ไม่พบผลการค้นหา
คณะผู้เชี่ยวชาญสหประชาชาติสรุปผลสังเกตการณ์ด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในไทย พร้อมแนะให้รัฐบาลแก้ไข กม. ปรับทัศนคติ จนท.-กลุ่มธุรกิจ ให้ตระหนักและเคารพสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ โดยชี้ว่า การแก้ปัญหาละเมิดสิทธิมีความคืบหน้า แต่ค่อนข้างล่าช้า

ดันเต เพซ รองประธานคณะทำงานว่าด้วยธุรกิจกับสิทธิมนุษยชน (UNHRSP) แถลงข่าวที่สมาคมผู้สื่อข่าวต่างประเทศแห่งประเทศไทย (FCCT) วันนี้ (4 เม.ย.) เพื่อเปิดเผยรายละเอียดผลสังเกตการณ์และข้อเสนอแนะของ UNHRSP ที่เกี่ยวกับประเด็นธุรกิจและสิทธิมนุษยชนในประเทศไทยให้แก่รัฐบาล รวมถึงหน่วยงานและภาคส่วนธุรกิจที่เกี่ยวข้อง หลังจากคณะทำงานเดินทางลงพื้นที่ร่วมกับเจ้าหน้าที่รัฐเพื่อพบตัวแทนธุรกิจเอกชนและองค์กรเอ็นจีโอต่างๆ 

เพซ ระบุว่า การดำเนินงานเก็บข้อมูลในพื้นที่ต่างๆ ได้รับความร่วมมือจากรัฐบาลไทยเป็นอย่างดี และมีความยินดีอย่างยิ่งที่รัฐบาลไทยจะระบุให้สิทธิมนุษยชนเป็นวาระแห่งชาติตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 แต่ก็ยังมีเรื่องอีกมากที่ต้องดำเนินการให้บรรลุถึงเป้าหมายเรื่องสิทธิมนุษยชน 

"เราได้รับการสนับสนุนและความร่วมมืออย่างดีจากรัฐบาลไทย แต่การตัดสินใจที่จะเสนอรายงานครั้งสุดท้ายเป็นของคณะทำงาน ซึ่งรายงานอาจจะไม่สมบูรณ์แบบ แต่ก็คาดว่าจะเป็นประโยชน์และนำไปสู่หนทางแก้ปัญหาร่วมกัน"

เพซย้ำว่าธุรกิจขนาดใหญ่ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมประมง ซึ่งเชื่อมโยงกับการส่งออกและกลุ่มทุนในต่างประเทศ เป็นกลุ่มที่มีความเคลื่อนไหวด้านการแก้ปัญหาละเมิดสิทธิมนุษยชนมากที่สุด เพราะรู้ดีว่าทุกอย่างส่งผลกระทบถึงกัน หากมีการละเมิดสิทธิแรงงานอาจส่งผลให้เกิดการต่อต้านหรือคว่ำบาตร

อย่างไรก็ตาม คณะทำงาน UNHRSP ยังพบข้อจำกัดและอุปสรรคในไทยที่ทำให้ไม่สามารถผลักดันประเด็นธุรกิจกับสิทธิมนุษยชนให้มีความสมดุล ยั่งยืน และสอดคล้องกับมาตรฐานสากลได้อย่างเต็มที่ เช่น ไทยยังไม่ได้ให้สัตยาบันเป็นภาคีอนุสัญญาว่าด้วยการคุ้มครองสิทธิของแรงงานโยกย้ายถิ่นฐานและสมาชิกในครอบครัว ชาวต่างชาติไม่สามารถเข้าร่วมสหภาพแรงงานได้ 

ต้องยกเลิกการฟ้องร้องเพื่อปิดปากนักสิทธิฯ (SLAP case)

สุริยา เดวา ผู้เชี่ยวชาญอีกคนหนึ่งของ UNHRSP ซึ่งร่วมแถลงข่าวในวันนี้ด้วยระบุว่า ปัญหาด้านสิทธิมนุษยชนที่สำคัญอีกประการหนึ่งในแวดวงธุรกิจไทย ได้แก่ การใช้กฎหมายหมิ่นประมาทฟ้องร้องนักปกป้องสิทธิในด้านต่างๆ โดยยกตัวอย่าง 'อานดี้ ฮอลล์' นักวิจัยด้านสิทธิแรงงานชาวอังกฤษ ถูกโรงงานผลิตผลไม้กระป๋องของไทยฟ้องร้องทั้งคดีอาญาและคดีแพ่ง จากการที่ฮอลล์จัดทำรายงานด้านการละเมิดสิทธิแรงงานต่างชาติเมื่อปี 2559

นอกจากนี้ยังมีการฟ้องร้องทางคดีเพื่อปิดปากนักปกป้องสิทธิชุมชนและสิ่งแวดล้อมอีกหลายกรณีช่วงหลายปีที่ผ่านมา หรือที่เรียกว่า SLAP Case โดยรวมถึงกรณีแกนนำกลุ่มต้านโรงไฟฟ้าถ่านหินสงขลา-กระบี่ ถูกเจ้าหน้าที่รัฐฟ้องร้องจากการชุมนุมเรียกร้องให้รัฐบาลรับฟังข้อเสนอของชาวบ้านในพื้นที่

อีกประเด็นหนึ่งที่ต้องแก้ไข คือ การเพิกเฉยต่อแรงงานในอุตสาหกรรมทางเพศ เพราะถึงแม้ว่าการค้าประเวณีจะเป็นสิ่งผิดกฎหมายในประเทศไทย แต่การค้าประเวณีก็ยังเป็นธุรกิจที่เกิดขึ้นอย่างแพร่หลายทั่วประเทศ แต่สถานะทางกฎหมายที่ไม่ชัดเจนส่งผลให้ผู้หญิงหรือผู้ค้าบริการทางเพศจำนวนมากถูกละเมิดสิทธิและถูกเลือกปฏิบัติ ไม่ได้รับความคุ้มครองด้านแรงงาน และคณะทำงานเสนอให้รัฐบาลไทยทบทวนแก้ไขกฎหมายให้ครอบคลุมและคุ้มครองผู้ค้าบริการทางเพศไม่ให้ถูกล่วงละเมิดหรือเอารัดเอาเปรียบจากผู้ประกอบธุรกิจเหล่านี้

"สิ่งสำคัญในการแก้ไขหรือป้องกันการละเมิดสิทธิแรงงานในด้านต่างๆ คือ รัฐบาลจะต้องรับฟังปัญหาจากระดับล่างสู่ระดับบน ซึ่งก็คือการสะท้อนสภาพที่เกิดขึ้นจริงในแวดวงแรงงาน"

ผู้สื่อข่าวที่เข้าร่วมฟังแถลงของ UNHRSP สอบถามเพิ่มเติมกรณีที่มีข้อพิพาทระหว่างแรงงานและบริษัทต่างๆ ในประเทศไทย เช่น สหภาพแรงงานของบริษัทเจเนอรัล มอเตอร์สฯ หรือจีเอ็มฯ ในจังหวัดระยอง ยื่นร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติในประเทศไทย เนื่องจากจีเอ็มฯ มีคำสั่งปิดงานรายบุคคลนาน 5 ปี ซึ่งอาจเป็นการปฏิบัติต่อพนักงานอย่างไม่เป็นธรรม ขณะที่เพซและเดวาตอบว่า ได้มีการคุยปัญหาเรื่องการเคลื่อนไหวของสหภาพแรงงานในประเทศไทยโดยรวม แต่ไม่ได้คุยเฉพาะเจาะจงถึงกรณีเจเนอรัลมอเตอร์ส และ UNHRSP ย้่ำว่าบริษัทจะต้องเคารพในสิทธิแรงงาน โดยรัฐบาลก็ต้องให้ความช่วยเหลือไกล่เกลี่ยเพื่อให้เกิดแนวทางที่เหมาะสมที่สุดต่อทุกฝ่าย

ส่วนกรณีละเมิดสิทธิแรงงานในอุตสาหกรรมประมง ทาง UNHRSP มีระบบติดตามตรวจสอบทุกภาคส่วน โดยร่วมมือกับองค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) และจะใช้ระบบสังเกตการณ์การทำงานของรัฐบาลไทยตลอดระยะเวลา 1 ปีต่อจากนี้ว่ามีความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาหรือไม่-อย่างไร และในเดือนมิถุนายนจะมีการเชิญตัวแทนรัฐบาลไทยไปพูดคุยกับคณะมนตรีด้านสิทธิมนุษยชนที่นครเจนีวาของสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งยอมรับว่าไทยยังต้องไปต่ออีกไกลเพื่อให้บรรลุเป้าหมายเรื่องการสร้างความสมดุลและเป็นธรรมด้านธุรกิจและสิทธิมนุษยชน

ธุรกิจไทยในต่างแดนก็ต้องถูกกำกับดูแลเช่นกัน

นอกจากนี้ยังมีการกล่าวถึงกลุ่มทุนไทยที่ไปลงทุนในต่างประเทศ ถือเป็นหน้าที่ของรัฐบาลไทยที่ต้องสอบสวนและกำกับดูแลไม่ให้เกิดการละเมิดสิทธิมนุษยชนในประเทศอื่นๆ โดยเฉพาะกรณีของประเทศเพื่อนบ้านในภูมิภาคซึ่งไม่ได้มีกฎหมายกำกับดูแลการลงทุนอย่างครอบคลุมเพียงพอ 

ส่วนกรณีที่มีการใช้กฎหมายหมิ่นประมาทปิดปากหรือฟ้องร้องนักต่อสู้เพื่อสิทธิมนุษยชนในไทย ต้องเป็นหน้าที่ของรัฐบาลในการแก้ไขหรือไกล่เกลี่ยเมื่อคดีเข้าสู่กระบวนการในชั้นศาลไปแล้ว แต่ถ้าเป็นไปได้ รัฐบาลจะต้องทบทวนแก้ไขกฎหมายให้สอดคล้องกับหลักสิทธิมนุษยชน โดยกรณีของ 'อานดี้ ฮอลล์' เป็นภาพสะท้อนที่ชัดเจนว่ารัฐบาลต้องแก้ไขการบังคับใช้กฎหมายฟ้องร้อง เพื่อไม่ให้เกิดกรณีแบบนี้ขึ้นอีก

ทั้งนี้ คณะทำงานว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและบรรษัทข้ามชาติและกิจการธุรกิจอื่นๆ หรือ UNHRSP ก่อตั้งขึ้นโดยคณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติเมื่อเดือน มิ.ย. 2554 ปัจจุบันมีสมาชิกหลัก 5 คน คือ ไมเคิล แอดโด, ดันเต เพซ, สุริยา เดวา, แอนิตา รามาศัสตรี และพาเวล สุลยันด์ซิกา

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: