรุงเทพฯ เมื่อ 24 ส.ค. ที่ผ่านมา เอ็ดเวิร์ด เบนสัน ผู้้ประสานงานอาวุโสของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) ประจำเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ระบุว่า ค่ายโรฮิงญาที่บังกลาเทศนี้เป็นค่ายผู้ลี้ภัยเดี่ยวที่ใหญ่มากที่สุดของโลกในเวลานี้ เขาชี้ว่าการแก้ปัญหาเรื่องผู้ลี้ภัยนี้ถือว่าเป็นความท้าทายของทั้งภูมิภาค และการหาทางออกนั้นจะต้องให้ครอบคลุมรอบด้าน แต่ในระยะกลางและระยะสั้นยูเอ็นเอชซีอาร์อยากเห็นพวกเขาพึ่งตัวเองให้ได้มากที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ ลดการที่จะต้องพึ่งพาความช่วยเหลือ เพิ่มความรู้สึกมีศักดิ์ศรีให้พวกเขา

เบนสันชี้ด้วยว่า ปัญหาโรฮิงญาเป็นประเด็นที่ซับซ้อนอย่างยิ่ง จนถึงขณะนี้เขารู้สึกว่าชะตากรรมของชาวโรฮิงญายังคงได้รับความเห็นอกเห็นใจจากชาวบังกลาเทศ ซึ่งอารมณ์ความรู้สึกนี้แตกต่างอย่างมากกับบรรยากาศในเมียนมา ความเห็นของเขาสอดรับกับความเห็นของนักวิชาการอีกหลายคนที่เห็นว่า ในการดำเนินการใดๆ รัฐบาลเมียนมามีข้อจำกัดที่มาจากความต้องการของทหารรวมทั้งเผชิญบรรยากาศการต่อต้านชาวโรฮิงญาในเมียนมาที่เป็นอุปสรรคด้วยอีกส่วนหนึ่ง

การหารือของนักวิชาการยังรวมไปถึงการพิจารณาข้อจำกัดขององค์กรระดับภูมิภาคอย่างเช่นอาเซียน ซึ่งในที่สุดแล้วมีเพียงอินโดนีเซียและมาเลเซียที่พยายามออกมากดดันเมียนมาให้หาทางแก้ปัญหา ซึ่งทั้งสองล้วนเป็นประเทศมุสลิม นักวิชาการบางรายเห็นว่าเรื่องนี้จะต้องรอให้เมียนมามีประชาธิปไตยอย่างเต็มรูปแบบเสียก่อน ส่วนแนวทางนั้น จะต้องปรับกรุงกฎหมายสัญชาติ เพื่อให้สัญชาติแก่ชาวโรฮิงญาในเมียนมาอีกครั้ง ทั้งจะต้องพยายามสร้างความไว้ใจเชื่อมั่นซึ่งกันและกันระหว่างคนกลุ่มต่างๆ ที่อาศัยในรัฐยะไข่ รวมทั้งกับคนที่อยู่ข้า���นอกหรือโดยทั่วไปด้วย

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: