ไม่พบผลการค้นหา
ผู้เชี่ยวชาญด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติร่วมแถลงประณามการดำเนินคดีอาญา 'อานดี้ ฮอลล์' นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษ เข้าข่ายใช้ กม.ปิดปากผู้ตีแผ่การละเมิดสิทธิมนุษยชน พร้อมเรียกร้องไทยทำให้ข้อหาหมิ่นประมาทไม่เป็นคดีอาญา

คณะผู้เชี่ยวชาญของสำนักงานข้าหลวงใหญ่ด้านสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ (UNCHR) ได้แก่ มิเชล ฟอร์สต์, เคลมงต์ ยาเลต์ซอสซี วูเล, เฟลิเป กอนซาเลส โมราเลส, เออร์มิลา บูลา, มาเรีย กราเซีย กียัมมารินาโร, แอนิตา รามาซัสตรี ออกแถลงการณ์ลงวันที่ 17 พ.ค. ประณามกรณีศาลไทยอนุมัติออกหมายจับและดำเนินคดีกับอานดี้ ฮอลล์ นักสิทธิแรงงานชาวอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้จัดทำงานวิจัยด้านสิทธิแรงงานในแวดวงอุตสาหกรรมไทย

เนื้อหาในแถลงการณ์ระบุว่าคณะผู้เชี่ยวชาญฯ กังวลกับการใช้กฎหมายอาญาเพื่อดำเนินคดีแก่นักต่อสู้เพื่อสิทธิในด้านต่างๆ รวมถึงกรณีอานดี้ ฮอลล์ และคณะผู้เชี่ยวชาญขอเรียกร้องทางการไทยไม่ใช้ข้อหาหมิ่นประมาทเป็นคดีอาญา เพื่อไม่ให้บริษัทเอกชนใช้ข้อกล่าวหาดังกล่าวในทางที่ผิด

คณะผู้เชี่ยวชาญกล่าวด้วยว่าการดำเนินคดีกับอานดี้ ฮอลล์ อาจจะทำให้ธุรกิจแจ้งความกับนักปกป้องสิทธิมนุษยชน มากขึ้น ซึ่งจะมีผลกระทบกับการทำงานในการยืนหยัดเพื่อสิทธิมนุษยชน

แถลงการณ์ครั้งนี้ถูกเผยแพร่หลังจากที่ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาออกหมายจับอานดี้ ฮอลล์ เมื่อวันที่ 24 เม.ย. ที่ผ่านมา โดยให้เหตุผลว่าเขาไม่มาฟังคำพิพากษาศาลอุทธรณ์ ในคดีที่บริษัทเนเชอรัล ฟรุต ผู้ผลิตสัปปะรดกระป๋อง ฟ้องหมิ่นประมาท จากการที่ฮอลล์จัดทำวิจัยและรายงานเรื่อง Cheap Has a High Price เปิดโปงการละเมิดสิทธิแรงงานชาวต่างชาติในโรงงานผลไม้กระป๋องของประเทศไทยเมื่อปี 2555

ผลวิจัยดังกล่าวถูกเผยแพร่อย่างเป็นทางการในปี 2556 และอานดี้ ฮอลล์ ได้ให้สัมภาษณ์แก่สำนักข่าวอัลจาซีราของกาตาร์เกี่ยวกับเนื้อหาในรายงาน ทำให้บริษัท เนเชอรัล ฟรุต ดำเนินการฟ้องร้องอานดี้ ฮอลล์ ในข้อหาหมิ่นประมาทและกระทำผิด พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์

เมื่อวันที่ 20 ก.ย. 2559 ศาลอาญากรุงเทพใต้พิพากษาว่าอานดี้ ฮอลล์ มีความผิดฐานหมิ่นประมาท และความผิดตาม พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ฯ จากการให้สัมภาษณ์เกี่ยวกับผลวิจัยผ่านสื่อต่างชาติ รวมถึงนำบทสัมภาษณ์แรงงานข้ามชาติที่ทำงานกับบริษัทเนเชอรัล ฟรุต มาเผยแพร่ในอินเทอร์เน็ต และจัดแถลงข่าวเปิดตัวงานวิจัยในทำนองว่าทางบริษัทละเมิดสิทธิของแรงงานข้ามชาติ

เนื่องจากรายงานดังกล่าวถูกเผยแพร่ต่อสาธารณะผ่านงานเสวนาและอินเทอร์เน็ต ทำให้ศาลชั้นต้นพิพากษาจำคุกอานดี้ ฮอลล์ เป็นเวลา 3 ปีและปรับเป็นเงิน 150,000 บาท แต่โทษจำคุกให้รอลงอาญาไว้ 2 ปี

อานดี้ ฮอลล์ ตัดสินใจเดินทางออกจากประเทศไทยเมื่อเดือน พ.ย. 2559 หลังจากพำนักอยู่ในไทยและทำงานด้านสิทธิแรงงานนานกว่า 11 ปี

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: