ภาพรอยสักของชายสูงวัยคนหนึ่ง ที่มีการแชร์กันในโลกออนไลน์เมื่อช่วงเดือนสิงหาคม ปี 2560 ที่ผ่านมา คงไม่มีใครคาดคิดว่าชายคนนี้ จะเกี่ยวโยงกับแก๊งยากูซ่า ที่ก่อคดีฆาตกรรมในประเทศญี่ปุ่นเมื่อ 15 ปีก่อน นำมาซึ่งการขยายผลเข้าจับกุมตัวที่ จ.ลพบุรี เมื่อวานนี้ (10 ม.ค. 2561)
ภาพจาก : เฟซบุ๊ก เทพฤทธิ์ อินทร์จันทร์
ชายสูงวัยคนนี้ ชื่อว่า นายชิเนฮารุ ชิราอิ อายุ 74 ปี สัญชาติญี่ปุ่น เป็นหัวหน้าแก๊งระดับกลางของแก๊ง "ยามากูชิ- กูมิ" หน่วยย่อยของแก๊งยากูซ่าอันดับ 1 ของประเทศญี่ปุ่น ได้หลบหนีเข้ามาซ่อนตัวอยู่ใน จ.ลพบุรี ตั้งแต่ปี 2548 หลังจากร่วมกับพวกอีก 7 คนก่อเหตุฆาตกรรม นายคาชีฮิโกะ โอโตเบะ รองหัวหน้าแก๊งคามิยะ แก๊งยยากูซ่าคู่อริ เมื่อปี 2546
เจ้าหน้่าที่ตำรวจภูธร จ.ลพบุรี ได้ขยายผลจับกุมตัวนายชิเนฮารุได้ที่บริเวณข้างศาลลูกศร ต.ท่าหิน อ.เมืองลพบุรี ในข้อหาเข้าในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต อยู่ในราชอาณาจักรโดยไม่ได้รับอนุญาต เป็นคนต่างด้าวไม่แจ้งที่พักอาศัยของตนต่อพนักงานเจ้าหน้าที่ ก่อนจะนำตัวส่ง สภ.ท่าหิน เพื่อดำเนินคดี และประสานงานสถานทูตญี่ปุ่นประจำประเทศไทย ดำเนินการต่อไป
เจ้าหน้าที่ตำรวจให้ข้อมูลว่า ตลอดเวลาที่นายชิเนฮารุกบดานอยู่ที่ประเทศไทย จะมีชาวญี่ปุ่นนำเงินมาส่งมอบให้เป็นประจำ ปีละ 2–3 ครั้ง ขณะนี้กำลังขยายผลต่อไปว่าบุคคลดังกล่าวเป็นใคร และมีเครือข่ายการกระทำผิดอยู่ในประเทศไทยหรือไม่ เพื่อดำเนินการต่อไป
สำหรับ ยากูซ่า หรือที่เรียกอีกอย่างว่า "โกคุโด" (Gokudo) เป็นชื่อของกลุ่มอาชญากรรมที่มีอิทธิพลในประเทศญี่ปุ่น โดยกลุ่มคนเหล่านี้อยู่เบื้องหลังธุรกิจผิดกฎหมายหลายอย่าง
ขณะที่ ทั่วประเทศญี่ปุ่นมีสมาชิกแก๊งยากูซ่าอยู่ราว 600,000 คน ส่วนแก๊งยากูซ่าที่มีสมาชิกมากสุดคือ ยามากูชิ กูมิ (Yamaguchi-gumi) มีสมาชิกอยู่ประมาณ 55,000 คน แต่แยกตัวกระจายไปกว่า 850 สาขา มีศูนย์บัญชาการอยู่ในเมืองโกเบ
ทุกแก๊งยากูซ่าจะมีหัวหน้าสูงสุดที่เรียกว่า "โอยะบุน" และรองลงมาเป็นลูกน้องคนสนิท เรื่อยลงไปจนถึงลูกน้องระดับล่างสุดที่เรียกว่า "โคะบุน" ส่วนการลงโทษสมาชิกภายในแก๊งมีทั้งหมด 7 ขั้นไล่จากหนักไปเบาคือ ตัดขาดออกจากกลุ่ม, ไล่ออกจากกลุ่ม, จ่ายค่าปรับ, ตัดนิ้ว, ลดตำแหน่ง, กักบริเวณ และตัดผม
การแต่งกายของยากุซ่าที่พบเห็นส่วนใหญ่คือ สวมแว่นตาดำ สูทสีดำ เทคไทสีฉูดฉาด และแต่งตัวด้วยเครื่องประดับราคาแพง และนิยมใช้รถยุโรป ต่างจากชาวญี่ปุ่นส่วนใหญ่ที่มักใช้รถยนต์ที่ผลิตในประเทศของตัวเอง แต่ช่วงหลังที่ทางการญี่ปุ่นปราบปรามหนัก การแต่งกายและการใช้รถของกลุ่มดังกล่าวจึงเปลี่ยนมาเป็นแบบปกติเหมือนคนทั่วไป
อีกสิ่งหนึ่งที่บ่งบอกถึงความเป็นสมาชิกแก๊งยากูซ่าคือ "รอยสัก" โดยรอยสักส่วนใหญ่ที่พบเห็นบนเรือนร่างสมาชิกแก๊งจะเป็นรูปสัตว์ประหลาด, ต้นไม้ และผู้คน ที่ให้ความหมายถึงความแข็งแกร่ง, กล้าหาญ, การปกป้อง, ความโชคดี ขึ้นอยู่ที่ความเชื่อของแต่ละคน รอยสักส่วนใหญ่ เช่น มังกร, ปลาคราฟ, นกฟีนิกซ์, เสือ, สิงโต, ปีศาจหรือหน้ากากปีศาจ และรูปคลื่นในทะเล
ณัฐพงศ์ ไชยวานิชย์ผล แฟนพันธุ์แท้ประเทศญี่ปุ่น ให้ข้อมูลว่า รอยสักของแก๊งยากูซ่าถือเป็น traditional ที่แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างจากบุคคลทั่วไป ลวยลายที่ปรากฎอยู่บนเรือนร่า��ของยากูซ่า ขึ้นอยู่กับความชอบของแต่ละคนที่มักสื่อความหมายแทนตัวเอง
ณัฐพงศ์ เล่าว่า แก๊งยากูซ่าในโกเบค่อนข้างได้รับความเคารพ เพราะคอยดูแลเมืองให้มีระเบียบ เรียบร้อย ไม่มีเด็กซ่า เหมือนเป็นอำนาจในเงามืด เหมือนนักเลงคุณธรรม อย่างไรก็ตาม มันมีภาพขัดแย้งกันอยู่ คือการทำธุรกิจผิดกฎหมายของยากูซ่านั้น ส่งผลกระทบต่อสังคมวงกว้าง จึงขึ้นอยู่ว่าจะเลือกมองมุมไหน
"ที่ผ่านมาแก๊งยากูซ่าพยายามสร้างภาพลักษณ์ที่ดี อย่างเหตุการณ์แผ่นดินไหวครั้งรุนแรงที่เมืองเซนไดและโกเบ มีการส่งสมาชิกไปช่วยเหลือผู้ประสบภัย เขาพยายามสร้างภาพดีๆ ให้คนในเมืองรัก" ณัฐพงศ์ กล่าว
สำหรับ ยากูซ่าที่เข้ามาอยู่ในประเทศไทยมีอยู่ 2 ลักษณะคือ ยากูซ่าที่ล้างมือจากวงการ หรือทำผิดแล้วถูกไล่ออกจากแก๊ง อีกลักษณะคือหนีคดีแล้วมาหลบหนีอยู่ในประเทศไทย โดยสาเหตุที่เลือกมาประเทศไทย เพราะมีช่องทางทำมาหากินได้ง่าย ไม่ลำบาก คนญี่ปุ่นอาศัยอยู่เยอะ
"พวกที่เข้ามาในประเทศไทยเป็นพวกที่ไม่มี Power แล้ว ไม่แน่ใจว่ามีบางส่วนที่เข้ามาเพื่อทำหน้าที่สาขา หรือทำหน้าที่ป้อนงานหรือเปล่า ดังนั้นเจ้าหน้าที่ควรมีฐานข้อมูลแชร์กับทางญี่ปุ่นให้มากขึ้น" ณัฐพงศ์ กล่าว