ปัญหาขยะพลาสติกทำลายสิ่งแวดล้อมเกิดขึ้นทั่วโลก และหลายภาคส่วนในประเทศไทยก็ร่วมกันรณรงค์เพื่อสร้างความตระหนักรู้และหาแนวทางแก้ไขปัญหาร่วมกันหลายโครงการ ซึ่งล่าสุด เครือข่ายภาคประชาสังคมและหน่วยงานรัฐในจังหวัดปัตตานี ก็ได้ร่วมกันจัดกิจกรรมในพื้นที่เพื่อสื่อสารเกี่ยวกับปัญหานี้เช่นกัน
ช่วงสุดสัปดาห์ที่ผ่านมา กลุ่มมลายูลิฟวิ่ง กรรมาธิการสถาปนิกทักษิณ เขตภาคใต้ตอนล่าง รวมถึงกลุ่มศิลปิน นักวิชาการ และองค์กรภาคประชาสังคมในจังหวัดชายแดนภาคใต้ ได้ร่วมกันจัดเทศกาล 'ถอดรหัสปัตตานี' หรือ Pattani Decoded (ปัตตานี ดีโค้ดเดด) ในย่านเมืองเก่าของปัตตานี ซึ่งได้แก่ถนนสายต่างๆ ที่อยู่ในโครงการ 'อา-รมย์-ดี' ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อสำรวจข้อมูลทำแผนที่ย่านเชิงอนุรักษ์ และในงานนี้มีกิจกรรมหลายอย่าง ทั้งนิทรรศการศิลปะชายแดนใต้ การแสดงดนตรี เปิดร้านขายผลิตภัณฑ์จากชุมชน รวมถึงการฉายแอนิเมชั่นรณรงค์ต่อต้านขยะพลาสติก ซึ่งถูกฉายจากจอโปรเจกเตอร์ขึ้นไปยังอาคารกำแพงเก่า
แอนิเมชั่นนี้แสดงให้เห็นตัวละครหลัก อย่างเช่น 'แพะ' ซึ่งเป็นสิ่งมีชีวิตที่พบเห็นได้ทั่วไปในปัตตานี และศิลปินกลุ่ม Pattani Lanflord (ปัตตานี แลนด์หลอด) ผู้สร้างผลงานชิ้นนี้ ก็ได้นำแพะมาเป็นองค์ประกอบหนึ่งของแอนิเมชั่นชิ้นนี้ด้วย ทำให้ผู้ชมงานแอนิเมชั่นได้เห็นแพะที่ต้องเดินฝ่าพายุถุงพลาสติก หรือแม้แต่แพะที่ลอยขึ้นฟ้าเพราะบอลลูนถุงพลาสติก ซึ่งนอกจากแพะแล้วก็ยังมีนกและวาฬที่ตกเป็นเหยื่อพลาสติกอีกด้วย
งานแอนิเมชั่นชิ้นนี้ ถือเป็นส่วนหนึ่งในโครงการ Light Graffiti ของกลุ่มศิลปินปัตตานี แลนด์หลอด ซึ่งพวกเขาได้พูดถึงแรงบันดาลใจในการสร้างงานชิ้นนี้เอาไว้ว่า เกิดจากการที่ศิลปินตื่นตัวเรื่องสิ่งแวดล้อม และต้องการตั้งคำถามกับการจัดการขยะและปัญหาขยะในพื้นที่ ซึ่งก่อนหน้านี้ทางกลุ่มก็เคยรณรงค์เชิงทดลองเกี่ยวกับ 'หลอดพลาสติก' มาก่อนแล้ว โดยเน้นการนำหลอดพลาสติกมารีไซเคิล จนกระทั่งค้นพบกับคำตอบว่า ที่จริงแล้วการรีไซเคิลหลอดพลาสติกก็มีต้นทุนที่ต้องจ่าย ทำให้ได้ข้อสรุปว่า การลดหรือเลิกใช้หลอดพลาสติกคือทางออกที่ดีกว่าในการจัดการปัญหาขยะหลอดพลาสติก
ส่วนโครงการล่าสุดที่ฉายในงานถอดรหัสปัตตานี เป็นการผสมผสานงานกราฟฟิตี้เข้ากับเทคโนโลยีมัลติมีเดีย เป็นกิจกรรมที่เปิดให้คนในปัตตานีทบทวนสถานการณ์เรื่องการจัดการขยะในพื้นที่ร่วมกัน ซึ่งเป็นความร่วมมือกันระหว่างกลุ่มปัตตานีแลนด์หลอด แอนด์ เฟรนด์
แม้เทศกาลจะจบลงไปแล้วด้วยดี แต่การรวมตัวกันทำงานของเครือข่ายศิลปินและผองเพื่อนในจังหวัดปัตตานี ไม่ได้จบลงแค่ในงานนี้เท่านั้น หลายคนยังทำงานที่ตัวเองถนัดต่อไปเพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการแก้ไขและหาแนวทางจัดการปัญหาขยะ โดยที่จะเน้นการนำลวดลายอัตลักษณ์พื้นถิ่นปัตตานีไปใช้ในการสร้างสื่อสมัยใหม่ หรือการออกแบบกราฟิกเพื่อรณรงค์ให้คนในพื้นที่ร่วมกันเสนอแนวทางจัดการปัญหาขยะที่เหมาะสมกับพื้นที่ในอนาคต