ไม่พบผลการค้นหา
นักสิทธิแรงงานเผย คุณภาพชีวิตแรงงานต่างชาติในไทยดีขึ้นมากในช่วงหลายปีที่ผ่านมา สวนทางกับแรงงานต่างชาติในมาเลเซียที่เจอกับความยากลำบากยิ่งกว่า และมีปัญหาแรงงานฆ่าตัวตายสูง

'อานดี้ ฮอลล์' นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษซึ่งศึกษาข้อมูลด้านแรงงานในประเทศแถบเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ให้สัมภาษณ์ 'Free Malaysia Today' หรือ FMT สื่อของมาเลเซีย ระบุว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา คุณภาพชีวิตแรงงานต่างชาติในไทยได้รับการพัฒนาให้ดีขึ้นกว่าเดิมมาก ส่วนหนึ่งเป็นผลจากแรงกดดันจากนานาชาติที่มีต่อภาครัฐและเอกชนของไทย และกล่าวได้ว่าแรงงานต่างชาติในไทยได้รับการปฏิบัติที่ 'ดีกว่า' แรงงานต่างชาติในมาเลเซีย

ฮอลล์ระบุว่า ก่อนหน้านี้เขาเคยศึกษาวิจัยข้อมูลเกี่ยวกับแรงงานในประเทศไทย และคิดว่าคุณภาพชีวิตของแรงงานต่างชาติในไทยนั้นเข้าขั้น 'ย่ำแย่' แต่เมื่อเทียบกับกรณีของมาเลเซีย พบว่าแรงงานต่างชาติในไทยมีความเป็นอยู่ที่ดีกว่าแรงงานต่างชาติในมาเลเซียอยู่มาก 

ทั้งนี้ แรงงานต่างชาติที่อพยพไปทำงานในมาเลเซียส่วนใหญ่มาจากประเทศเนปาล เมียนมา และบังกลาเทศ แต่ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา พบว่าแรงงานเหล่านี้ 'ฆ่าตัวตาย' เพิ่มขึ้น ทั้งยังพบปัญหาแรงงานถูกเรียกเก็บค่านายหน้าและต้องจ่ายเงินสินบนแก่เจ้าหน้าที่ ทำให้แรงงานต่างชาติเหล่านี้เริ่มต้นทำงานในสภาพที่เป็นหนี้ ซ้ำเติมกับสภาพความเป็นอยู่ดั้งเดิมที่ยากจนและต้องดิ้นรนอยู่แล้ว 

นอกจากนี้ยังพบปัญหานายจ้างไม่จ่ายหรือค้างจ่ายค่าล่วงเวลา (โอที) แก่แรงงานต่างชาติจำนวนมาก โดยหลายคนเปิดเผยกับฮอลล์ว่าพวกเขาต้องทำงานถึงวันละ 12 ชั่วโมงติดต่อกันโดยแทบจะไม่มีวันหยุด บางรายต้องทำงานล่วงเวลาถึง 160 ชั่วโมงต่อเดือน ขณะที่สภาพที่พักอาศัยก็เข้าข่ายแออัดยัดเยียดและไม่มีสาธารณูปโภครองรับเพียงพอ ทำให้แรงงานหลายรายประสบภาวะกดดันและตึงเครียด นำไปสู่การฆ่าตัวตาย 

ข้อมูลของฮอลล์สอดคล้องกับรายงานขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) เมื่อปี 2559 ที่ระบุว่า แรงงานต่างชาติในมาเลเซียเสียชีวิตมากเป็นอันดับต้นๆ ของโลก และสาเหตุหลักมาจากการฆ่าตัวตาย ฮอลล์จึงระบุว่า รัฐบาลมาเลเซียควรเอาจริงเอาจังในการแก้ปัญหาเจ้าหน้าที่เรียกเก็บเงินสินบนแลกเปลี่ยนกับการอำนวยความสะดวกเรื่องการว่าจ้างแรงงาน และปัญหานายหน้าขูดรีดเงินค่าดำเนินการจากแรงงานต่างชาติ รวมถึงจะต้องผลักดันการแก้ไขเงื่อนไขของสัญญาจ้าง เพื่อให้แรงงานต่างชาติสามารถยุติสัญญาได้ในกรณีที่ได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมหรือถูกนายจ้างละเมิดสิทธิ

AFP-แรงงานในมาเลเซีย-ตึกระฟ้ามาเลเซีย.jpg
  • แรงงานต่างชาติในมาเลเซียส่วนใหญ่มาจากเนปาล เมียนมา และบังกลาเทศ

ก่อนหน้านี้ ฮอลล์เคยทำงานวิจัยและศึกษารวบรวมข้อมูลด้านสิทธิแรงงานในไทยอยู่นาน 12 ปี จนกระทั่งเขาถูกบริษัทผลไม้กระป๋องในไทยฟ้องร้องในข้อหาหมิ่นประมาท สืบเนื่องจากการแถลงรายงานคุณภาพชีวิตแรงงานต่างชาติซึ่งทำงานในภาคอุตสาหกรรมเกษตรของไทย รวมถึงโรงงานสับปะรดกระป๋องแห่งหนึ่ง ทำให้ฮอลล์ตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยในปี 2560 

เมื่อเดือน มี.ค.ปีที่แล้ว ศาลไทยได้ตัดสินว่าฮอลล์มีความผิดและต้องชดใช้ค่าเสียหายแก่บริษัทเอกชนที่เป็นผู้ฟ้องคดี แต่ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ รวมถึงองค์กรด้านสิทธิแรงงานจากฟินแลนด์ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างให้ฮอลล์ทำรายงานดังกล่าว ต่างยืนยันว่าการฟ้องร้องคดีเพื่อปิดปากนักสิทธิแรงงานอย่างฮอลล์เป็นเรื่องที่ 'ไม่ถูกต้อง' เพราะบริษัทดังกล่าวฟ้องร้องฮอลล์ แต่ไม่ได้ฟ้องร้ององค์กรด้านสิทธิฯ ซึ่งเป็นผู้ว่าจ้างฮอลล์อีกต่อหนึ่ง

นอกจากนี้ สำนักข่าวซินหัวของจีนรายงานเมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมาด้วยว่า ปัจจุบัน แรงงานเมียนมาเป็นกลไกสำคัญในการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมในแถบเอเชีย โดยแรงงานเมียนมากว่า 5 ล้านคนเดินทางไปทำงานต่างประเทศ และ 'ไทย' เป็นประเทศที่พึ่งพิงแรงงานจากเมียนมามากที่สุด คิดเป็นจำนวนกว่า 3 ล้านคน โดยเฉพาะภาคอุตสาหกรรมประมง และประชากรเมียนมาที่ทำงานด้านนี้ในไทยมักจะอพยพไปจากรัฐมอญหรือรัฐกะเหรี่ยง

ส่วนประเทศอื่นๆ ที่แรงงานเมียนมานิยมไปทำงานมากเป็นอันดับ 2-5 รองจากไทย ได้แก่ มาเลเซีย สิงคโปร์ จีน และสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ (ยูเออี)

ที่มา: FMT/ Xinhua

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: