ไม่พบผลการค้นหา
ซีอีโอทวิตเตอร์ ประกาศผ่านทวิตเตอร์ว่าจะห้ามโฆษณาการเมืองทั้งหมดโดยมีผลภายในเดือนหน้า ชี้ไม่ใช่การปิดกั้นเสรีภาพในการแสดงออก ขณะที่เฟซบุ๊กยังยืนกรานยอมให้นักการเมืองโฆษณาเนื้อหาเท็จได้ และจะไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงเนื้อหาการเมือง

วันที่ 31 ตุลาคม แจ็ก ดอร์ซีย์ ซีอีโอทวิตเตอร์ ทวีตผ่านทวิตเตอร์ว่าจะระงับโฆษณาการเมืองทั้งหมดบนทวิตเตอร์ โดยมีข้อยกเว้นในไม่กี่กรณีเท่านั้น

ดอร์ซีย์ อธิบายว่าบนทวิตเตอร์ ผู้คนจะเห็นสารทางการเมืองเมื่อพวกเขาตัดสินใจกดติดตามหรือมีคนรีทวีตข้อความนั้นมา ทว่าการจ่ายเงินซื้อโฆษณาการเมืองนั้นจะทำให้ผู้คนเห็นข้อความเหล่านั้นแม้พวกเขาจะไม่ได้ตัดสินใจที่จะเลือกดูสารการเมืองนั้นเองก็ตาม และการตัดสินใจนี้ก็ไม่ควรจะถูกซื้อได้ด้วยเงิน

อีกทั้งโฆษณาทางการเมืองในอินเทอร์เน็ตนั้นเป็นความท้าทายอย่างยิ่ง ทั้งการเลือกยิงโฆษณาเฉพาะกลุ่มซึ่งเสริมแรงด้วยการใช้แมชชีนเลิร์นนิง การเผยแพร่ข้อมูลที่บิดเบือนและไม่ได้รับการตรวจสอบ รวมถึงดีปเฟคด้วย

"นี่ไม่ใช่เรื่องเสรีภาพในการแสดงออก มันเป็นการจ่ายเงินเพื่อให้คนมองเห็น และการจ่ายเงินเพื่อให้คนเห็นคำปราศรัยทางการเมืองมากขึ้นก็มีผลกระทบตามมาอย่างใหญ่หลวง ขนาดที่รากฐานประชาธิปไตยในปัจจุบันอาจยังไม่พร้อมจะรับไหว" ดอร์ซีย์ ทวีต

ซีอีโอทวิตเตอร์ ระบุว่าจะมีการเผยแพร่นโยบายที่เสร็จเรียบร้อยแล้วในวันที่ 15 พฤศจิกายน ซึ่งจะระบุถึงไม่กี่กรณีที่อนุญาตให้มีการโฆษณาการเมืองได้ เช่น การสนับสนุนให้คนไปลงทะเบียนผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้ง และนโยบายใหม่นี้จะมีผลบังคับใช้ในวันที่ 22 พฤศจิกายน

เฟซบุ๊กสวนทางทวิตเตอร์ ปล่อยเสรีคำโกหกนักการเมือง

จุดยืนของทวิตเตอร์ที่ประกาศออกมานี้ มาในจังหวะที่เฟซบุ๊กกำลังถูกวิพากษ์วิจารณ์เรื่องนโยบายที่เกี่ยวข้องกับโฆษณาทางการเมืองและข่าวปลอมอยู่ โดยเรื่องโฆษณาการเมืองนั้นถูกตั้งคำถามกันมากขึ้นเนื่องจากสหรัฐฯ จะเลือกตั้งประธานาธิบดีใหม่ในปีหน้า และความโปร่งใสของวิธีการหาเสียงผ่านโซเชียลยังคงเป็นที่กังขา

Donald Trump โดนัลด์ ทรัมป์

อย่างไรก็ตาม แม้จะถูกจับจ้องและวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนัก แต่ทางเฟซบุ๊กก็ได้เผยว่าในไตรมาสที่สามของปีนี้ มีผู้ใช้งานต่อเดือนเพิ่มขึ้น 2 เปอร์เซ็นต์เป็น 2.45 พันล้านรายทั่วโลก และซักเคอร์เบิร์กยังพยายามปฏิเสธว่าเหตุผลที่เฟซบุ๊กรับโฆษณาการเมืองโดยไม่จัดการกับข่าวปลอมนั้น เป็นเพราะต้องการเงินโดยกล่าวถึงการคาดการณ์ว่าโฆษณาการเมืองนั้นจะสร้างรายได้ให้เฟซบุ๊กได้ไม่ถึง 0.5 เปอร์เซ็นต์ของรายได้ทั้งหมด

ทางเว็บไซต์เทคครันช์ (Tech Crunch) ระบุว่าเฟซบุ๊กมีรายได้ราว 6.6 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 2 ล้านล้านบาท) ภายในช่วง 12 เดือนที่ผ่านมา โดยนับถึงสิ้นสุดไตรมาสที่ 3 นี้ จึงอาจประมาณได้ว่าเฟซบุ๊กอาจมีรายได้จากโฆษณาการเมืองราว 330-440 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ (ราว 9,950-13,270 ล้านบาท) ในปีหน้า

ทั้งนี้ จากการให้การต่อรัฐสภาสหรัฐฯ ของมาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ในวันที่ 23 ตุลาคม จุดยืนในปัจจุบันของเฟซบุ๊กยังคงเป็นการปล่อยให้นักการเมืองสามารถโกหกหรือโพสต์ข่าวปลอมบนแพลตฟอร์มของเฟซบุ๊กได้ โดยชี้ว่าเป็นเสรีภาพในการพูดซึ่งเป็นสิทธิขั้นพื้นฐาน และผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งก็ควรมีสิทธิได้เห็นว่านักการเมืองที่เขาอาจจะเลือกหรือไม่เลือกนั้นเป็นอย่างไร โกหกหรือไม่ โดยทางเฟซบุ๊กจะไม่ตรวจสอบข้อเท็จจริงของเนื้อหา เว้นแต่ในกรณีเฉพาะจริงๆ ซึ่งยังไม่ชัดเจนว่าเป็นกรณีลักษณะใดบ้าง

afp - mark zuckerberg - facebook

อีกด้านหนึ่ง ในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา พนักงานเฟซบุ๊กกว่า 250 คนจึงได้ลงนามในจดหมายเปิดผนึก เรียกร้องให้ซักเคอร์เบิร์กทบทวนถึงจุดยืนในการปล่อยให้นักการเมืองโกหกผ่านโฆษณาการเมืองได้

จดหมายดังกล่าวซึ่งเผยแพร่ผ่านเฟซบุ๊กเวิร์กเพลซ (Facebook Workplace) แพลตฟอร์มสื่อสารภายในวงการ ระบุในทิศทางเดียวกับจุดยืนของแจ็ก ดอร์ซีย์ว่าเสรีภายในการพูด เป็นคนละเรื่องกับเสรีภาพในการจ่ายเงินเพื่อให้คนเห็นคำพูดเหล่านั้น

"เราไม่เห็นด้วยกับนโยบายนี้อย่างยิ่ง มันไม่ใช่การคุ้มครองการแสดงออก แต่เป็นการปล่อยให้นักการเมืองใช้แพลตฟอร์มของเราเป็นอาวุธ ด้วยการมุ่งเป้าไปที่กลุ่มคนที่เชื่อว่าเนื้อหาที่โพสต์โดยนักการเมืองนั้นเชื่อถือได้แน่นอน" จดหมายดังกล่าวระบุ

พนักงานเฟซบุ๊กชี้ว่า การปล่อยให้เป็นเช่นนั้นจะทำให้บริษัทยิ่งไม่น่าเชื่อถือ และเป็นการสื่อสารออกไปว่าเฟซบุ๊กโอเคกับการหากำไรจากการปล่อยให้มีแคมเปญข่าวปลอมโดยนักการเมืองที่ต้องการโกหกเพื่อขึ้นสู่อำนาจ

ลองของเฟซบุ๊ก ลงเลือกตั้งเพื่อปล่อยข่าวเท็จ

วันที่ 28 ตุลาคม เอเดรียล แฮมป์ตัน ชายคนหนึ่งในเมืองซานฟรานซิสโก รัฐแคลิฟอร์เนีย ได้ลงสมัครรับเลือกตั้งผู้ว่าการรัฐแคลิฟอร์เนียที่จะมีขึ้นในปี 2022 โดยจุดประสงค์ของเขาไม่ใช่การเป็นผู้ว่าฯ แต่ต้องการท้าทายกฎของเฟซบุ๊กว่าจะโกหกในฐานะนักการเมืองได้แค่ไหน

เขาชี้ว่าจะใช้สถานะนักการเมืองที่ได้มา ในการปล่อยโฆษณาข่าวปลอมในเฟซบุ๊กเกี่ยวกับโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐฯ มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ซีอีโอเฟซบุ๊กเอง และผู้บริหารคนอื่นๆ ของเฟซบุ๊ก เพื่อท้าทายจุดยืนของเฟซบุ๊กและพยายามบีบให้เฟซบุ๊กเลิกปล่อยให้นักการเมืองซื้อโฆษณาข่าวปลอม

facebook

การเรียกร้องให้เฟซบุ๊กตรวจสอบข้อเท็จจริงของโพสต์การเมืองที่ซื้อโฆษณานั้น ส่วนหนึ่งมาจากการที่เฟซบุ๊กถูกมองว่าเอื้อให้ทรัมป์ ซึ่งขึ้นชื่อเรื่องการให้ข้อมูลผิดๆ ผ่านโซเชียลมีเดีย สามารถใช้ประโยชน์ในการเลือกตั้งที่จะมีขึ้นในปีหน้านี้ได้ โดยเมื่อต้นเดือน โจ ไบเดิน อดีตรองประธานาธิบดีในสมัยโอบามาจากพรรคเดโมแครต ได้ร้องเรียนถึงเฟซบุ๊กเรื่องที่ทรัมป์ใช้ข้อมูลเท็จกล่าวหาตัวเองผ่านวิดีโอโฆษณาเฟซบุ๊ก

ในคลิปหาเสียงยาว 30 วินาทีของโดนัลด์ ทรัมป์ ได้กล่าวหาไบเดิน ว่ามีการตกลงจะให้เงิน 1 พันล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หากเจ้าหน้าที่ในประเทศยูเครนเอื้อประโยชน์ให้กับการสอบสวนบริษัทที่ลูกของไบเดินมีส่วนเกี่ยวข้อง แม้ว่าจะไม่มีหลักฐานสนับสนุนข้อกล่าวหาดังกล่าว และมีการพิสูจน์จากองค์กรตรวจสอบข้อเท็จจริงไม่เลือกข้างหลายแห่งอย่าง แฟ็กต์เช็ก (Factcheck.org) แล้วก็ตาม

อย่างไรก็ตาม ทางเฟซบุ๊กปฏิเสธที่จะลบโฆษณาของทรัมป์ โดยชี้ว่าเฟซบุ๊กจะไม่ลบคลิปโฆษณาดังกล่าว เพราะสารทางการเมืองนั้นเป็นที่ถูกตรวจสอบและถกเถียงกันมากที่สุดอยู่แล้ว ดังนั้นเฟซบุ๊กจะไม่ส่งคำกล่าวหรือโฆษณาของนักการเมืองให้องคืกรบุคคลที่สามตรวจสอบข้อเท็จจริง

ที่มา: CNN / TechCrunch / NYTimes / Cnet