ไม่พบผลการค้นหา
'เฟซบุ๊ก' ร่วมองค์กรพันธมิตร ปล่อยโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลเท็จ พร้อมยืนตามนโยบายหลักไม่ยุ่งกับเนื้อหาทางการเมือง-นักการเมือง

ในช่วงที่ผ่าน 'เฟซบุ๊ก' ถูกตั้งคำถามถึงการควบคุมดูแลการปล่อยข่าวปลอมบนแพลตฟอร์มของตนอย่างต่อเนื่อง แล้วมีผลกระทบตามมาทั้งในระดับบุคคลและในระดับประเทศ

ล่าสุดบริษัทแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียรายนี้ได้เปิดตัวโปรแกรมตรวจสอบข้อมูลเท็จโดยผู้ตรวจสอบภายนอก หรือที่มีชื่อว่า Thrid-Party Fact checking Program ซึ่งตอนนี้บังคับใช้ในหลายประเทศทั่วโลกแล้ว และมีผลบังคับใช้ในประเทศไทยวันที่ 17 ต.ค. 2562 นี้ 

ตรวจสอบเพื่อลดการเข้าถึง

'อันจาลี คาปูร์' ผู้อำนวยการฝ่ายพันธมิตรข่าวประจำภูมิภาเอเชียแปซิฟิค เฟซบุ๊ก กล่าวว่า โปรแกรมดังกล่าวเป็นอีกหนึ่งเครื่องมือลดการเข้าถึงข่าวปลอมที่จะทำให้เกิดความสับสนในสังคม

FACEBOOK

ระบบอัลกอริทึมและเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ของบริษัทจะตรวจสอบข้อมูลที่ถูกเปิดเป็นสาธารณะเท่านั้นเพื่อตรวจสอบหาความเสี่ยง หากพบความผิกปกติของข้อมูลระบบจะขึ้นการแจ้งเตือนไปยังผู้ใช้งานพร้อมขึ้นบทความที่ได้รับการตรวจสอบจากองค์กรภายนอกแล้วว่าถูกต้อง

บทความที่ถูกบ่งชี้ว่ามีข้อมูลไม่ถูกต้องจะถูกระบบอัลกอริทึมจัดการไม่ให้ผู้ใช้งานเข้าถึงได้ในจำนวนมาก โดยหากผู้ตีพิมพ์ผลงานต้องการแก้ไขข้อมูลให้ถูกต้อง จะต้องติดต่อกับองค์กรภายนอกที่เข้ามาตรวจสอบโดยตรง ไม่สามารถแก้ไขข้อมูลผ่านเฟซบุ๊กได้

สำหรับเพจเฟซบุ๊กที่แชร์ข้อความ ลิงค์ข่าว รูปภาพ หรือวิดีโอที่ถูกตรวจสอบว่าไม่ใช่ของจริงบ่อยครั้ง จะถูกแบนการเข้าถึง รวมถึงถูกห้ามไม่ให้ใช้ฟีเจอร์ของการสร้างรายได้และการโฆษณา 

การเมืองที่อยู่เหนือ 'กฎแห่งความจริง'

ในวงการสื่อต่างประเทศ ประเด็นที่เฟซบุ๊กถูกวิจารณ์อย่างหนักสำหรับโปรแกรมนี้คือเงื่อนไขที่เฟซบุ๊กจะไม่เข้าไปตรวจสอบข้อมูลข่าวสารที่ถูกปล่อยออกมาจากนักการเมือง ซึ่งเฟซบุ๊กอ้างว่าเป็นเพราะบริษัทไม่อยากเข้าไปมีส่วนร่วมในการเมือง

สำนักข่าว Insider รายงานความเห็นจาก 'อเล็กซ์ นิวเฮาส์' นักวิจัยด้านความสุดโต่งจากสถาบันการศึกษานานาชาติของมิดเดิลเบอรี ว่า "การปล่อยให้นักการเมืองมีอิทธิพลครอบงำจนสามารถโกหก ล้างสมอง และกระจายความเกลียดชังบนแพลตฟอร์มโซเชียลมีเดียที่ใหญ่ที่สุดของโลก ไม่ใช่แค่การกระทำที่ผิด แต่ถือเรื่องอันตรายรุนแรง และต่อต้านสังคมอย่างมหาศาล"


'อันจาลี' กล่าวว่า โปรแกรมการตรวจสอบในไทย ยังคงยึดแนวปฏิบัติดังกล่าวเช่นเดียวกัน ยกเว้นแต่กรณีที่สิ่งที่นักการเมืองเปิดเผยออกไปกลายเป็นข่าว เฟซบุ๊กถึงจะเข้าไปตรวจสอบเนื้อหาข่าวนั้น แต่จะไม่มีการตรวจสอบนักการเมืองในฐานะบุคคลอยู่ดี

นอกจากนี้ โปรแกรมดังกล่าวก็จะยังไม่เข้าไปมีส่วนร่วมการการตรวจสอบข้อมูลในเชิงอคติหรือเลือกฝ่ายมากนักเพราะยึดถือในเรื่องความเป็นอิสระในการออกความคิดเห็นส่วนบุคคล แต่จะมีการดำเนินการต่อเนื้อหาที่เกี่ยวข้องกับการกลั่นแกล้งทางวาจา (bully) อย่างชัดเจน