สถิติว่างงานในบราซิลพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นมา เศรษฐกิจชะลอตัวต่อมาอีกหลายปี ทำให้ประชาชนบราซิลก็ยังต้องดิ้นรนกันต่อไป ไม่เว้นแม้แต่ 'พ่อค้าหาบเร่' ที่ต้องทำทุกๆ ทางเพื่อดึงดูดลูกค้า
ตัวอย่างที่เห็นได้ชัดของชาวบราซิลที่ไม่ยอมแพ้ต่อสภาพเศรษฐกิจฝืดเคือง คือ 'ทาอัว เปาลิสตา' ชาวเมืองเซาเปาลู วัย 20 ปลายๆ ซึ่งเร่ขายน้ำดื่มและน้ำแร่ให้กับผู้ขับขี่บนท้องถนนในเมืองเซาเปาลู แต่สิ่งที่เป็นจุดเด่นของเขาก็คือเครื่องแต่งกายที่มีทั้ง 'เน็กไท' และ 'เสื้อกั๊ก' ไม่ต่างจากพนักงานเสิร์ฟในร้านอาหารหรูหรา และเขายังมีผ้าขาวติดตัวเอาไว้คอยเช็ดขวดน้ำให้แห้งก่อนจะส่งให้ลูกค้าด้วยทุกครั้ง
ทาอัวเล่าให้ฟังถึงจุดเริ่มต้นของการเป็นพ่อค้าหาบเร่ที่มีสไตล์อันโดดเด่นนี้ว่า มีที่มาตั้งแต่เกือบ 4 ปีก่อน แม่ของเขาล้มป่วยและไม่สามารถทำงานได้อีก ทาอัวกับพี่น้องคนอื่นๆ จึงต้องผลัดกันดูแลแม่พร้อมกับทำงานหารายได้เลี้ยงครอบครัว เขาเริ่มงานหาบเร่ขายน้ำ แต่พอทำไปสักพักก็ได้ยินเสียงบ่นจากลูกค้าที่เป็นคนขับแท็กซี่ว่า น้ำแช่เย็นที่ซื้อจากเขาทำให้เบาะรถเปียก เขาก็เลยเริ่มแต่งตัวแบบพนักงานเสิร์ฟในโรงแรม เพื่อที่จะได้พกผ้าเช็ดมือสีขาวติดตัวเอาไว้
ปรากฏว่าการแต่งตัวแบบนี้ และก็บริการเช็ดขวดน้ำก่อนจะส่งให้ลูกค้า ทำให้คนใช้รถใช้ถนนที่ผ่านสี่แยกที่เขาทำงานอยู่ จำเขาได้แม่น และก็มีคนเรียกซื้อน้ำจากเขาจนมีรายได้มากกว่าการทำงานเสิร์ฟในร้านอาหารหรูจริงๆ เสียอีก แต่เขาก็ยังต้องเสี่ยงกับเรื่องอื่นๆ อีกมาก เพราะการหาบเร่บนถนนที่มีรถจำนวนมากอย่างเมืองเซาเปาลู ก็มีโอกาสสูงที่จะถูกรถเฉี่ยวชนจนได้รับบาดเจ็บ และพวกเขาก็ไม่ได้มีประกันสังคมหรือสวัสดิการรักษาพยาบาลอะไร
ประเด็นสำคัญที่สุดก็คืออาชีพของเขานั้น ถือว่า 'ผิดกฎหมายจราจร' ถ้าเจ้าหน้าที่มาตรวจก็ต้องหนี ซึ่งเขาเข้าใจในการทำงานของเจ้าหน้าที่ แต่ก็ย้ำให้ฟังว่า "นี่คืออาชีพเดียวที่เขามีอยู่ในตอนนี้" และเจ้าหน้าที่ส่วนใหญ่ก็ยอมหลับตาข้างเดียวให้มีการขายของตามสี่แยกได้บ้าง
สิ่งที่เกิดขึ้นกับทาอัว สอดคล้องกับข้อมูลของสำนักข่าวบลูมเบิร์กที่รายงานว่า จำนวนผู้ว่างงานในบราซิลขณะนี้มีจำนวนกว่า 13.2 ล้านคน ส่วนคนอีกประมาณ 28.4 ล้านคน ต้องหันไปทำงานนอกระบบ หรือไม่ก็งานที่ได้รับค่าแรงต่ำกว่ามาตรฐาน รวมไปถึงการทำงานเกินเวลาที่กฎหมายกำหนด ทั้งหมดนี้เป็นเพราะว่าคนส่วนใหญ่ไม่มีทางเลือกมากนัก
นอกจากนี้ รัฐบาลชุดปัจจุบันยังมีแนวโน้มว่าจะตัดงบประมาณด้านสวัสดิการสังคมเพิ่มเติม และจะนำงบไปกระตุ้นด้านเศรษฐกิจและการลงทุนแทน โดยมองว่าบราซิลเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของ 'โออีซีดี' หรือ 'องค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ' แต่ก็มีผู้วิจารณ์ว่า นโยบายของรัฐบาลชุดนี้ มุ่งช่วยเหลือกลุ่มทุน เพราะหวังจะให้มีการจ้างงานมากขึ้น แต่คนที่มีรายได้น้อยตอนนี้ยังไม่มีนโยบายช่วยเหลือออกมามากนัก ซึ่งในแง่หนึ่งก็จะยิ่งส่งผลให้การบริโภคภายในประเทศอยู่ในสภาวะฝืดเคืองต่อไป เพราะคนจนที่เป็นคนส่วนใหญ่ของประเทศก็ไม่กล้าที่จะจับจ่ายใช้สอยอะไร