ในการประชุมร่วมกันของรัฐสภา พิจารณาญัตติอภิปรายทั่วไปตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 165 สุทิน คลังแสง ประธานวิปฝ่ายค้านและ ส.ส.มหาสารคาม พรรคเพื่อไทย อภิปรายว่า การจาบจ้วงสถาบันไม่เคยเกิดมาในยุคอื่น แต่เกิดขึ้นมาในยุคนี้ ต้องถามกลับว่าตัวท่านเองทำตัวเป็นแนวร่วมเอาความจงรักภักดีไปชี้หน้าเขาหรือเปล่า เอาสถาบันมาเป็นต้นทุนตัวเองหรือเปล่า
การชุมนุมยกระดับขึ้นอีกเพราะว่าเลยกำหนดเวลาที่ม็อบกำหนดเงื่อนไขให้นายกรัฐมนตรี เพราะเลยป้าย วันนี้เราต้องใช้สติปัญญาอย่างประณีต ไม่ใช้อารมณ์ สิ่งที่ต้องปรับคือ คำว่า "ม็อบเด็ก" พอใช้คำว่าเด็กก็คิดว่าไร้สาระ เด็กมาก ถูกจูงจมูก เราต้องอย่าไปคิดว่าเป็นเด็ก เพราะอายุแกนนำก็เท่ากับเหตุการณ์ 14 ตุลา หรือ 6 ตุลา วันนี้ม็อบไม่ใช่แค่เด็ก แต่มีนักวิชาการ ทนายความ และอื่นๆ มาร่วมด้วย ต่อมาคือ ความคิดว่ามีคนอยู่เบื้องหลัง เพราะถ้าเชื่อว่ามีคนหนุนหลังก็จะคิดอีกแบบ อย่าไปเชื่อว่ามีต่างประเทศหนุนหลัง หลักฐานไม่มีอย่าไปกล่าวหา กระทบความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ อย่าไปพูดมั่วซั่วเขาเล่นงานเราตายนะ
ส่วน 8 ทางออกที่มีคนเสนอกันมา ถ้านายกรัฐมนตรีรับปากจะแก้รัฐธรรมนูญก็ยังพอได้บ้าง แต่ยังไม่พอ ต้องบอกว่าแก้อะไรบ้าง ต้องพูดให้ชัด ส่วนการตั้งกรรมการคนจะคิดว่าจะยื้อเวลาหรือเปล่า
แนวทางต่อมาคือ การลาออก บางคนบอกว่าจะทำลายหลักประชาธิปไตย หรือลาออกแล้วจะหาคนเป็นนายกฯ ไม่ได้ แก้ปัญหาได้จริงหรือไม่ แต่ตนคิดว่าลาออกสง่างามมาก ถ้าผิดพลาดก็ต้องลาออก โดยประเทศที่พัฒนาแล้ว แต่ยากที่จะเกิดในประเทศด้อยพัฒนา ทั้งที่การแต่งตั้งและถอดถอนเป็นสิทธิคู่กับของพลเมือง แล้วจะลาออกข้อหาอะไร
สุทิน กล่าวว่า การเป็นนายกรัฐมนตรีไม่ได้มีสัญญาจ้างเหมือนบริษัท ถ้าวันไหนที่ประชาชนคิดว่าไม่ดีก็ไล่ออกได้ หรือสภาก็อภิปรายไม่ไว้วางใจได้ เกิดจากความไว้วางใจกับความเชื่อมั่น ตอนนี้ประชาชนเห็นว่าบริหารมา 6 ปีเศรษฐกิจไม่ดี ไม่มีความไว้วางใจ และไม่เชื่อมั่นว่าจบมาอนาคตจะมีอะไร มีแต่หนี้เหลือไว้ให้เขา แค่นี้ประชาชนก็ชอบธรรมที่จะไล่ออก
ดังนั้น ถ้าถามว่านายกฯ ผิดอะไรก็ผิดสองตัวนี้ ส่วนจะออกหรือไม่ยังเป็นสิทธิของท่านอีกครึ่งหนึ่ง แล้วที่บอกว่าเป็นศูนย์รวมของปัญหาก็เพราะนายกฯ เป็นศูนย์รวมของทุกอย่าง ขึ้นอยู่ว่าจะแก้ปัญหาอะไร จะลาออกหรือไล่ออก ถ้าไม่ลาออกเขาก็ไล่ออก หรือจอมพลถนอม หรือ พล.อ.สุจินดา ก็เกิดเหตุการณ์ 14 ตุลา และพฤษภาทมิฬ ขณะที่ พล.อ.ชลวิต ยอมลาออกก็มีคนรับไม้ต่อ แต่ทั้งหมดเบื้องบนปลอดภัย ไม่มีอะไรด่างพร้อย
แต่วันนี้เหตุการณ์นั้นยังไม่เกิด วันนี้ข้างบนเกิดแล้ว เพราะไม่ผูกไว้กับปัญหา แต่ถ้านายกฯ ลาออกก็ยังไม่จบเพราะจะเรียกร้องให้ปฏิรูปสถาบันต่อ แต่อย่างน้อย 2 ข้อแรกก็ทำไปแล้ว เหลือแค่ข้อเดียว การแก้ปัญหาทีละเปราะ เอาปัญหาของท่านออกจากเบื้องบนก่อน แล้วค่อยมาแก้ปัญหาเบื้องบนมันจะง่าย ไม่ใช่ถวายเผือกร้อน
นายกฯ จะออกหรือไม่ออก ขึ้นอยู่กับว่าจะนำประเทศจบอย่างไร เมื่อวานนี้ (26 ต.ค.) เขาบอกชัดว่าถ้าสามวันไม่ออกจะยกระดับ ไม่ได้กลัว แต่ต้องใช้สติปัญญาอย่างประณีต พวกตนไม่มีทางจะทำอะไรนอกจากเดือนหน้าจะอภิปรายไม่ไว้วางใจอีก แต่ขึ้นอยู่ว่าท่านจะทำยังไง จะแก้รัฐธรรมนูญยังไง จะนองเลือดหรือไม่นองเลือด แต่จะเกิดอะไรขึ้นท่านและคนที่บอกไม่ให้ออกต้องรับผิดชอบ ตนขอภาวนาให้เกิดสิ่งที่ดีขึ้น
วันนี้นายกฯ ควรเลือกเถอะ ท่านคิดว่าท่านเสียสละ ปี 2557 บอกว่าประชาชนเป็นสองฝ่ายต้องยึดอำนาจ ตอนนี้วนกลับมาอีกแล้ว ถ้าท่านคิดจะจัดการแบบเดิมบทเรียนวันนี้สำคัญที่สุด วันนั้นเผด็จการสภาที่สร้างขึ้น จำได้เพราะคนเลือกมาเยอะ แต่วันนี้เผด็จการสภาไหม แต่คนไม่ได้เลือก 250 ท่าน วันนี้ท่านทำแบบวันนั้นก็เลยเหมือนวิกฤตแบบวันนั้น วันนี้ท่านเลือกมา ไม่ใช่ประชาชนเลือกมาเหมือนวันนั้น ถ้ามันมาถึงแล้วเลือกใช้วิธีแก้ปัญหาคนละแบบก็จบ เวลาพระเจ้าให้มา 24 ชั่วโมงเหมือนกัน แต่อยู่ที่ว่าใครใช้เป็นไม่เป็น เวลาจะไล่ล่าท่านเอง
'วิรัช' เสนอตั้ง กก.ปรองดอง ยืนยัน 'ประยุทธ์' ไม่ต้องลาออก
ด้าน วิรัช รัตนเศรษฐ ประธานวิปรัฐบาล และ ส.ส.นครราชสีมา พรรคพลังประชารัฐ อภิปรายสรุปว่า คนที่ไปเดินก็ฟังแต่มือถือ ฟังคำสั่งจากมือถือ ดูแต่มือถือ ต้องมีคนสั่งการมา เราจึงเห็นการชุมนุมที่เป็นรูปแบบใหม่ ส่วนการสลายการชุมนุม มีการเตือนผู้ชุมนุมว่าจะฉีดน้ำ และเวลาฉีดก็ฉีดขึ้นไปข้างบน ผู้ชุมนุมก็เฮ น้ำตกมาโดนร่มก็ร่มเป็นเหมือนเดิม น้ำก็เป็นความดันต่ำ
แต่ถ้าดูภาพเห็นทั้งคีมและค้อนไม่กระทำต่อเจ้าหน้าที่ มีการบอกว่ามีการใส่สีในน้ำที่ฉีด ตนไปถามว่าสีอะไร มีใครเข้าโรงพยาบาลหรือไม่ ผู้ชุมนุมมีรายเดียวที่เยื่อตาอักเสบ แต่เจ้าหน้าที่มีบาดเจ็บหลายราย โดนทั้งคีม ทั้งก้านร่ม แต่เจ้าหน้าที่เขาถือว่าผู้ชุมนุมคือลูกหลาน พยายามอดทนอดกลั้น
อย่างไรก็ตามความเห็นที่แตกแยกเกิดเป็นสงครามระหว่างวัย ความแตกแยกที่เกิดขึ้นโดยเฉพาะสถาบันครอบครัว จากความรักและความเข้าใจกลายเป็นความไม่เข้าใจ พ่อแม่อาจจะเป็นห่วงลูก แต่ลูกก็อาจจะมีความคิดเป็นตัวของตัวเอง หลายคนบอกว่าให้นายกฯ ลาออก แต่ตนมีความเห็นว่านายกฯ ไม่ต้องลาออก เพราะถ้าลาออกแล้วสภาเลือกนายกฯ คนเดิมกลับมาจะทำยังไง ที่ผ่านมานายกฯ ตั้งใจทำงาน เช่นเรื่องการควบคุมการระบาดของโควิด-19 จนมาเป็นอับดับต้นของโลก เป็นเหตุหลักที่ท่านสมควรอยู่ต่อ นายกฯ มาจากกระบวนการประชาธิปไตยที่ถูกต้องตามรัฐธรรมนูญ 2560 นายกฯ บอกว่าถอยมาแล้วหนึ่งก้าว ตนก็คิดว่าความจริงอาจจะถอยมาแล้วหลายก้าว
ทั้งนี้ วิรัช เห็นว่าควรตั้งกรรมาธิการปรองดองเหมือนปี 2552 ในสมัยชัย ชิดชอบ เป็นประธานสภา และทำอย่างไรว่ากรรมการชุดนี้จะสร้างความรักความปรองดองให้เกิดขึ้น ใกล้เคียงกับรูปแบบที่จุรินทร์ เป็นผู้เสนอ แต่ให้เพิ่มเรื่องแก้รัฐธรรมนูญเข้ามา ตนจึงขอตั้งคณะกรรมการปรองดอง