เมื่อวันที่ 6 พฤศจิกายน บิล เกตส์ ได้ให้สัมภาษณ์ในงานเสวนาการประชุมดีลบุ๊ก (DealBook Confernece) ประจำปี 2019 ซึ่งจัดโดยเดอะนิวยอร์กไทมส์ บนเวทีนี้ได้มีการถามความเห็นของเขาต่อกรณีโฆษณาการเมืองในโซเชียลด้วย
เกตส์ แสดงความคิดเห็นว่าปัญหาของโฆษณาการเมือง ไม่ใช่เรื่องการตรวจสอบความถูกต้องของข้อเท็จจริง แต่เป็นเรื่องการเลือกเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่จะเห็นโฆษณาการเมืองนั้นต่างหาก และในบริบทของโฆษณาการเมืองในโซเชียลมีเดียนั้น ไม่ควรมีการอนุญาตให้เลือกเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่จะเห็นคอนเทนต์ได้
อย่างไรก็ตาม เขาก็มองว่าแพลตฟอร์มโซเชียลเหล่านี้ไม่ควรเล่นบทตำรวจตรวจตราคอนเทนต์เหล่านี้เช่นกัน
"ผมไม่เห็นด้วยกับการเจาะจงกลุ่มเป้าหมาย แต่ก็ไม่เห็นด้วยกับผู้ที่คิดว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งควรทำหน้าที่ตรวจสอบข้อเท็จจริงกับเรื่องแบบนี้ แน่ล่ะมันย่อมมีกรณีสุดโต่งที่ใครสักคนที่มาพร้อมกับความคิดว่าการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ไม่เคยเกิดขึ้นจริงหรือเรื่องสุดโต่งอื่นๆ แต่ก็ไม่ควรมีบริษัทเอกชนบริษัทใดที่สามารถหรือควรทำหน้าที่ตัดสินอยู่ดี" บิล เกตส์ กล่าว
เขาขยายความต่อว่าปัญหาจริงๆ อยู่ที่การเจาะจงกลุ่มเป้าหมายที่เห็นโฆษณาการเมือง เพราะนั่นทำให้คนๆ หนึ่งไม่เห็นโฆษณาที่มีเนื้อหาเต็มไปด้วยความเกลียดชัง ขณะที่อีกคนหนึ่งกลับถูกดึงดูดให้เห็นเรื่องเหล่านั้น
"ตามความคิดผมแล้ว การเจาะจงกลุ่มเป้าหมายนี่แหละที่ทำให้ทุกอย่างเละเทะ" เกตส์ปิดท้ายคำถามนี้
ทั้งนี้ การเจาะจงกลุ่มเป้าหมายดังที่บิล เกตส์ชี้นั้นมีผลกระทบกว้างขวาง เช่น การเจาะจงยิงโฆษณาให้ข้อมูลผิดๆ กับฐานเสียงฝ่ายตรงข้าม ดังที่อเล็กซานเดรีย โอคาซิโอ คอร์เทซ ส.ส.พรรคเดโมแครต ได้สมมติเหตุการณ์ขึ้นเพื่อซักถามมาร์ก ซักเกอร์เบิร์ก ซึ่งเข้าให้การต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ในวันที่ 23 ตุลาคม
เนื่องจากจุดยืนของเฟซบุ๊กคือการไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหาโฆษณาการ ในคราวนั้น คอร์เทซ จึงได้สมมติถึงกรณีสุดโต่งต่างๆ โดยหนึ่งนั้นคือการยิงโฆษณาวันเลือกตั้งปลอมโดยเจาะจงให้กลุ่มคนผิวสีเท่านั้นที่เห็น เพื่อตัดฐานเสียงของคนกลุ่มนี้ไม่ให้ไปเลือกตั้ง
