ญี่ปุ่นถือเป็นหนึ่งในไม่กี่ประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ ที่อนุญาตให้มีการเปิดเผยข้อมูลสถิติการฆ่าตัวตายของประชาชนอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ โดยสำนักข่าว CNN รายงานว่า แม้ในสหรัฐอเมริกา ยังไม่มีการอัปเดตข้อมูลดังกล่าวอย่างเป็นประจำ ข้อมูลครั้งล่าสุดที่มีการเปิดเผยออกมาโดยหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของสหรัฐฯ คือเมื่อปี 2561 อย่างไรก็ตามข้อมูลสำคัญที่ถูกเปิดเผยออกมาครั้งนี้โดยทางการของญี่ปุ่นคาดว่าจะเป็นประโยชน์อย่างมากในการสร้างความตระหนักรู้ให้กับนานาชาติว่าวิกฤตโรคระบาดสร้างผลกระทบต่อสุขภาวทางจิตให้กับประชาชนมากเพียงใด แม้ว่าในญี่ปุ่นจะไม่มีการประกาศล็อกดาวน์ก็ตาม
แม้ก่อนหน้านี้อัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นจะเริ่มลดลงอย่างเห็นได้ชัดในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา โดยปีที่แล้วลดลงมาอยู่ที่ 20,000 ราย แต่ดูเหมือนว่าสถานการณ์โรคระบาดกลับส่งผลกระทบโดยตรงและทำให้อัตราการฆ่าตัวตายเริ่มสูงขึ้นอีกครั้ง
ข้อมูลจากกระทรวงสาธารณสุขและสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่นชี้ว่าในเดือน ต.ค. 2563 ที่ผ่านมาอัตราการเสียชีวิตของชาวญี่ปุ่นจากสาเหตุการฆ่าตัวตายสูงถึง 2,153 ราย เป็นจำนวนที่มากกว่าการเสียชีวิตของชาวญี่ปุ่นจากสาเหตุของโรคโควิด-19 ซึ่งมีผู้เสียชีวิตในเดือนเดียวกันที่ 2,087 ราย
จากสถิติยังพบด้วยว่า ในเดือน ต.ค.ที่ผ่านมา การฆ่าตัวตายของผู้หญิงญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นสูงมากราว 87% เมื่อเทียบกับเดือนเดียวกันของปีก่อนหน้า ขณะที่การฆ่าตัวตายของผู้ชายเพิ่มขึ้นเพียง 22% เท่านั้น ผู้เชี่ยวชาญชี้ว่า วิกฤตโรคระบาดอาจนำไปสู่ภาวะวิกฤตด้านสุขภาวะทางจิตที่รุนแรง การว่างงานครั้งใหญ่ของประชาชน การออกห่างจากสังคม และความตึงเครียดที่กำลังเป็นปัญหาหลักของประชากรทั่วโลก
องค์การอนามัยโลก หรือ WHO ชี้ ญี่ปุ่นต้องเผชิญกับการเป็นประเทศที่มีอัตราการฆ่าตัวตายสูงอย่างต่อเนื่อง ตามสถิติอัตราการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นสูงเป็นอันดับที่ 2 ของภูมิภาคแปซิฟิกตะวันตก ด้วยอัตรา 18.5 คน ต่อประชากร 100,000 คน เป็นรองเพียงแค่ประเทศเกาหลีใต้เท่านั้น ซึ่งการฆ่าตัวตายในญี่ปุ่นถือเป็นอัตราที่สูงเกือบเป็น 2 เท่าของค่าเฉลี่ยการฆ่าตัวตายของประชากรระดับโลกที่มีมีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 10.6 ต่อประชากร 100,000 คนเท่านั้น