ไม่พบผลการค้นหา
ตำรวจเมียนมาหลายนาย ปฏิเสธคำสั่งสังหารประชาชน ยอมทิ้งหน้าที่หนีข้ามแดนไปอินเดีย

รายงานพิเศษของรอยเตอร์ เปิดเผยว่า มีตำรวจเมียนมาจำนวนหลายนายปฏิเสธที่จะลั่นไกใส่ผู้ชุมนุม และขอหลบหนีข้ามแดนไปยังอินเดียเนื่องจากกลัวความผิดที่ขัดคำสั่งผู้บังคับบัญชา 

ทา เพ็ง หนึ่งในตำรวจเมียนมาที่หนีคำสั่งปราบประชาชน หนีมายังรัฐมิโซรัมของอินเดียเผยกับรอยเตอร์ว่า ตนได้รับคำสั่งจากเบื้องบนให้ยิงปราบปรามผู้ชุมนุม เมื่อวันที่ 27 ก.พ. ที่ผ่านมา ขณะปฏิบัติงานที่เมืองคัมป้าต (Khampat) เขตสะกาย ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศ ซึ่งอยู่ไม่ไกลจากชายแดนอินเดีย 

ผู้บังคับบัญชาสั่งเขาว่า "ให้ยิงผู้ชุมนุมจนกว่าจะตาย" แต่เขาปฏิเสธ จากนั้น 1 วัน เขาถูกเรียกตัวไปถามอีกว่าจะปฏิบัติตามคำสั่งดังกล่าวหรือไม่ เขายืนยันไม่ขอทำตามคำสั่ง กระทั่ง 1 มี.ค. ก็ลาออกจากการเป็นตำรวจ จำเป็นต้องละทิ้งครอบครัวทั้งภรรยาและลูก 3 คน หนีไปอินเดีย โดยเขาใช้เวลา 3 วันในการเดินทางเพื่อหลีกเลี่ยงการถูกจับกุม

เมียนมา ตำรวจ

"ผมไม่มีทางเลือก" ทา เพ็ง กล่าวในการให้สัมภาษณ์กับรอยเตอร์ผ่านล่าม พร้อมโชว์บัตรและรูปในชุดเครื่องแบบตำรวจเพื่อยืนยันตัวตน โดยเขาเผยว่าตลอดการเป็นตำรวจมา 9 ปี ตามกฎของตำรวจ จะต้องหยุดผู้ชุมนุมด้วยกระสุนยาง หรือยิงในต่ำกว่าที่ระดับเข่า แต่ตนได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาว่า "ยิงจนกว่าจะตาย" และในสถานีตำรวจที่เคยทำงาน มีตำรวจนายอื่นๆ กว่า 90% มีจุดยืนสนับสนุนผู้ชุมนุม แต่ไม่มีใครเป็นแกนนำต่อต้านคำสั่งผู้บังคับบัญชา นอกจากนี้ยังพบว่า ตั้งแต่เกิดการประท้วง มีชาวเมียนมาประมาณ 100 คน หลบหนีไปในอินเดีย ส่วนมากเป็นตำรวจกับครอบครัว

ทา เป็ง เผยอีกว่า มีเพื่อนตำรวจร่วมหน่วยเดียวกันอีก 6 นาย ที่ขอปฏิเสธคำสั่งปราบผู้ชุมนุมเมื่อ 27 ก.พ. แต่ไม่ได้เปิดเผยว่าเป็นใครบ้าง 

สอดคล้องกับรายงานของเจ้าหน้าที่ตำรวจรัฐมิโซรัมของอินเดีย ที่เผยเอกสารคำให้การของตำรวจเมียนมารายอื่น ที่ลี้ภัยข้ามแดนมา ระบุว่า "ท่ามกลางขบวนการอารยะขัดขืนกำลังถูกผลักดัน ประกอบกับการประท้วงต้านรัฐประหารตามสถานที่ต่างๆ เราได้รับคำสั่งให้ยิงพวกเขา สถานการณ์เช่นนี้ ผมไม่กล้าพอที่จะยิงประชาชน ซึ่งเคลื่อนไหวประท้วงอย่างสันติ" 

เจ้าหน้าที่อาวุโสของอินเดียระบุว่ามีผู้ลี้ภัยชาวเมียนมาราว 100 คน ซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำรวจและครอบครัว ได้อพยพข้ามแดนเข้าไปลี้ภัยในเขตจามปาย (Champhai) ของรัฐมิโซรัมซึ่งไม่ไกลจากชายแดนเมียนมา 

เช่นเดียวกับ ตำรวจอีกนายซึ่งระบุชื่อเพียงว่า 'หล่ายน์' วัย 23 ปี ผู้เคยเป็นตำรวจประจำเมืองมัณฑะเลย์ แต่ลี้ภัยมายังอินเดีย เผยว่า เขาก็ได้รับคำสั่งจากผู้บังคับบัญชาให้ยิงประชาชน แม้ไม่ได้เปิดเผยรายละเอียดของคำสั่งดังกล่าวว่าให้ปฏิบัติการต่อผู้ชุมนุมเมื่อใด แต่หล่ายน์ ได้ยืนยันตัวตนกับรอยเตอร์ด้วยบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่พร้อมรูปถ่าย

ตำรวจเมียนมา

"กองทัพกดดันให้ตำรวจซึ่งส่วนใหญ่เป็นตำรวจชั้นผู้น้อยต้องเผชิญหน้ากับประชาชน" หล่ายน์กล่าวว่า เขาถูกเบื้องบนตำหนิที่ไม่ปฏิบัติตามคำสั่ง โดยเขาได้ขอความช่วยเหลือจากกลุ่มนักเคลื่อนไหวที่ต่อต้านกองทัพทางออนไลน์ กระทั่งสามารถลี้ภัยมายังหมู่บ้านแห่งหนึ่งในเมืองมิโซรัมเมื่อ 6 มี.ค. 

รอยเตอร์ระบุว่า ผู้ลี้ภัยชาวเมียนมา ในเมืองจามปาย ได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายอินเดีย พวกเขาสามารถเดินทางในบริเวณนั้นได้อย่างเสรี แต่ยังถูกจำกัดห้ามออกนอกพื้นที่ อย่างไรก็ตาม สัปดาห์ก่อนทางการเมียนมาได้ส่งจดหมายหาเจ้าหน้าที่ผู้ดูแลชายแดนอินเดีย ให้สั่งตัวตำรวจที่ลี้ภัย 9 นาย กลับประเทศ แต่ตามกฎหมายอินเดีย การพิจารณาส่งตัวกลับเป็นอำนาจของรัฐบาลกลาง