ในปัจจุบันนั้น นโยบายของเฟซบุ๊กปล่อยให้มีการโฆษณาการเมืองหลอกหลวงได้ และจะไม่มีการตรวจสอบข้อเท็จจริงด้วย โดยมองว่าประเด็นการเมืองนั้นเป็นที่ถูกจับจ้องอยู่แล้วผู้ใช้เฟซบุ๊กและสื่อควรเป็นผู้ใช้วิจารณญานตรวจสอบข้อเท็จจริงเอง เนื่องจากมีจุดยืนในระบอบประชาธิปไตยว่าบริษัทเอกชนไม่ควรทำหน้าที่เซนเซอร์นักการเมือง ผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งควรได้ใช้วิจารณญานและได้รู้ว่านักการเมืองคนใดใช้คำโกหกในการหาเสียง
สำหรับทางด้านทวิตเตอร์นั้น แจ็ก ดอร์ซีย์ ซีอีโอของทวิตเตอร์ประกาศว่าจะระงับโฆษณาการเมืองบนทวิตเตอร์ทั้งหมด ตั้งแต่วันที่ 22 พฤศจิกายนเป็นต้นไป โดยชี้ว่าการโฆษณาการเมืองที่มีเนื้อหาเป็นเท็จนั้น เป็นคนละเรื่องกับเสรีภาพในการแสดงออกตามระบอบประชาธิปไตย นักการเมืองสามารถแสดงความเห็นบนโซเชียลเน็ตเวิร์กได้ แต่ไม่ควรจ่ายเงินเพื่อโฆษณาจุดยืนทางการเมืองของตัวเองเพื่อยัดเยียดให้กลุ่มเป้าหมายใดมองเห็นได้
อย่างไรก็ตาม ยังเป็นที่กังขาว่าตามทิศทางมาตรการใหม่ของทวิตเตอร์นี้ คอนเทนต์หรือโฆษณาลักษณะใดจึงจะเรียกว่าเป็นโฆษณาการเมือง เช่น โฆษณาการรณรงค์แคมเปญสิ่งแวดล้อมเป็นการโฆษณาจุดยืนทางการเมืองหรือไม่ ทั้งนี้ ทวิตเตอร์ระบุว่าจะเผยนโยบายในเรื่องนี้อย่างเป็นทางการในวันที่ 15 พฤศจิกายน
ทั้งนี้ ในงานดีลบุ๊กที่บิล เกตส์ให้สัมภาษณ์ อีกเวทีหนึ่งในงาน ฮิลลารี คลินตัน คู่แข่งของโดนัลด์ ทรัมป์ ในการเลือกตั้งชิงตำแหน่งประธานาธิบดีสหรัฐฯ ปี 2016 ก็ได้ให้สัมภาษณ์ในประเด็นเดียวกัน โดยเธอเห็นด้วยกับทวิตเตอร์
"ฉันคิดว่าทวิตเตอร์ทำถูกแล้ว (...) เฟซบุ๊กเองก็ควรตัดสินใจแบบนี้" เธอกล่าวโดยกล่าวว่าการจะตัดสินข้อเท็จจริงทั้งหมดได้อย่างถูกต้องเป็นเรื่องยากมากและเป็นภาระอย่างยิ่ง ทวิตเตอร์จึงตัดสินใจถูกที่ไม่ได้เข้ามาเล่นในเกมการตัดสินความถูกต้องของข้อเท็จจริงนี้
"ฉันหวังว่าเฟซบุ๊กจะยุติโฆษณาการเมือง เนื่องจากในการหาเสียงปี 2016 เฟซบุ๊กรับโฆษณาจากหลากหลายแหล่งที่มา แล้วก็ได้มารู้กันภายหลังว่าจริงๆ แล้วมีการโฆษณาการเมืองบนเฟซบุ๊กที่โดยจ่ายด้วยเงินสกุลรูเบิล (สกุลเงินรัสเซีย) เพราะฉะนั้นพักไว้ก่อนเถอะ พวกเขายังไม่ต้องเลิกตอนนี้ก็ได้ หาวิธีการจัดการที่ดีกว่านี้มา ไม่อย่างนั้นก็อย่าทำไปเลย" คลินตันกล่าวอ้างว่ารัสเซียแทรกแซงการเลือกตั้งปี 2016 ในสหรัฐอเมริกา
ที่มา: CNBC / New York Times / CNN
ข่าวที่เกี่ยวข้อง: