ไม่พบผลการค้นหา
รัฐบาลสหรัฐฯ ประกาศคว่ำบาตรบริษัท 2 แห่งในญี่ปุ่น เกี่ยวพันกับแก๊งยากูซ่า 'ยามากุชิ-กุมิ' ซึ่งมีประวัติเกี่ยวพันการค้ามนุษย์และฟอกเงินช่วยเหลือเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติ

กระทรวงการคลังของสหรัฐอเมริกาประกาศคว่ำบาตร บริษัท ยามากิ และ บริษัท โทโย ชินโย จิตสึเกียว ซึ่งเป็นธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ในเมืองโกเบ ทางใต้ของเกาะฮอนชูของญี่ปุ่น โดยระบุว่าทั้งสองบริษัท เกี่ยวข้องกับแก๊งยามากุชิ-กุมิ ซึ่งเป็นแก๊งยากูซ่ารายใหญ่ของญี่ปุ่น เนื่องจากทั้งสองบริษัทเป็นผู้จัดการบริหารที่ดินซึ่งเป็นที่ตั้งสำนักงานใหญ่ของแก๊งยามากุชิ-กุมิ ทั้งยังเป็นผู้ให้บริการในด้านต่างๆ แก่สมาชิกแก๊งยามากุชิ-กุมิ เช่น ที่พักอาศัย สนามกอล์ฟ และเป็นนายหน้าซื้อขายงานศิลปะ

รัฐบาลสหรัฐฯ ระบุว่าแก๊งยามากุชิ-กุมิ เกี่ยวข้องกับการฟอกเงินและการค้ามนุษย์ โดยเฉพาะธุรกิจค้าประเวณี ซึ่งเป็นเครือข่ายข้ามชาติ ทั้งยังรับหน้าที่ฟอกเงินให้แก่องค์กรอาชญากรรมในต่างประเทศ และอาจรวมถึงเครือข่ายก่อการร้าย จึงจำเป็นต้องคว่ำบาตรบริษัทที่เกี่ยวข้องกับแก๊งดังกล่าว

นิตยสารไฟแนนเชียลไทม์ส (FT) สื่อวิเคราะห์ธุรกิจ พยายามติดต่อไปยังบริษัทที่ถูกสหรัฐฯ คว่ำบาตรทั้งสองแห่ง แต่ไม่สามารถติดต่อไปยังผู้มีอำนาจรับผิดชอบได้ 

การประกาศคว่ำบาตรเครือข่ายอาชญากรข้ามชาติของรัฐบาลสหรัฐฯ เป็นการดำเนินงานต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี 2554 ซึ่งรัฐบาลอดีตประธานาธิบดีบารัก โอบามา ออกกฎหมายต่อต้านอาชญากรรมข้ามชาติ ขณะที่การคว่ำบาตร 2 บริษัทในญี่ปุ่น นำไปสู่การสอบสวนและจับกุมผู้เกี่ยวข้องกับบริษัทและแก๊งยามากุชิ-กุมิได้ 21 ราย

สมาชิกแก๊งยากูซ่าลดลง-แต่ประชาชนยังรู้สึกไม่ปลอดภัย

ข้อมูลสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติญี่ปุ่น ซึ่ง FT รายงานล่าสุด บ่งชี้ว่า สมาชิกแก๊งยากูซ่าทั่วประเทศญี่ปุ่นลดลงอย่างต่อเนื่อง โดยผลสำรวจครั้งล่าสุดเมื่อปีที่แล้ว พบว่าแก๊งยากูซ่าทั่วประเทศมีจำนวนสมาชิกประมาณ 34,500 ราย จากเดิมที่เคยมีสมาชิกประมาณ 80,000 คนเมื่อปี 2534 

เดวิด ซูซุกิ ที่ปรึกษาฝ่ายบริหารความเสี่ยงของบริษัท Blackpeak ในญี่ปุ่น ระบุว่า ในช่วงหลายปีที่ผ่านมา รัฐบาลญี่ปุ่นมีมาตรการเข้มงวดมากขึ้นในการสกัดและปราบปรามธุรกิจผิดกฎหมายของแก๊งยากูซ่าในประเทศ แต่คาดว่าจะไม่สามารถกำจัดธุรกิจผิดกฎหมายของแก๊งยากูซ่าให้หมดไปอย่างถอนรากถอนโคน เพราะธุรกิจบางอย่างมีความสำคัญต่อการจ้างงานของคนในท้องถิ่น หากปิดกิจการทั้งหมดย่อมส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจในระบบด้วย

ขณะเดียวกัน ประชาชนบางส่วนที่รู้สึกไม่ปลอดภัยและได้รับผลกระทบจากการดำรงอยู่ของแก๊งยากูซ่า ได้รวมตัวกันขอความคุ้มครองตามกฎหมายจากหน่วยงานรัฐบาล หลังเกิดเหตุปะทะนองเลือดระหว่าง 2 แก๊งยากูซ่าในเมืองโกเบเมื่อปีที่แล้ว ทำให้เครือข่ายประชาชนที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ใกล้เคียงสำนักงานใหญ่ของแก๊งยามากุชิ-กุมิ รวมตัวยื่นคำร้องต่อศาลให้ออกคำสั่งห้ามสมาชิกแก๊งยากูซ่าเข้าไปในพื้นที่พักอาศัยของประชาชนและห้ามติดตั้งสัญลักษณ์แก๊งยากูซ่าบนกำแพงอาคาร

ศาลญี่ปุ่นยอมรับคำร้องดังกล่าวของประชาชนในพื้นที่ พร้อมตัดสินว่าถ้าสมาชิกแก๊งไม่ทำตามคำสั่งศาลจะต้องจ่ายค่าปรับเป็นเงิน 1 ล้านเยนต่อวัน

ที่มา: Financial Times/ Japan Times

ข่าวที่เกี่ยวข้อง: