CNA ระบุว่าเครือข่ายประชาชนสังเกตการณ์การเลือกตั้ง ซึ่งเป็นพันธมิตรขององค์กรพัฒนาเอกชน กล่าวว่า ทางองค์กรได้รับการร้องเรียนประมาณ 300 กรณี ระหว่างการลงคะแนนล่วงหน้าในวันอาทิตย์ที่ผ่านมา (7 พ.ค.) ซึ่งรวมถึงปัญหารายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้งที่หายไป การลงคะแนนผิดคน ความผิดพลาดของบัตรลงคะแนนทางไปรษณีย์ และรายชื่อผู้สมัครรับเลือกตั้งที่หน่วยเลือกตั้งไม่ครบถ้วน
CNA รายงานว่า ประเทศไทยจะมีการเลือกตั้งในวันที่ 14 พ.ค.ที่จะถึงนี้ ซึ่งอาจเป็นจุดจบของรัฐบาลอายุ 9 ปี ที่นำโดยหรือได้รับการสนับสนุนจากกองทัพ นับตั้งแต่มีการโค่นล้มรัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งในปี 2557 ซึ่งเป็นการรัฐประหารครั้งที่ 2 ในรอบไม่ถึง 8 ปีในประเทศไทย
กกต.เปิดเผยกับทาง CNA ว่า ทางหน่วยงานได้รับเรื่องร้องเรียน 92 กรณี และอยู่ระหว่างการสอบสวน โดยทางหน่วยงานสัญญาว่าจะไม่ทำผิดซ้ำอีกในวันเลือกตั้ง
CNA รายงานว่า การแข่งขันผ่านการเลือกตั้งของไทยในครั้งนี้ จะเป็นการเลือกพรรคร่วมรัฐบาล ที่มีความเกี่ยวข้องกับกองทัพและกลุ่มนิยมสถาบันฯ เพื่อต่อต้านขบวนการฝ่ายค้านที่ชนะการเลือกตั้งทุกครั้งในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา และถูกถอดถอนจากตำแหน่งถึง 3 ครั้ง ทั้งนี้ CNA ระบุว่าจากผลการสำรวจความคิดเห็นเมื่อสัปดาห์ที่แล้วแสดงให้เห็นว่าพรรคฝ่ายค้าน 2 พรรคหลักมีคะแนนนิยมนำอย่างมีนัยสำคัญ
ยิ่งชีพ อัชฌานนท์ ผู้จัดการโครงการอินเทอร์เน็ตเพื่อกฎหมายประชาชน หรือ iLaw ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มสังเกตการณ์การเลือกตั้ง กล่าวว่า ความผิดพลาดไม่ใช่เรื่องใหญ่ แต่แสดงถึงการขาดความเข้าใจหรือการฝึกอบรมจากเจ้าหน้าที่การเลือกตั้งบางคนในพื้นที่
“พวกเขาไม่เข้าใจระบบ จึงทำในสิ่งที่เข้าใจเท่านั้น” ยิ่งชีพกล่าว พร้อมระบุเสริมว่ามีการร้องเรียนจำนวนมากเกี่ยวกับปัญหาเดียวกัน "ผมคิดว่าในกรณีเหล่านี้ พวกเขากำลังทำผิดพลาดโดยสุจริต"
CNA รายงานอีกว่า แฮชแท็ก "มีกกต.ไว้ทำไม" ได้รับความนิยมอย่างกว้างขวางในประเทศไทยในวันจันทร์ (8 พ.ค.) โดยมีบัญชีผู้ใช้หลายแสนคนตั้งคำถาม ถึงความสามารถของ กกต.ในการส่งมอบผลลัพธ์ที่ยุติธรรมและแม่นยำในการเลือกตั้ง
CNA รายงานต่อไปว่า กกต.ไทยชุดปัจจุบัน ได้รับการคัดเลือกในปี 2561 โดยสถาบันที่แต่งตั้งโดยเผด็จการทหารไทย หลังการรัฐประหารในปี 2557 โดยอดีตผู้บัญชาการทหารบกอย่าง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ซึ่งมีอำนาจตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
CNA ระบุอีกว่า กกต.ไทยได้รับเสียงการวิพากษ์วิจารณ์อย่างรุนแรง ระหว่างการเลือกตั้งครั้งล่าสุดในปี 2562 ด้วยข้อกล่าวหาอย่างกว้างขวางว่า มีการยักย้ายถ่ายเทและประมาทเลินเล่อต่อการจัดการผลคะแนนการเลือกตั้ง หลังจากที่ประกาศผลอย่างเป็นทางการล่าช้ากว่า 1 เดือน และเปลี่ยนสูตรคำนวณสำหรับการให้ที่นั่ง ส.ส.แบบบัญชีรายชื่อ
อย่างไรก็ดี กกต.ปฏิเสธการกระทำผิดใดๆ และระบุว่าพวกเขาต้องใช้เวลาในการนับคะแนนใหม่อีกครั้ง การตัดสิทธิ์ผู้ได้รับการเลือกตั้ง และการจัดการเลือกตั้งใหม่
ที่มา: